- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 05 January 2017 22:19
- Hits: 12456
บอร์ด รฟม.ปรับลดวงเงินว่าจ้างติดตั้งระบบเดินรถ 1 สถานีพร้อมกำหนดกรอบเวลา 6 เดือน เจรจา BEM
คณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีมติให้ปรับลดวงเงินจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้า 1 สถานีเชื่อมโยงสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน เหลือ 678 ล้านบาท จากเดิม 693 ล้านบาท พร้อมทั้งกำหนดกรอบเวลาดำเนินการภายใน 6 เดือน โดยมอบหมายให้ รฟม.นำมติดังกล่าวไปเจรจากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 18 ม.ค.และนำกลับมารายงานต่อคณะกรรมการอีกครั้ง จากนั้นคาดว่าน่าจะเซ็นสัญญาได้ราวต้นเดือน มี.ค.60
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่า รฟม. เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ รฟม.วันนี้ว่า คณะกรรมการ รฟม.ให้ความเห็นชอบกรอบการดำเนินงานของงานเดินรถ 1 สถานี จากสถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูน โดยได้ปรับลดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งระบบงานเดินรถ เหลือ 678 ล้านบาท จากเดิม วงเงิน 693 ล้านบาทที่คณะกรรมการมาตรา 13 ของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯได้เคยเสนอไว้ เนื่องจากกำหนดกรอบดำเนินการ 6 เดือน จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลา 12-15 เดือน ซึ่งการปรับลดระยะเวลาจะทำให้ต้นทุนต่ำลง ส่วนค่าจ้างเดินรถยังคงเหมือนเดิม คือ 52 ล้านบาท/ปี
ทั้งนี้ คณะกรรมการ รฟม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ ซึ่งมีผู้ว่า รฟม.เป็นประธาน ให้เร่งรัดเจรจากับ BEM ซึ่งเป็นผู้เดินรถสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ หรือรายเดิมให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว และให้นำผลการเจรจานำเสนอต่อคณะกรรมการในวันที่ 18 ม.ค.60 จากนั้นจะส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมและอัยการ ซึ่งตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ม.44 ให้เวลา 30 วัน โดยคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนก.พ. และคาดว่าจะลงนามสัญญาในเดือนมี.ค.นี้
"เราก็จะไปเจรจากับ BEM ในเรื่องราคา ขอบเขตงาน ระยะเวลาเดินรถ เห็นชอบร่างสัญญา ซึ่งจะเจรจาให้แล้วเสร็จใน 2 อาทิตย์นี้" นายพีระยุทธ กล่าว
ผู้ว่า รฟม. กล่าวถึงเหตุผลที่ใช้วิธีพิเศษ เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นด้านเทคนิคที่เห็นควรเป็นรายเดิม คือ BEM เดินรถช่วง 1 สถานี ทั้งนี้จะให้กรอบเวลา BEM ดำเนินการ 6 เดือนหลังลงนาม คาดว่าอย่างน้อยเริ่มทดลองเดินรถได้ในเดือน ส.ค.60
ขณะที่การดำเนินการงานเดินรถของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ได้สรุปผลเจรจากับ BEM แล้ว และได้ส่งเรื่องไปยัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และอัยการแล้ว ซึ่งมีเวลา 45 วันในการพิจารณาจากนั้นจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนนำเสนอ ครม.ต่อไป ซึ่งกระบวนการคาดใช้เวลา 90 วัน หรือประมาณ 3 เดือน แต่หากเป็นนโยบายเร่งด่วนน่าจะดำเนินการได้เร็วขึ้น
อินโฟเควสท์