- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Friday, 10 March 2017 20:58
- Hits: 4330
คมนาคมจับมือไจก้าศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้า กทม.เฟส 2 ลั่น 1 ปีเสร็จ ปรับเส้นทางลากเข้าศูนย์กลางศก.-การค้า
คมนาคมจับมือไจก้าศึกษาแผยแม่บทรถไฟฟ้า กทม.เฟส 2 ลั่น 1 ปีเสร็จ สั่งปรับแนวเส้นทางลากเข้าศูนย์กลางเศรษฐกิจ-การค้า-ห้าง หวังปั๊มยอดผู้โดยสาร ยัน รัฐบาลพร้อมทุ่มงบซื้อที่ดินในเมืองแพง หากลงทุนแล้วคุ้มค่า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) ได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ทำการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนมวลชนสายหลักและสายรองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เฟสที่ 2 ต่อเนื่องจากรถไฟฟ้า10 เส้นทางในเฟส1 โดยจะเน้นโครงข่ายสายย่อยเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่สายทางหลัก เพื่อให้ครอบคุลมการเดินทางมากขึ้น โดยเส้นทางใหม่จะต้องลากผ่านเข้าไปยังจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าให้มากขึ้นด้วย เช่น ห้างสรรพสินค้า ย่านชอปปิ้ง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับรถไฟฟ้า รวมทั้งจะต้องสอดรับการการสร้างเมืองใหม่ เช่น คอนโด หมู่บ้านต่างๆ
นอกจากนี้ จะต้องมีการวางแผนในระยะยาว หามาตรการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางในประเทศด้วย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการลงทุนโครสร้างพื้นฐานในระบบรางมากถึง 80% ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า ระบบรางของไทยทั้งประเทศจะมีระยะทางเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวคือ จาก 4 พันกิโลเมตร เป็น 9 พันกิโลเมตร ซึ่งมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเอง หรือเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย
“สำหรับแผนแม่บทเฟส 2 จะใช้เวลาศึกษาประมาณ1 ปี โดยต้องไปดูว่า รถไฟฟ้า10 สายทางที่สร้างไปแล้ว ยังขาดช่วงตรงไหนบ้างและต้องสร้างต่อตรงไหนอีก ที่สำคัญแนวเส้นทางจะต้องคิดใหม่คือ สร้างเข้ามาเชื่อมต่อกับแหล่งเศรษฐกิจการค้าและที่อยู่อาศัยที่อยู่ใจกลางเมืองให้มากขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า คอนโดเกิดใหม่ เพราะจะทำให้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น และยังสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นด้วย ขณะทีในอดีตพยายามสร้างเลี่ยงย่านธุรกิจทำให้ผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการน้อยมาก”นายอาคมกล่าว
การสร้างรถไฟฟ้าเข้ามาใจกลางเศรษฐกิจอาจจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างโครงการเพิ่มสูงขึ้นมาก เพราะที่ดินในเมืองมีราคาแพง แต่รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนด้านงบประมาณหากผลการศึกษาว่าการลงทุนมีความคุ้มค่าคุ้มค่า สามารถสร้างรายได้ที่ดีและทำให้ประชาชนเดินทางสะดวกขึ้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย