- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 05 November 2016 17:11
- Hits: 4770
นายกฯ สั่ง คมนาคมแจงปชช.เรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช พร้อมต่อเวลาเจรจาสายสีน้ำเงินกับ BEM อีก 30 วัน
นายกฯ สั่ง คมนาคมลงพื้นที่แจงปชช.เรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช หลังมี NGO ออกมาค้านทำโครงการล่าช้า พร้อมต่อเวลาเจรจาสายสีน้ำเงินกับ BEM อีก 30 วัน หลังหมดเวลาไปเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและตรวจเยี่ยมการทำงานที่กระทรวงคมนาคมว่า ได้หารือถึงความคืบหน้าในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้น กทม.-โคราช โดยยอมรับว่าขณะนี้ยังติดปัญหาเรื่องการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย โดยพบว่าขณะนี้มีกลุ่มบุคคลนอกพื้นที่หรือพวกเอ็นจีโอออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านด้วย นอกเหนือไปจากคนในพื้นที่ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องลงไปเจรจากับชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาต่อไป จัดหาที่อยู่ให้ เพราะรัฐบาลต้องการให้โครงการต่างๆเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองใหม่ เศรษฐกิจประเทศ หากไม่แก้ปัญหาประเทศไทยก็จะติดกับดักอยู่อย่างนี้ไม่ไปไหนสักที ซึ่งสื่อมวลชนก็ต้องช่วยรัฐบาลด้วย
“ทุกโครงการจะต้องมีการทำอีไอเอ ยกเว้นไม่ได้ เพราะต้องทำตามกฎหมาย ส่วนโครงการที่ถูกคัดค้านก็ต้องค่อยๆเจรจากับคนในพื้นที่ ขอร้องกัน ไม่อยากที่จะใช้มาตรา44 เพื่อขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ เพราะไม่ต้องการสร้างความขัดแย้ง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย โครงการดังกล่าวมีการแบ่งการออกสร้างออกเป็น 4 ตอน ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างแค่บริเวณกลางดงเพียง 305 กม. เท่านั้น แต่ที่เลือกสร้างจุดนี้ก่อนเนื่องจากเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ที่ไม่ต้องเวนคืนที่ดินสามารถก่อสร้างได้เลย ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปแน่นอน แต่ขณะนี้ยังติดปัญหา 2 เรื่องคือเรื่องการถอดแบบก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานของไทย และการร่างสัญญา โดยหากสามารถตกลงกันได้เรื่องของการถอดแบบก่อสร้าง ก็จะไม่สามารถเดินหน้าในส่วนอื่นๆ ได้เลย โดยแบบจะต้องตรงตามระเบียบการประมูลของไทย มีโค้ดวัสดุก่อสร้างเป็นไทย
“ส่วนเป้าหมายการก่อสร้าง ผมได้บอกให้นายกรัฐทราบแล้ว ว่าไม่อยากจะผัดผ่อนระยะเวลาออกไปอีก ยังคงยึดเป้าหมายเดิมคือเริ่มก่อสร้างในเดือนธ.ค.นี้ แต่ขณะนี้มีปัญหา2 เรื่อง ส่วนความเป็นไปได้ตามเป้าหมายนั้นจำเป็นต้องขีดเส้นเวลาไว้ เพื่อให้เกิดการเร่งรัดการทำงาน ทำงานเต็มที่ แต่หากถ้างานส่วนใหญ่ไม่เสร็จตามกรอบเวลาจริง ก็อาจจำเป็นต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก ซึ่งได้พูดคุยกับจีนแล้วว่าถ้าอบบไม่พร้อม ไทยก็ไม่สามารถเปิดประมูลโครงการได้ เพราะการดำเนินงานของไทยต่างจากประเทศอื่น เพราะโครงการต้องมีความพร้อมก่อนจึงจะทำต่อได้ โดยหากภายในเดือย พ.ย.นี้ ฝ่ายไทยยัง ไม่พร้อมในส่วนไหน ก็จะแจ้งให้จีนทราบ ซึ่งจีนก็ต้องปรับแผนตามไทย เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นเงินลงทุนของไทย “
ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจะขยายเวลาการเจรจาการเดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ออกไปอีก 30 วัน เพื่อแก้ไขข้ออุปสรรค และขีดเส้นการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือน ต.ค.นี้ แต่ปัจจุบันการเจรจายังไม่สิ้นสุด
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
บิ๊กตู่'ยันไม่ใช้กม.แก้ปัญหาค้านลงทุนสายโคราชรับรถไฟ'ไทย-จีน'สะดุด
แนวหน้า : นายกฯมอบนโยบายให้ 'คมนาคม'ทำความเข้าใจ คนในพื้นที่คัดค้าน'เมกะโปรเจกท์'ขณะที่ การรถไฟฯเร่งผลักดันโครงการที่ล่าช้ากว่าครึ่งศตวรรษ เร่งลงทุนทางคู่ "เด่นชัย-เชียงราย" เชื่อมโยงการเดินทางขนส่ง สู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจ.เชียงราย ยันเปิดทันปี'63
