- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Tuesday, 12 August 2014 23:55
- Hits: 4101
ปัดฝุ่นแผนพัฒนาที่ดิน 3.6 หมื่นไร่รฟท.เร่งล้างหนี้แสนล.
แนวหน้า : บอร์ดร.ฟ.ท.ยุค คสช.รื้อมาตรการสางหนี้แก้ขาดทุนอีกรอบ ขณะที่สหภาพรถไฟฯเสนอแนวทางการพัฒนาการรถไฟ 5 เรื่อง ให้ “คมนาคม”ใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย
มีรายงานจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) แจ้งว่า ขณะนี้ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)คนใหม่อยู่ระหว่างพิจารณาแผนการฟื้นฟูกิจการ แก้ปัญหาหนี้สะสมที่มีหนี้ถึงหลักแสนล้านบาท มีความเป็นไปได้ที่จะหารายได้เพิ่ม โดยการนำที่ดินที่การรถไฟฯ มีอยู่จำนวนมากมาพัฒนา
โดยปัจจุบัน การรถไฟฯมีที่ดินจำนวนกว่า 233,860 ไร่ และใช้ในการเดินรถเพียง 198,674 ไร่เท่านั้น โดยเป็นที่ดินที่สามารถหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้เพียง 36,302 ไร่ แต่การรถไฟฯมีรายได้จากการบริหารที่ดินเพียง 2,000 ล้านบาท/ปี เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารจัดการที่ดินของหน่วยงานอื่น
สำหรับ ที่ดินของการรถไฟฯ มีหลายแปลงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมา มีความพยายามจะนำพัฒนาเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาหนี้ยังก็ไม่เป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันพื้นที่ที่เหมาะสม อาทิ พื้นที่บริเวณสถานีแม่น้ำจำนวน 277 ไร่
พื้นที่บริเวณโรงงานมักกะสันจำนวน 497 ไร่ พื้นที่บริเวณ กม.11 จำนวน 359 ไร่ ซึ่งปัจจุบันยังจำเป็นต้องจัดการเอกสาร สัญญาต่างๆ ให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดได้ ขณะที่พื้นที่มีสัญญาเช่ากับหน่วยงานอื่นๆ กลับได้รับผลตอบแทนต่ำ เช่น พื้นที่บริเวณถนนรัชดาภิเษก พื้นที่ตลาดนัดจตุจักรและบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นสำนักงานใหญ่ของ ปตท.
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.)เคยเข้าพบ และยื่นหนังสือเสนอแนวทางการพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งแนวทางที่ทางสหภาพฯรถไฟเสนอคือ การเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินของการรถไฟฯ การเร่งรัดการจัดซื้อหัวรถจักรและขบวนรถใหม่เพื่อนำมาให้บริการแก่ประชาชน การเร่งรัดการลงทุนโครงการรถไฟรางคู่เพื่อลดความคับคั่งของการจราจรทางราง รวมถึงการแก้ไขจุดตัดทางรถไฟและถนนทั่วประเทศ โดยได้มีการออกแบบรถไฟรางคู่ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องจุดตัดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการแก้ไขจุดตัดที่เป็นปัญหาสำคัญรวม 80 แห่ง
รวมถึงต้องการให้เร่งรัดในเรื่องของกำลังพลที่ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ จากเมื่อ 10 กว่าปีที่เคยมีพนักงานถึง 18,000 คน แต่เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)ปี 2541 มีมติกำหนดให้ ร.ฟ.ท. รับพนักงานได้ไม่เกิน 5% ของจำนวนที่เกษียณส่งผลให้กำลังพลสำคัญหายไป
นอกจากนี้ ยังต้องการให้ทางกระทรวงคมนาคมเร่งรัดนำที่ดินของการรถไฟฯที่มีจำนวนมากมาใช้ให้ประโยชน์โดยเร็ว โดยเสนอให้แยกบริษัทลูกไปบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนนี้ เพื่อจัดการสัญญาเช่าที่ดินที่หมดอายุไปแล้ว หรือสัญญาที่ยังไม่จ่ายเงินตามกำหนดให้มีความชัดเจน และนำรายได้จากทรัพย์สินเหล่นี้มาชดเชยการขาดทุน โดยเฉพาะปัญหาสัญญาเช่าที่ดินของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพราะมีการเจรจามากว่า 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ
ด้านนายอำพล ทองรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า แนวทางในการบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และยังไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงระบบรางให้มีศักยภาพและจำนวนที่เพียงพอต่อการให้บริการได้ ทางสหภาพฯรถไฟจึงได้เข้าพบและยื่นหนังสือเสนอแนวทางเพื่อพัฒนาการรถไฟฯ 5 เรื่อง ที่มองว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาดังกล่าว โดยได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายต่างดังนี้
1.ขอให้การรถไฟฯเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหารายได้จากการบริหาร 2.เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศตามนโยบายของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3.เร่งรัดการดำเนินการจัดหารถจักร รถพ่วงให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน ส่วนการจัดหารถจักร รถพ่วงทดแทนรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมานานโดยยังสามารถดำเนินการให้ทันเวลา 4.เสนอให้รัฐบาลยกเลิกการจำกัดอัตรากำลังของพนักงานการรถไฟฯ เพราะทำให้พนักงานไม่เพียงพอต่อปริมาณงาน และส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการจ่ายค่าล่วงเวลา รวมถึงส่งผลกระทบต่อการให้บริการ และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรในอนาคตอีกด้วย และ 5.ขอให้มีการดูแลพนักงาน/ลูกจ้างที่เข้าปฏิบัติงานหลังปี 2542 โดยจัดให้มีกองทุนสวัสดิการมารองรับอย่างเหมาะสม และเป็นธรรม