WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

DOHธานนทร สมบรณกรมทางหลวง สะพานข้ามแม่น้ำเมย 2 หนุนการค้า-เชื่อมโยงอาเซียน

       ไทยโพสต์ : เมื่อพูดถึง 'จังหวัดตาก'ถือได้ว่าเป็นเมืองชายแดนไทย-เมียนมา ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำเภอแม่สอด ซึ่งนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของไทยในการเชื่อมโยงระหว่างไทย-เมียนมา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ เนื่องจากเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ที่เชื่อมระหว่างเวียดนาม-ไทย-เมียนมา ปัจจุบันเป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ

      นอกจากนี้แล้ว อำเภอแม่สอดยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างไทย-เมียนมา เช่น สนามบินแม่สอด และสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งสินค้าจากอำเภอแม่สอดไปยังเมืองเมาะลำไย และกรุงย่างกุ้งของเมียนมาเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

     อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย Mr.Win Khaing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการก่อสร้างแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมเป็นประธานในพิธีเทคอนกรีต จุดเชื่อมต่อสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

     สำหรับ โครงการก่อสร้างถนนทางเลี่ยงเมืองแม่สอดและสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก กับ จ.เมียวดี (เมียนมา) ระยะทาง 21.40 กิโลเมตร งบประมาณวงเงินในการก่อสร้าง 3,900 ล้านบาท ขณะนี้มีความคืบหน้าไปได้มากแล้ว โดยจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายน 2560 นี้ และพร้อมเปิดใช้ในช่วงเดือนเมษายน 2561

      ส่วนรูปแบบก่อสร้างสะพานเป็นแบบคานยื่นสมดุล (Balance Cantilever) ความยาวช่วงกลาง 120 เมตร ความยาวที่ต่อจากช่วงกลางข้างละ 75 เมตร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร จำนวน 2 ช่องจราจร รวมความยาวของสะพาน 760 เมตร คาดว่าหลังเปิดใช้สะพานแห่งที่ 2 ปริมาณการจราจรจะเพิ่มขึ้น 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.2 หมื่นคันต่อวัน และมูลค่าการค้าจะสูงถึง 1 แสนล้านบาท

     นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)  กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจตามแนวชายแดน อีกทั้งยังลดปริมาณการแออัดของจำนวนรถบรรทุกขนส่งสินค้าที่มีมากขึ้นตามการขยายตัวของการค้าระหว่างแม่สอด-เมียวดี อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเชื่อมโยงอาเซียนผ่านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) โดยใช้ประโยชน์จากสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 1 และสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ร่วมกันอีกด้วย

     ปัจจุบันสะพานมิตรภาพไทย- เมียนมา แห่งที่ 1 เส้นทางแม่สอด-ริมเมย รถบรรทุกจอดรอพิธีการทางศุลกากรหนาแน่นมาก จึงมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการและเปิดใช้สะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 เป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อระบายรถบรรทุกสินค้า และจากนั้นรอที่จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อมีการดำเนินการก่อ สร้างที่ทำการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก (ด่านแม่สอด) ด่านศุลกากรแม่สอด (เพื่อทำพิธีการทางศุลกากร) และด่านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบราชการชายแดนระหว่าง 2 ประเทศ

     สำหรับ ความเป็นมา เมื่อปี 2559 กลุ่มชาติอาเซียนได้ผนึกกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ขณะเดียวกัน จ.ตาก ได้ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด) รองรับ ทำให้การค้าชายแดนแม่สอด-เมียว ดีคึกคักเป็นพิเศษ เศรษฐกิจทั้งสองประเทศเติบโตแบบก้าวกระโดด มีรถบรรทุกสินค้าข้ามแดนจำนวนนับหลายร้อยคันต่อวัน จากการเป็นประตูอาเซียนบนเส้นทางสายเศรษฐกิจสายตะวันออกตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) ทำให้ปริมาณการค้าและธุรกิจที่ต่อเนื่องเพิ่มปริมาณสูงขึ้นจนต้องมีโครงการขยายเมืองให้ใหญ่ขึ้นรองรับ AEC และระเบียงเศรษฐกิจ EWEC เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และบ้านพี่เมืองน้องแม่สอด-เมียวดี

    อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับเศรษฐกิจเติบโตไม่หยุด ทั้งไทยและเมียนมาเห็นพ้องต้องร่วมกันก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ที่บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จากวันที่เปิดใช้สะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 1 มา 20 ปี กับการก้าวสู่ปีที่ 1 ของสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 ในปี 2560 จะทำให้การค้า การท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องในพื้นที่มีความเจริญพัฒนาความก้าวหน้าในเศรษฐกิจแม่สอด-เมียวดี

     โดยสะพานแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2540 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 79.2 ล้านบาท โดยผลประโยชน์หลังจากสร้างสะพานแห่งนี้แล้วเสร็จ สร้างมูลค่าการค้าชายแดนและธุรกิจต่อเนื่องอย่างมหาศาลให้กับไทยและเมียนมาจนทุกวันนี้ ขณะเดียวกันความเจริญเติบโตทั้งด้านส่งออกและเศรษฐกิจก็ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนต้องมีการขยายโครงการสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเออีซี ซึ่งสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาจะสร้างมูลค่าชายแดนไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อปี

    สำหรับ โครงการสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ไม่เพียงสร้างขึ้นมาเพื่อสันติภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งสองประเทศเท่านั้น ทำให้เกิดการค้าชายแดนระหว่างประเทศ และยังทำให้ประชาชนทั้งสองฝั่งอยู่ดีกินดี มีความร่วมมือในการพัฒนาประเทศ และสนองนโยบายของสหประชาชาติที่ต้องการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในอาเซียน

     สำหรับ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งนี้มีความยาว 420 เมตร กว้าง 8 เมตร มี 2 ช่องทางจราจร และเมื่อเข้าสู่เออีซีทำให้สะพานมิตรภาพแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย

      ดังนั้น ไม่เพียงแค่การก่อสร้างสะพานจะช่วยอำนวยความสะดวกเท่านั้น ปัจจุบันการเดินทางระหว่างช่วงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปยังตัวเมืองจังหวัดตาก จำเป็นต้องอาศัยทางหลวงหมายเลข 12 สายตาก-แม่สอด เป็นเส้นทางคมนาคมหลักเพียงเส้นทางเดียว แม้ว่ากรมทางหลวงจะได้รับงบประมาณในการก่อสร้างขยายเส้นทางนี้ให้เป็นทางหลวง 4 ช่องจราจร แต่เนื่องจากแนวเส้นทางยังมีข้อจำกัดด้านกายภาพที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ลักษณะเป็นเส้นทางคดเคี้ยวและมีความลาดชันสูง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นลักษณะภูเขาทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้าปริมาณมาก รวมถึงมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณดอยรวก

      ดังนั้น เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต และเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างอำเภอแม่สอดไปยังตัวเมืองจังหวัดตาก ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทล.จึงได้บรรจุให้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายตาก-แม่สอด เป็นหนึ่งในโครงข่ายสายทางตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ปี 2560-2579

      สำหรับ มอเตอร์เวย์เส้นทางสายนี้มีระยะทางประมาณ 70-80 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 1 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการก่อสร้างอุโมงค์ 2 แห่ง รวมระยะทางยาวประมาณ 25 กิโลเมตร จัดเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ สามารถเป็นตัวชี้นำการ กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างเมืองศูนย์กลางภาคเหนือ จังหวัดตาก และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยจะส่งผลให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีความเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ยั่งยืน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมและเพิ่มศักยภาพต่อโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด-เมียวดีของรัฐบาล 2 ประเทศ

      นอกจากนั้น ยังช่วยลดปัญหาการเสี่ยงอุบัติเหตุและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เส้นทางหลวงระหว่างตาก-แม่สอด ทำให้การเดินทางสู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มโครงข่ายทางหลวงพิเศษสาย M2 เข้าสู่พื้นที่ชายแดนด้านตะวันตก ขยายโครงข่ายการเชื่อมโยง AEC ได้กว้างไกลมากขึ้น พร้อมกับการมีส่วนร่วมชี้นำความเจริญและส่งเสริมความเข้มแข็งในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

      นอกเหนือจากที่รัฐบาลโดย ทล.จะเร่งเปิดใช้บริการสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ในปลายปี 2561 แล้ว ซึ่งคาดว่าสภาพการจราจรจะหนาแน่นสมควรที่จะมีถนนเพื่อการเชื่อมโยง ดังนั้น ทล.จึงวางแผนก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายแม่สอด-ตาก รองรับไว้ตั้งแต่วันนี้

      ดูเหมือนว่าการรอคอยจะมีจุดหมายสำหรับผู้ประกอบการหรือนักลงทุน เมื่อสะพานแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการขนส่งและเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศ รวมถึงประเทศใกล้เคียงไม่ว่าเวียดนาม  สปป.ลาว ไทย เมียนมา นอกจากนี้ยังช่วยรองรับการขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงประชาชนที่อาศัยใน จ.ตากเช่นกัน ในอนาคตก็จะมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบายเช่นเดียวกัน.

      "สำหรับ โครงการสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ไม่เพียงสร้างขึ้นมาเพื่อสันติภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งสองประเทศเท่านั้น ทำให้เกิดการค้าชายแดนระหว่างประเทศ และยังทำให้ประชาชนทั้งสองฝั่งอยู่ดีกินดี มีความร่วมมือในการพัฒนาประเทศ และสนองนโยบายของสหประชาชาติ ที่ต้องการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในอาเซียน"

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!