WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Railwayออมสน ชวะพฤกษคมนาคม เผยรมว.คลัง ไฟเขียวให้รฟท.บริหารที่ดินมักกะสันแลกกับภาระหนี้ 6.1 หมื่นลบ.

    คมนาคม เผยรมว.คลัง ไฟเขียวให้รฟท.บริหารที่ดินมักกะสันแลกกับภาระหนี้ 6.1 หมื่นลบ. โดยในวันที่ 8 ธ.ค. นี้ กรมธนารักษ์และรฟท.จะประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อยุติ

      นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ว่า ทางรมว.คลังได้เสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) บริหารที่ดินมักกะสันเองโดยไม่ต้องโอนสิทธิ์ให้กรมธนารักษ์ เพื่อแลกกับภาระหนี้ 6.1หมื่นล้านบาท ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพราะเห็นว่าหากกรมธนารักษ์รับมาบริหารเอง จะต้องจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่อีก หาก รฟท.พร้อมสามารถบริหารเองได้เลย

     ในวันที่ 8 ธ.ค. นี้ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ และผู้บริหารของรฟท. จะมาร่วมประชุม เพื่อหาข้อยุติในประเด็นดังกล่าว เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ในการบริหารที่ดินจาก กรมธนารักษ์เป็น รฟท. อาจจะต้องมีการแก้ไขมติ คนร.เดิม แต่เบื้องต้น รฟท. มีความพร้อมและยินดีจะบริหารที่ดินเอง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการจัดทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาที่ดินมักกะสันไว้แล้ว หากได้สิทธิในการบริหารสามารถนำแผนพัฒนาเดิมมาปัดฝุ่นดำเนินโครงการได้ทันที

    รายงานข่าวจาก รฟท.แจ้งว่าขณะนี้ รฟท. มีแนวคิดว่า การโอนที่ดินมักกะสัน ขนาด 500 ไร่ ให้กรมธนารักษ์เข้าบริหาร เป็นเวลา 99 ปี เพื่อแลกกับการรับภาระหนี้ของ รฟท. 6.1 หมื่นล้านไม่สามารถล้างหนี้รฟท. ได้เพราะรฟท.ยังต้องกู้เงินอีกจำนวนมากเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายและดูแลที่อยู่ให้พนักงาน จึงมีแนวคิดที่จะบริหารที่ดินดังกล่างเองด้วยการนำที่ดินไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ เอง ภายหลังจากที่ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า รฟท.มีสิทธิ์นำที่ดินไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้

คมนาคม ตั้งเป้า 5 ปี เพิ่มสัดส่วนขนส่งระบบรางแตะ 5% หวังช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ

    คมนาคมตั้งเป้า 5 ปี เพิ่มสัดส่วนใช้ระบบรางเป็น 5% จากปัจจุบัน 2% หวังช่วยลดต้นทุนด้านขนส่งให้ผู้ประกอบการเอกชน เหตุต้นทุนระบบรางต่ำเพียง 0.93 บาท/ตัน/กม. เทียบกับต้นทุนทางถนนอยู่ที่ 1.72 บาท/ตัน/กม. เร่งพัฒนาระบบราง 2 มิติ พัฒนารถไฟทางคู่ขนาดรางเดิม และรถไฟใหม่   ด้านรฟท. เปิดแผนลงทุนรถไฟทุกทาง

   นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบรางอย่างมาก โดยจัดสรรงบประมาณหลักแสนล้านบาทมาใช้ในการพัฒนา เพื่อเร่งลดต้นทุนการขนส่ง   ในแต่ละปีไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.75 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าจีดีพีโดยรวมของประเทศซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 11.5 ล้านล้านบาท

   ทั้งนี้ ต้นทุนด้านการขนส่งทางรางมีต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่าทางถนน โดยต้นทุนทางรางอยู่ที่ 0.93 บาท/ตัน/กม. ขณะที่ต้นทุนทางถนนอยู่ที่ 1.72 บาทต่อตัน/กม. แต่ผู้ประกอบการไทยนิยมขนส่งทางถนน สัดส่วนมากถึง 86%ขณะที่ทางรางมีสัดส่วนเพียง 2% เนื่องจากการขนส่งทางรางหรือทางรถไฟของไทยยังขาดประสิทธิภาพไม่สามารถดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้บริการได้ ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี จะต้องผลักดันให้มีการใช้ระบบขนส่งทางรางให้เพิ่มมากขึ้นจาก 2%เป็น 5%

   ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาเกิดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องรัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งยกระดับระบบรางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ โดยรัฐบาลตั้งเป้าให้มีการพัฒนาระบบรางใน 2 มิติ คือ การพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดรางเดิม 1.00 เมตร และก่อสร้างรถไฟใหม่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งของไทยกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน รัฐบาลไทยยังมีแผนที่การพัฒนาทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) ร่วมกับรัฐบาลจีนและญี่ปุ่นอีกด้วย

   นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวว่า มีโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดทาง 1 เมตรจากปัจจุบันถึงปี 2565 และจะมีการลงทุนเส้นทางเดี่ยวเป็นทางคู่ถึง 14 โครงการ ขยายโครงข่ายทางรถไฟให้มีระบบทางคู่เพิ่มจาก 357กม. เป็น 3,994 กม. การรถไฟฯ ยังมีการผลักดันโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน)ร่วมกับญี่ปุ่นและจีนโดยในส่วนของญี่ปุ่น จะร่วมกันพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯเชียงใหม่ พัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทางรถไฟในเส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ (กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง กรุงเทพฯอรัญประเทศ) ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบรถไฟ เส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ตามแนวเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก ขณะนี้อยู่ระหว่างรอญี่ปุ่นส่งรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการขั้นสุดท้ายมาให้ไทยพิจารณาในสิ้นปีนี้

   ส่วนรัฐบาลจีนกับไทยตกลงร่วมกันที่จะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางสายหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 873 กม. ตั้งเป้าจะเริ่มก่อสร้างให้ได้ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2559 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 62

   นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน รถไฟความเร็วสูงอีก 2 เส้นทาง คือกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 94,673ล้านบาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง วงเงิน 152,528ล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (พีพีพี) ขณะนี้ผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปีนี้

   ด้านการพัฒนาระบบรางในกรุงเทพนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดด้วยเช่นกันโดยเฉพาะโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง(ช่วงบางซื่อ-รังสิต) งานสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาตู้ เพราะขณะนี้งานมีความคืบหน้าเพียง 50% เท่านั้น พร้อมทั้งให้ ร.ฟ.ท. เร่งรัดการก่อสร้าง ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ต ลิงก์ พญาไท-ดอนเมือง และสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพงด้วย ซึ่งคาดว่าเปิดบริการปี 2563

 สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!