WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MRTธระพนธ เตชะศรนกล

รฟม. เปิดซองเอกสารข้อเสนอซองที่ 1 รถไฟฟ้าสายสีชมพู -สีเหลือง คาดได้ข้อสรุปต้นเดือนธ.ค.นี้

   รฟม.เปิดซองเอกสารข้อเสนอซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติและเทคนิค โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยมีตัวแทนจากกิจการร่วมค้าบีทีเอส และBEM เข้าร่วม คาดได้ข้อสรุปต้นเดือนธ.ค. 59 หลังจากนั้นจะเปิดซองที่ 2 ด้านการลงทุนและผลตอบแทน เร่งให้ได้ข้อสรุปกลางเดือนธ.ค.นี้

    ในวันนี้ 17 พฤศจิกายน 2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดซองเอกสารข้อเสนอซองที่ 1  ด้านคุณสมบัติและเทคนิค โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยมีนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง

      พร้อมด้วยผู้แทนจาก กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือBTS บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือRATCH  และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือSTEC และผู้แทน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBEM ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอฯ เข้าร่วมการเปิดซองเอกสาร

    นายธีระพันธ์ เตชะศิรินุกูล เปิดเผยว่า คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 ให้ได้ข้อสรุปภายในต้นเดือนธันวาคม 2559 จากนั้น จึงจะพิจารณาเปิดซองเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 การลงทุนและผลตอบแทน โดยรฟม. จะเร่งประเมินข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุนฯ ในโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายให้ได้ข้อสรุปในกลางเดือนธันวาคม 2559

                สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และสายสีเหลืองฯ นั้น เป็นโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย รฟม. ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเอกชนผู้รับสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างงานโยธา งานระบบและขบวนรถไฟฟ้า (รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง) และให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร (PPP Net Cost) มีระยะเวลาสัมปทานทั้งสิ้น 33 ปี 3 เดือน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1: งานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน และระยะที่ 2: งานให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีมูลค่าลงทุนรวม 53,519.50 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีมูลค่าลงทุนรวม 51,931.15 ล้านบาท

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

รฟม.เปิดซองข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีเหลืองวันนี้ คาดได้ผู้ชนะก่อนกลางธ.ค.

    นายธีระพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า วันนี้ รฟม.จะเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ซองที่ 1 คือข้อเสนอด้านคุณสมบัติและเทคนิค ในเวลาประมาณ 13.00 น. ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติและด้านเทคนิค เพราะแต่ละรายได้นำข้อมูลเข้ามามาก

     หลังจากนั้น รฟม.จะเปิดซองที่ 2 คือ ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยคาดว่าจะพิจารณาให้ได้ตามกรอบเวลาที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้นโยบายให้เร่งประกาศผู้ชนะ ไม่เกินกลางเดือนธ.ค.นี้  ทั้งนี้หากรายใดเสนอราคาที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าหรือให้รัฐชดเชยน้อยทีสุดก็จะได้รับการคัดเลือกและจะเรียกมาเจรจา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมี 2 กลุ่มเข้ามาประมูลแต่รฟม.จะต้องพิจารณาข้อเสนออย่างละเอียด

    อนึ่ง เมื่อวันที่ 7 พ.ย.59 มีเอกชน 2 กลุ่มเข้ายื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนทั้ง 2 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้แก่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.ช.การช่าง (CK) และ กลุ่ม BSR Join Venture ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส (BTS) , บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH)

      โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,490 ล้านบาท และ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. วงเงิน 51,810 ล้านบาท เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) กำหนดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP- Net Cost  ซึ่งภาครัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และ เอกชนลงทุนค่างานโยธา ระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งบริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โดยให้เอกชนร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน (ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี)

        อินโฟเควสท์

รฟม.เผย BEM และ กลุ่ม BTS-STEC-RATCH ยื่นซองชิงรถไฟฟ้าชมพู-เหลือง คาดเซ็นสัญญา เม.ย. 60

        นายธีระพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า วันนี้มีเอกชน 2 กลุ่มเข้ายื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนทั้ง 2 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้แก่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ กลุ่ม BSR Join Venture ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส (BTS) , บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH)

     "วันนี้เอกชนมายื่น 2 กลุ่ม ถือว่าโอเคแล้ว เพราะเขาลงทุนเอง โครงการละ 5 หมื่นกว่าล้านบาท"นายธีระพันธ์ กล่าว

      นายธีระพันธ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ รฟม.จะนัดเปิดซองข้อเสนอต่อหน้าเอกชน ในวันที่ 17 พ.ย.นี้ เวลา 13.00 น. และจะพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ถัดมาก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค  ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดข้อเสนอด้านราคา หรือด้านการลงทุนและผลตอบแทนให้ทันภายในปีนี้ โดยที่รายใดที่ขอชดเชยกับภาครัฐน้อยที่สุดก็มีโอกาสได้รับเลือกต่อรองราคาก่อน

      ทั้งนี้ หลังจากที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 จะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอและเปิดซองข้อเสนอฯ ในวันที่ 17 พ.ย. แล้ว โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ในการดำเนินการประเมินผลข้อเสนอฯ และเจรจาต่อรองกับเอกชนผู้ชนะการคัดเลือก ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ประมาณเดือนเม.ย.60

      ก่อนหน้านี้ เอกชนซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนในรถไฟฟ้าสายสีชมพู จำนวน 16 ราย และซื้อเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุนในรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีจำนวน 17 ราย

      โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,490 ล้านบาท และ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. วงเงิน 51,810 ล้านบาท เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) กำหนดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP- Net Cost  ซึ่งภาครัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และ เอกชนลงทุนค่างานโยธา ระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งบริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โดยให้เอกชนร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน (ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี)

      ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายของโครงการและกรอบวงเงินสนับสนุนแก่เอกชน เป็นเงินสนับสนุนค่างานโยธาในวงเงินไม่เกิน 20,135 ล้านบาทสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายของโครงการและกรอบวงเงินสนับสนุนแก่เอกชนเป็นเงินสนับสนุนค่างานโยธาในวงเงินไม่เกิน 22,354 ล้านบาท

     อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!