- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Monday, 31 October 2016 23:17
- Hits: 7174
สนข. จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเชื่อมต่อระบบบัตร Easy Pass และบัตร M-Pass ภายใต้ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System: ETCS) ร่วมกัน ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในพิธี การเปิดใช้งานและพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเชื่อมต่อระบบบัตร Easy Pass และบัตร M-Pass ภายใต้ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System: ETCS) ร่วมกันระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง (ทล.) เมื่อวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2559 ณ อาคารสโมสร กระทรวงคมนาคม โดยมีนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) และนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง ธนาคารกรุงไทย แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน เข้าร่วมในพิธีลงนามฯ ดังกล่าว
นายอาคมฯ เปิดเผยว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ หรือ ระบบ ETC บนทางพิเศษ โดยใช้ชื่อเรียกบริการดังกล่าวว่า Easy Pass โดยเริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ปัจจุบันได้เปิดให้บริการบนทางพิเศษทั้งหมด รวม 7 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (ทางด่วนสายบางพลี-สุขสวัสดิ์) ทางพิเศษ บูรพาวิถี (ทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี) ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) และทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ต่อมากรมทางหลวงได้ติดตั้งระบบ ETC บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ บนทางหลวงหมายเลข 9 (บางปะอิน-บางนา) ในปี 2556 และบนทางหลวงหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ในปี 2557 โดยใช้ชื่อเรียกบริการดังกล่าวว่า ‘M-Pass’ ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ค่าผ่านทางและเกิดความสะดวกต่อประชาชนผู้ใช้บริการทางพิเศษ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) ในการชำระค่าบริการ ให้สามารถใช้บัตรเพียงใบเดียว และสามารถวิ่งผ่านช่องเก็บเงินบนระบบ Easy Pass และ M-Pass ได้
นายอาคมฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคม จึงมีนโยบายการพัฒนาการเชื่อมต่อระบบ ETC ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (Easy Pass) และกรมทางหลวง (M-Pass) โดยได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาระบบบริหารบัตร M-Pass และบัตร Easy Pass ภายใต้ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติร่วมกัน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และธนาคารกรุงไทย โดยมี สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมเป็นพยาน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 ณ กระทรวงคมนาคม ซึ่งจากการศึกษาระบบบริหารบัตร M-Pass และบัตร Easy Pass ภายใต้ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติร่วมกัน ได้ข้อสรุปแนวทางการบริหารจัดการระบบ ETC ร่วมกันคือในระยะแรก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวงจะเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างระบบของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยบัตรและเงินสำรองค่าผ่านทาง (Float) ต่างแยกกันบริหาร ปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวงได้ดำเนินการปรับปรุงระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติร่วมกันแล้วเสร็จ โดยจะเริ่มเปิด ใช้งานอย่างเป็นทางการภายหลังเวลาเที่ยงคืน (24.00 น.) ของวันที่ 31 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการและการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปอย่างถูก ต้องและสอดคล้องกับระบบ ETC ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและกรมทางหลวง เมื่อสามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์
นายอาคมฯ กล่าวตอนท้ายว่า การเปิดใช้งานระบบบัตร Easy Pass และบัตร M-Pass ภายใต้ระบบ เก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติร่วมกัน นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ สามารถใช้บัตรเพียงใบเดียว และวิ่งผ่านช่องเก็บเงินบนระบบ Easy Pass และ M-Pass ได้ อันจะนำมาสู่ความสะดวกสบายในการเดินทางและบริการที่ดีต่อประชาชนผู้ถือบัตรผ่านทางดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบตั๋วโดยสาร (ระบบตั๋วต่อ ตั๋วร่วม) มาใช้เพื่อ การเดินทาง ที่จะเชื่อมโยงทุกระบบของการเดินทางไว้ในบัตรเดียวกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางและชำระเงิน รวมทั้งสามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดเวลา และเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางของประชาชน