- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 02 August 2014 19:34
- Hits: 4066
รฟท.เผย โครงการรถไฟรางคู่ สายทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ผ่าน EIA แล้วรอเข้าประชุมครม. ตั้งงบก่อสร้าง 2.6 หมื่นลบ.
นายวรรณพ ไพศาลพงศ์ วิศวกรอำนวยการ ศูนย์โครงการก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังเข้าพบ นายธงชัย ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา เพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร ตามที่ คสช. ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ว่า ความคืบหน้าได้ผ่านขั้นตอนความเห็นชอบการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รอเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อตั้งงบประมาณก่อสร้าง 2.6 หมื่นล้านบาท ช่วงกลางปี 2558 จะเปิดประมูลหาผู้รับเหมา ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 36 เดือน แล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการปี พศ. 2562
ส่วนโครงการรถไฟทางคู่สายทางมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. มูลค่า 29,855 ล้านบาท อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเส้นทางบางช่วง ในเขตอำเภอปากช่อง ได้ผ่านผืนป่า ต้องเจาะอุโมงค์ หรือทำสะพานข้าม สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายทางชุมทางถนนจิระ- อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. มูลค่า 32,398 ล้านบาท ได้ผ่านการศึกษา และออกแบบ ช่วงประมาณปี 2558 บริษัท ฯ ที่ปรึกษา จะลงพื้นที่ เพื่อปฐมนิเทศ หรือชี้แจงข้อมูลโครงการฯ
นายวรรณพ วิศวกรอำนวยการฯ กล่าวถึงรายละเอียดโครงการพัฒนารถไฟทางคู่สายทางจิระ-ขอนแก่น ขนาดราง 1 เมตร (Meter Gauge) แบบใช้หินโรยทาง (Ballast) ใช้รางชนิด UIC54 และหมอนคอนกรีตแบบ Mono Block ก่อสร้างเพิ่มด้านขวาทาง (ทิศตะวันออก) ระยะทาง 187 กิโลเมตร ขนานไปกับทางรถไฟเดิม เริ่มต้นที่สถานีชุมทางถนนจิระ ถึงสถานีขอนแก่น รวม 26 สถานี เป็นทางวิ่งระดับพื้นทั้งหมด ยกเว้นช่วงบริเวณสถานีขอนแก่น จะเป็นทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 5.4 กิโลเมตร ย่านเก็บกอง และขนถ่ายตู้สินค้า CY มี 3 แห่ง ได้แก่ สถานีบ้านกระโดน สถานีชุมทางบัวใหญ่ และสถานีท่าพระ เพื่อรองรับการขนส่งที่จะเติบโตในอนาคตและหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนเมือง กระบวนการทั้งหมด ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย การคัดค้านฯ
ทั้งนี้ ยังเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม อาจทำได้เพียงปรับเปลี่ยนรูปแบบตามงบประมาณที่คงเหลืออยู่ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน ที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ตามเส้นทางรถไฟ หากโครงการฯ นี้แล้วเสร็จ สามารถช่วยเพิ่มความจุของเส้นทางรถไฟ ให้มีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายการเดินทาง และการขนส่งสินค้าสะดวกรวดเร็วขึ้น และลดระยะการเดินทาง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟ ลดระยะเวลาการเดินทาง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง และลดปัญหามลพิษ
นายขวัญชัย ติยะวานิช นายกสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ขณะนี้มีการขนส่งสินค้าทางขบวนรถไฟ สายทางจิระ-ขอนแก่น วันละ 5 ขบวน ซึ่งรถไฟบรรทุกสินค้า 1 ขบวน เทียบกับรถบรรทุกขนส่ง ได้เฉลี่ย 20 คัน หากโครงการนี้แล้วเสร็จ จะลดจำนวนรถบรรทุก ที่แล่นบนเส้นทางหลัก ถนนมิตรภาพ กว่า 100 คัน ต่อวัน ลดความคับคั่งของสภาพการจราจร รวมทั้งลดอุบัติเหตุ และอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก เนื่องจากเส้นทางรถไฟไทย ยังจำกัดอยู่ตามหัวเมืองใหญ่เท่านั้น ศักยภาพการขนส่ง และโดยสารสาธารณะ ยังต้องใช้ถนนเป็นหลัก ดังนั้นการขนส่งสินค้าถึงปลายทาง ก็ต้องใช้รถบรรทุกเช่นเดิม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระบบรถไฟทางคู่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รถไฟไทย ต้องมีหัวรถจักรเพียงพอ และ ปรับปรุงการบริหาร จัดการ ให้เป็นรูปแบบอินเตอร์ โดยเฉพาะการตรงต่อเวลา ซึ่งผู้ประการการให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก นอกจากนี้การเพิ่มระบบทางรถไฟ ต้องเร่งดำเนินการครอบคลุมทั้งประเทศ
ด้าน นางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ กรรมการหอการค้าไทย ฐานะ ประธานหอการค้า กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง ว่า ขอขอบคุณ คสช. ที่เล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ที่ผ่านมา ภาคเอกชน ได้นำเสนอยุทธศาสตร์โครงการรถไฟทางคู่สู่อีสาน ให้รัฐบาล เล็งเห็นความสำคัญ แต่ติดขัดปัญหาการเมือง ทั้งๆที่โครงการฯ ได้ผ่านขั้นตอนการศึกษา ข้อมูลครบทุกด้าน ตนในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการด้านธุรกิจในเขต 20 จังหวัด ภาคอีสาน ขอสนับสนุนโครงการนี้ ฯ พร้อมที่จะให้ข้อมูลสำคัญ ซึ่งได้ลงพื้นที่ ศึกษาข้อมูลมาครบทุกด้าน เพื่อให้การขนส่งระบบราง ตอบโจทย์คนอีสานได้ครอบคลุมที่สุด
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย