- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 13 August 2014 23:53
- Hits: 4090
'สร้อยทิพย์'เดินหน้าผุดกรมขนส่งทางราง
ไทยโพสต์ : ราชดำเนิน * ปลัดคมนาคมดันตั้งกรมขนส่งทางราง เดินหน้าคู่ขนานแผนพัฒนารถไฟไทย ชี้มีความจำเป็นเร่งด่วน เข้ามากำกับดูแลแผนการเดินรถ พร้อมทั้งลงนามตั้งสมาคมการรถไฟกับ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า มีแนวคิดที่จะเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอจัดตั้งกรมขนส่งทางราง โดยมีหน้าที่ดูแลระบบรางทั้งหมด รวมถึงการดูแลการบริหารจัดการการเดินรถ ทั้งรถไฟและรถไฟฟ้า แต่ในด้านของการกำกับดูแลด้านราคา ความปลอดภัย และมาตรฐานการให้บริการจะต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานกลางเป็นผู้กำกับ
"การจัดตั้งกรมดังกล่าวนั้น เพื่อรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางรางที่ภาครัฐมีแผนที่จะลงทุนอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางนั้นจะนำโครงการรถไฟในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาอยู่ใต้ การกำกับดูแลของกรมดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีบทบาทในด้านการลงทุน ทั้งในส่วนของรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง บำรุงรักษาโครง สร้างพื้นฐาน ส่วนการบริหารจัด การจะให้การรถไฟฯ และ รฟม.ดูแล คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมได้" นางสร้อยทิพย์กล่าว
"มั่นใจว่าหน่วยงานดังกล่าวจะเดินหน้าคู่ขนานกับแผนพัฒนารถไฟไทย ซึ่งในเรื่องของกำลังคนของกรมไม่ใช่เรื่องอยาก เพราะความรู้ของนักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่ของเราจากกรม กรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท (ทช.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และสำนักแผนและนโยบายขนส่งและการจราจร (สนข.) ตั้งเป็นทีมขึ้นมาได้ เบื้องต้นต้องวางแผนเรื่องการกำกับดูแล และค่อยดูเรื่องการก่อสร้างหรือการจัดวางระบบ หลังจากนี้ต้องหารือกับการรถไฟฯ"นางสร้อยทิพย์กล่าว
นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงคมนาคมได้ลงนามกับประเทศเวียดนาม จัดตั้งสมาคมการรถไฟของลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน และพม่า เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเชื่อมต่อการขนส่งทางราง ระหว่างในลุ่มน้ำโขงที่จะเกิดความเชื่อมต่อสมบูรณ์ในปี 2020 นอกจากนี้เพื่อการขนส่งทั้งคนและสินค้าไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแต่ละประเทศจะหมุนเวียนเป็นประธาน โดยกัมพูชาจะเป็นประธานประเทศแรก
สำหรับ การทำงานระหว่าง 6 ประเทศจะเริ่มต้นด้วยประเทศที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร เช่น กัมพูชาจะเป็นประธานก่อนภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อทำงานร่วมกัน ส่วนงบประมาณกองทุนสมาชิกก็สมทบเข้ามาตามข้อตกลงกัน.