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการเดินทางเข้ามาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับกระทรวงคมนาคม พร้อมร่วมหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม ได้ติดตามความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพบว่า ในส่วนของโครงรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯนครราชสีมา ที่ขณะนี้มีความล่าช้ามาจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้แต่ยืนยันว่าทางรัฐบาลมีความพร้อมในการดำเนินโครงการเนื่องจากมีการกำหนดเส้นทางชัดเจนแล้วติดแค่ในส่วนของปัญหาผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ที่ยังไม่ผ่านการประเมิน เพราะยังติดปัญหากระแสต่อต้านจากทั้งใน และนอกพื้นที่ ยืนยันว่าโครงการรถไฟไทย-จีนจะต้องดำเนินต่อไปเพราะลาว และจีนได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเส้นทางแล้ว
"ปัญหาความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่ที่บางโครงการมีประชาชนไม่เข้าใจ และไม่สนับสนุนโครงการทำให้โครงการเกิดยาก แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่อยากใช้อำนาจหรือกฎหมายบังคับและไม่ต้องการเข้าไปขัดแย้งกับประชาชน โดยขอให้ประชาชนและทุกฝ่ายเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นของโครงการเหล่านี้ เนื่องจากหากโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งไม่สามารถเกิดได้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอนาคต" ส่วนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(ซูเปอร์อีสต์เทิร์นซีบอร์ด) ได้เริ่มดำเนินการแล้วในปีนี้ เช่น ทำถนน ระบบราง และพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนได้ปีหน้าอีกหลายโครงการรวมถึงเชื่อว่า เมื่อโครงการนี้เห็นผลชัดเจนประชาชนทั้งระดับจังหวัดและภูมิภาคก็จะได้ประโยชน์
ด้านรมว.คมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กทม- นครราชสีมา นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการแบ่งการออกสร้างออกเป็น 4 ตอน ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างแค่บริเวณกลางดง เพียง 3.5 กม. แต่ที่เลือกสร้างจุดนี้ก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ที่ไม่ต้อง เวนคืนที่ดินสามารถก่อสร้างได้เลย ซึ่งรัฐบาลจะ เดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้การสนับสนุนโครงการอยู่แล้ว เพราะต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขณะที่มีรายงานจาก การรถไฟฯ แจ้งว่า ร.ฟ.ท. เดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล เร่งผลักดันโครงการลงทุนรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย ระยะทาง 323 กิโลเมตร มูลค่า วงเงิน 76,980 ล้านบาท เชื่อมโยงการเดินทาง ขนส่ง สู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย คาดเริ่มเปิดประมูลได้ในปลายปี 2560 ให้บริการเดินรถได้ปี 2563 ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟฯ คาดว่า จะเปิดให้มีการประมูลหาผู้รับเหมาได้ในปี 2560 และเปิดให้บริการเดินรถได้ภายในปี 2563 ที่ผ่านมาเส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย อยู่ในแผนการพัฒนาของการรถไฟฯ มาตั้งแต่ปี 2503 หรือกว่า 56 ปีที่แล้ว แต่ต้องติดปัญหาทำให้เกิดความล่าช้ามาตลอด
สำหรับ สถานะของโครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย- เชียงราย ปัจจุบัน ได้ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) ไปแล้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไปจะมีการนำเสนอเข้าการพิจารณาของคณะกรรมการการรถไฟฯ เพื่อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ จะมีการหารือกับฝ่ายวิศวกร เพื่อแบ่งโครงการก่อสร้างเป็น 3 ช่วง โดยจะสร้างไปพร้อมๆ กัน แทนการสร้างเป็นทางยาวรวดเดียว เพื่อให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น
สำหรับ แนวเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย มีระยะทาง 323 กิโลเมตร 26 สถานี ผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ ของ 3 จังหวัดแพร่-พะเยาเชียงราย มีอุโมงค์ 3 แห่ง อุโมงค์แรก อ.สอง จ.แพร่ ยาว 6.4 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในประเทศ อุโมงค์ ที่สอง อ.เมืองพะเยา 2.8 กิโลเมตร และอุโมงค์สุดท้าย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย 3.6 กิโลเมตร