- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 07 January 2017 10:50
- Hits: 5017
ผ่าโครงการเมกะโปรเจกท์ปีการลงทุนด้านคมนาคม
แนวหน้า : ปี 2560 จะเป็น’ปีทองการลงทุน’ อีกปีของ กระทรวงคมนาคม หลายโปรเจกท์จะเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การปฏิรูปที่สำคัญในปี 2560 คือการจัดตั้ง ‘กรมการขนส่งทางราง’ขึ้นมารองรับ และการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายที่จะถูกอนุมัติการก่อสร้างได้ครบในปี2560 พร้อมเชื่อว่าวงเงินลงทุนการก่อสร้างในปีนี้จะเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 1%
ด้าน ชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามแผนปฏิบัติการ เร่งด่วนปี 2560 มีโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงินลงทุน 63,998 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) จะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนทั้งโครงการ ซึ่งรูปแบบจะคล้ายกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าวสำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วง แคราย-มีนบุรี ที่รัฐเวนคืนที่ดิน เอกชนลงทุนงานก่อสร้าง ดำเนินการ บำรุงรักษาและที่พัก ริมทางหลวง มูลค่าลงทุน 54,510 ล้านบาท โดยให้เอกชนจะได้สัมปทาน 30 ปี มีรายได้จากค่าผ่านทางและรายได้จากที่พักริมทาง โดยจะมีการเสนอผลการศึกษาให้คณะกรรมการ PPP อนุมัติ ได้ต้นปี 2560 และคาดว่าจะได้ผู้รับจ้างปลายปี 2560 รวมถึงลงนามในสัญญาก่อสร้างปี 2561 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2565
ขณะที่วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)เปิดเผยว่า ในส่วนของ การรถไฟฯมีแผนการดำเนินงานในปี 2560 ในโครงการรถไฟทางคู่ 9 โครงการได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางบ้านไผ่นครพนม และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัยเชียงราย-เชียงของ ที่คาดว่าจะเสนอให้ ครม.อนุมัติโครงการไม่เกินเดือน ก.พ.2560
พร้อมคาดว่าในช่วงกลางปี 2560 จะมีการเปิดขายซองประกวดราคาได้ในอีก 7 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, โครงการรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา, โครงการรถไฟทางคู่ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, โครงการรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, โครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่, โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี คาดว่าเสนอเข้า ครม.ได้ในช่วงเดือน มิ.ย.2560
ทั้งนี้ มีรายงานว่าปี 2560 ทางกระทรวงคมนาคมมีการพิจารณาโครงการที่มีความพร้อมในการลงทุนจำนวน 36 โครงการ วงเงินลงทุน 895,757.5 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง วงเงิน 408,616.28 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน- ประจวบคีรีขันธ์ 10,239.5 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 23,384.9 ล้านบาท 3.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา 51,823.83 ล้านบาท 4.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 7,941.8 ล้านบาท 5.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 56,066.2 ล้านบาท 6.โครงการรถไฟ ทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 59,924.2 ล้านบาท 7.โครงการ รถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัยเชียงราย-เชียงของ 76,978.8 ล้านบาท 8.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่นหนองคาย 26,065.7 ล้านบาท 9.โครงการรถไฟทางคู่ช่วง ชุมทางถนนจิระอุบลราชธานี 35,839.7 ล้านบาท และ 10.โครงการรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่ - นครพนม 60,351.9 ล้านบาท
ส่วนรถไฟชานเมือง 2 เส้นทาง วงเงิน 26,639.07 ล้านบาทได้แก่ 1.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต 7,596.9 ล้านบาท และ 2.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 19,042.1 ล้านบาท และตลิ่งชัน-ศาลายา, ด้านระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน วงเงิน 221,148.3 ล้านบาท 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแคพุทธมณฑลสาย 4 21,197 ล้านบาท
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ 123,354 ล้านบาท 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มช่วงสมุทรปราการ-บางปู 12,146 ล้านบาท 4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มช่วงคูคตลำลูกกา 9,803 ล้านบาท 5.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยาย (ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์ 31,149.3 ล้านบาท และ 6.ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต 23,499 ล้านบาท
ขณะที่ทางหลวงพิเศษและทางพิเศษ 5 เส้นทาง วงเงิน 167,222.6 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ 80,600 ล้านบาท 2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายหาดใหญ่ชายแดนไทย/มาเลเซีย 30,500 ล้านบาท 3.โครงการ ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวน รอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตกวงเงิน 31,244 ล้านบาท 4.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor 14,382 ล้านบาท
และ 5.โครงการทางพิเศษสายกะทู้- ป่าตอง 10,496.6 ล้านบาท และทางน้ำ 3 โครงการ 36,081.2 ล้านบาท ได้แก่ 1.การเดินเรือเฟอร์รี่ เชื่อมอ่าวไทยตอนบน 2.การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน 981.7 ล้านบาท และ 3.ท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 35,099.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่อเนื่องจากปี 2559 มีทั้งสิ้น 7 โครงการ วงเงิน 874,235.14 ล้านบาท โดย ครม.อนุมัติแล้วและเริ่มก่อสร้างได้ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(งานโยธา) และโครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน(ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ก็สามารถเริ่มก่อสร้างได้เช่นกัน ส่วนโครงการที่สามารถประกวดราคาได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯหัวหิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯระยอง รวมถึงโครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-ญี่ปุ่น (ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก)