- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 10 June 2017 18:00
- Hits: 2561
รมว.คมนาคม เตรียมชง ครม.อนุมัติรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 6 สาย ช่วงครึ่งปีหลัง และรถไฟทางคู่ 3 เส้นทางภายใน 2 เดือน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า เตรียมเสนอ ครม. อนุมัติรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 6 สาย ในช่วงครึ่งปีหลัง และโครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง ภายใน 2 เดือน สั่งทุกหน่วยงานคุมเข้มมาตรฐานความปลอดภัยหลังเกิดอุบัติเหตุก่อสร้างถี่ เล็งเก็บประวัติผู้รับเหมา มีผลต่อการประมูลงานครั้งต่อไป
ในช่วงครึ่งปีหลังมีแผนจะนำเสนอเส้นทางส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ากรุงเทพและปริมณฑลในช่วงครึ่งปีหลังนี้ 6 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกส่วนต่อขยาย ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน,สายสีม่วงใต้ต่อขยาย เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ,สายสีน้ำเงินต่อขยาย บางแค-พุทธมณฑลสาย 4,สายสีเขียวต่อขยาย คูคต-ลำลูกกา และสมุทรปราการ-บางปู รวมถึง Airport Link เชื่อมต่อดอนเมือง
โครงข่ายรถไฟฟ้าย่อย ที่ภาคเอกชนนำเสนอ รถไฟฟ้าสายสีทอง และสายสีเงินเพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางให้สะดวกมากขึ้น เบื้องต้นคงยังไม่สามารถดำเนินการได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะต้องดำเนินการแผนแม่บท 1 ก่อนหน้านี้ให้แล้วเสร็จก่อน
ด้านรถไฟทางคู่ หลังจากปีก่อน ครม.อนุมัติไปแล้ว 5 เส้นทาง และอยู่ระหว่างจะเริ่มทยอยประกวดราคา โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนจะเสนอเพิ่ม 9 เส้นทาง ซึ่งเบื้องต้นจะเริ่มนำเสนอก่อน 3 เส้นทาง ภายใน 2 เดือนนี้ ได้แก่ เส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ,บ้านไผ่-นครพนม และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ในเรื่องการขนส่งสินค้า โดยปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศคิดเป็น 14% ของจีดีพี ซึ่งหากโครงข่ายรถไฟขยายมากขึ้นจะช่วยลดความเสียหายจากการขนส่งสินค้า และลดการจราจรที่หนาแน่นได้
ด้านโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบิน 3 แห่ง อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาคาดใช้ระยะเวลา 3 เดือน รวมถึงล่าสุดได้เจรจากับนักลงทุนญี่ปุ่น ต้องการให้ศึกษาเส้นทางรถไฟผ่านอยุธยา เพราะฐานการผลิตของญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ซึ่งจะนำไปพิจารณาศึกษาในระยะต่อไป
ในปี 62 คาดว่าจะเริ่มทยอยก่อสร้างทุกโครงการในแผนแม่บท 1 และจะเริ่มให้บริการช่วงปี 65-67 เป็นต้นไป
กรณีที่รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะใช้ ม.44 เพื่อเร่งรัดโครงการรถไฟ ไทย-จีน ขณะนี้ได้หารือกับ สนข. และการรถไฟ ให้ศึกษากระบวนการทำงานมีความรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งสภาวิศวกร และสถาปนิกให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมถึงมีการเรียกทางจีน เข้ามาร่วมเจรจาด้วย
ขณะนี้มีอุบัติเหตุเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น โดยเบื้องต้นได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง รฟม. และการทางพิเศษ ให้เข้มงวดเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งในระยะต่อไปจะทำประวัติผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ละบริษัท และอาจมีคะแนนมาตรฐานที่มีผลต่อการประมูลงานในครั้งต่อไป ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่มีความเป็นสากล
กระทรวงคมนาคมเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในการขนส่งและการเดินทาง ด้วยการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 และสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC)
ซึ่งการดำเนินโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะแล้วเสร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 5-8 ปี อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง และกรุงเทพ-หัวหิน โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 และโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพและปริมณฑล
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
รมว.คมนาคม เตรียมเสนอโครงการรถไฟ 3 เส้นทางให้ครม.พิจารณาในอีก 2 เดือน-รถไฟฟ้า 6 สายใน H2/60
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมนำโครงการรถไฟ จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 เดือน
พร้อมกับเตรียมนำโครงการรถไฟฟ้าอีก 6 เส้นทาง เข้าครม.ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ได้แก่ สายสีส้มฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน, สายสีม่วงส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ราษฏร์บูรณะ, สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4, สายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือ-ใต้ 2 เส้นทาง คือ ช่วงคูคต-ลำลูกา และช่วงสมุทรปราการ-บางปู และโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเชื่อมต่อท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง
โดยในปีนี้กระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าการนำเสนอโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางในกรุงเทพฯและปริมณฑลตามแผนแม่บท ฉบับที่ 1 จะสามารถทำได้ครบถ้วนภายในปีนี้ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำแผนแม่บท ฉบับที่ 2 ของโครงการรถไฟฟ้าที่เป็นโครงข่ายย่อยในเส้นทางกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายหลัก และเป็นการรองรับในช่วงที่เครือข่ายหลักมีปัญหาหรือเกิดเหุตขัดข้อง และช่วยให้การเชื่อมต่อสมบูรณ์ ประกอบกับมีเส้นทางที่หลากหลายให้ประชาชนได้เลือกใช้เดินทางเพิ่มขึ้น โดยในเบื้องต้นมีโครงการรถไฟฟ้า 2 สี ในแผนแม่บทฉบับที่ 2 คือ สายสีเงิน (ตลิ่งชัน-ชัยพฤกษ์) และสายสีทอง (กรุงธนบุรี-ประชาธิปก) ซึ่งจะส่งต่อไปให้รัฐบาลในชุดต่อไปเดินหน้าต่อ
ส่วนโครงการรถไฟไทย-จีน หลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้แนะให้ใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งการดำเนินงานของโครงการ ขณะนี้ความคืบหน้ายังอยู่ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หารือเกี่ยวกับแนวทางในการทำงานร่วมกัน รวมถึงเร่งให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเร่งรัดโครงการดังกล่าวร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาวิศวกร สภาสถาปนิก และฝ่ายจีน เข้ามาเจรจาและร่วมมือกันผลักดัน ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่งก่อนที่เได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
ด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าภายใน 3 เดือนจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่น และจะเพิ่มเติมเส้นทางไปเชื่อมต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะของพันธมิตรญี่ปุ่นที่มองเห็นโอกาส เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในฐานการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เป็นที่ตั้งโรงงานนอกเหนือจากพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด จึงทำให้เป็นโอกาสที่จะสามารถศึกษาต่อยอดโครงการเชื่อมต่อ 3 สนามบินได้ เพื่อให้มีการเชื่อมต่อที่ครอบคลุม และคาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาภายใน 3 เดือนเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่สำหรับการลงทุนระบบคมนาคมของภาครัฐ ไม่รวมการลงทุนที่อยู่ในงบประมาณประจำปี มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท โดยมีระยะเวลาลงทุนจำนวน 8 ปี ตั้งแต่ปี 58-65 ซึ่งกระทรวงคมนาคมคาดว่าภายในปี 62 จะเห็นการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆได้อย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการในช่วงปี 65-67 โดยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศไทยในครั้งนี้เป็นการกลับมาลงทุนอีกครั้งหลังจากปี 49 ที่ได้ลงทุนโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่
รมว.คมนาคม เชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนมีการลงทุนตามภาครัฐ อีกทั้งการลงทุนโครงการคมนาคมจะทำให้การเดินทางของประชาชนในประเทศสะดวกสบายมากขึ้นและใช้ระยะเวลาในการเดินทางที่น้อยลง ส่วนภาคการขนส่งจะมีตัวเลือกและรูปแบบในการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันการขนส่งของประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป๊นการขนส่งทางถนนเป็นหลัก และช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยในอนาคตลดลงต่ำกว่าปัจจุบันอยู่ที่ 14% ของจีดีพี
อินโฟเควสท์