- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Tuesday, 27 December 2016 23:19
- Hits: 10315
รฟม.คาดเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง 1 สถานีได้ราวส.ค.-ก.ย.60 หลังใช้ม. 44
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ในวันนี้ได้ข้อยุติเรื่องงานเดินรถ 1 สถานี ระยะทาง 1 กิโลเมตร (กม.) ช่วงสถานีเตาปูน-สถานีบางซื่อ แล้ว โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินรถ 1 กม.ดังกล่าว
สาเหตุที่ต้องใช้คำสั่งพิเศษเนื่องจากติดข้อกฎหมายไม่สามารถดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 56 ที่อาจจะขัดต่อกฎหมาย ประกอบกับมีผู้ร้องคัดค้านไม่ให้รายเดิมเดินรถเพราะจะทำให้เกิดการผูกขาด แต่ทาง รฟม.ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก จึงให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เข้ามาเดินรถสถานีบางซื่อต่อเนื่องไปสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นแนวทางที่ดำเนินการได้เร็วที่สุด โดยก่อนหน้านี้ได้เจรจากับ BEM เรื่องงบลงทุนติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณจำนวน 693 ล้านบาท และว่าจ้างเดินรถปีละ 52 ล้านบาท
"ผมเตรียมแผนไว้แล้วว่าหากว่ามีคำสั่ง ไม่ว่า ม.44 หรือ มติ ครม.เสันนี้ ทาง รฟม.เตรียมเจรจาผู้เดินรถรายเดิมเป็นอันดับแรกคือ BEM เนื่องจากว่า BEM เขาเดินรถมาจ่อตรงสถานีบางซื่อแล้ว การที่จะเดินรถไปเตาปูนไม่มีวิธีอื่น นอกจากให้ทาง BEM ขยายระยะทางเดินรถออกไปทางเตาปูนได้เป็นวิธีที่ดีที่สุด และทำได้ง่ายมากที่สุด ถ้าจะให้คนอื่นมาเดินรถผมคิดว่าจะมีปัญหามากมาย ฉะนั้นเราจะเร่งเจรจา" พล.อ.ยอดยุทธ กล่าว
ทั้งนี้ รฟม.จะเรียก BEM มาเจรจาเดินรถต่อรองการเดินรถ 1 สถานีเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จากนั้นจะนำผลการเจรจาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.ในวันที่ 11 ม.ค.60 และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เมื่อ ครม.อนุมัติแล้วก็จะเซ็นสัญญากับเอกชนทันที หลังจากนั้นจะใช้เวลาติดตั้งระบบ 6 เดือน และทดลองเดินรถ 2 เดือน จึงคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือน ส.ค.-ก.ย. 60
สำหรับ การเจรจางานเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ นั้น พล.อ.ยอดยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำส่งให้ สคร.และกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นก่อนนำเสนอต่อ ครม.คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ในไตรมาส 1/60
ประธาน รฟม. กล่าวว่า การเดินรถเส้นนี้จะทยอยเปิดรถบางส่วนในปลายปี 62 และเดินได้ทั้งเส้นทางในปี 63 ทั้งนี้ตามแผนงานในส่วนของการกำหนดการเปิดเดินรถทั้งสายในวันที่ 1 ก.พ.63 โดยการดำเนินการสัญญา 6 ซึ่งเป็นงานระบบเดินรถต้องใช้ระยะเวลา 1,200 วัน (40 เดือน) ดังนั้นสัญญา 6 จำเป็นต้องเซ็นสัญญากับผู้รับจ้างให้ได้ภายในวันที่ 1 ก.พ.60 ซึ่งมีการวางแผนการเปิดเดินรถ 3 ระยะ
โดยระยะที่ 1 เปิดเดินรถสายเหนือช่วงแรก คือ ช่วงเตาปูน- บางซื่อภายใน ก.ย.60, ระยะที่ 2 เปิดเดินรถสายใต้ ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง ภายใน ก.ย.62 และระยะที่ 3 เปิดเดินรถสายเหนือช่วงที่ 2 ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ภายในวันที่ 1 ก.พ.63
ทั้งนี้ รฟม. แจ้งว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีความคืบหน้างานก่อสร้างรวมทั้ง 5 สัญญาแล้ว 86.72% ทำได้ตามแผน จากที่เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือน เม.ย.54 โดยช่วงสนามไชย-ท่าพระเสร็จ 100%
สำหรับ ความคืบหน้าแต่ละสัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างทางใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้ดำเนินงาน มีความก้าวหน้าเท่ากับ 92.14% จากแผนงาน 94.11% ล่าช้ากว่าแผน 1.97% มีงานก่อสร้างสถานีวัดมังกรกมลาวาส และสถานีวังบูรพา
สัญญาที่ 2 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงสนามไชย- ท่าพระ โดย บมจ.ช.การช่าง (CK) ได้ดำเนินงานแล้วเสร็จในวันที่ 3 ก.ย.59 อยู่ระหว่างการตรวจรับงาน
สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างเส้นทางยกระดับ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ โดยกิจการร่วมค้าเอสเอช-ยูเอ็น (มี UNIQ ร่วมทุน) ได้ดำเนินงานโดยมีความก้าวหน้าเท่ากับ 67.51% จากแผนงาน 67.45% เร็วกว่าแผน 0.06%
สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างเส้นทางยกระดับ ช่วงท่าพระ- หลักสอง โดย บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ได้ดำเนินงาน มีความก้าวหน้าเท่ากับ 90.32% จากแผนงาน 88.89% เร็วกว่าแผน 1.43%
สัญญาที่ 5 งานระบบราง ช่วงหัวลำโพง-บางแค โดย CK ดำเนินงาน มีความก้าวหน้าเท่ากับ 80.21% จากแผนงาน 79.68% เร็วกว่าแผน 0.53%
ศรีสุวรรณ เรียกร้องนายกฯ ระงับใช้คำสั่งม.44 เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เหตุเอื้อเอกชนผูกขาดรายเดียว
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรียกร้องนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รมว.คมนาคม ขอระงับหรือถอนเรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ที่เตรียมนำเข้าขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมครม. 27 ธ.ค.นี้ เพื่อให้นำกลับมาดำเนินการตามครรลองที่กฎหมายกำหนด หยุดการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเฉพาะราย ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าว ยังมีปัญหาในการเชื่อมต่อและร่วมใช้ระบบรถไฟฟ้าการพิจารณาคัดเลือกเอกชน และการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนและเพื่อให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยให้เจรจาร่วมกันกับผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลให้ดำเนินการโครงการส่วนต่อขยายและดำเนินการให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลกับผู้รับสัมปทานดังกล่าวเพื่อให้สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกันและการกำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการสายสีน้ำเงินให้มีระยะเวลาการดำเนินการโครงการสิ้นสุดลงพร้อมกันหรือสอดคล้องกันนั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนหรือเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนผู้ประกอบการรายเดียว
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า การใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินดังกล่าว โดยจะมีการนำเสนอเข้าครม.ในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2559 นี้ เป็นการเปิดโอกาสให้บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้ทำสัญญา 3 โครงการอันมีลักษณะเป็นการผูกขาด โดย 2 โครงการที่รัฐบาลให้ใช้วิธีการเจรจาตรง ไม่ได้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป คือโครงการสายสีม่วงและโครงการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ทั้งๆที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยกับวิธีการเจรจาตรงก็ตาม
"เท่ากับว่ารัฐบาลได้กระทำเป็นตัวอย่างที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ความโปร่งใส การเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบและหากในการเจรจา ถ้า บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ขอไม่จ่ายเงินค่าสัมปทานประมาณ 50,000 กว่าล้านบาทตามสัญญาเดิม (โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ) รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร"
ทั้งนี้ หากข้อเรียกร้องนี้ไม่เป็นผล สมาคมฯจำต้องหาข้อยุติในการนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองต่อไปแน่นอน
อินโฟเควสท์