- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 30 July 2014 23:25
- Hits: 3406
คสช.อนุมัติกรอบแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมปี 58-65 รวม 4 ด้าน 5 แผนงาน
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในวันนี้ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระยะ 8 ปีในระหว่างปี 58-65 โดยมุ่งเน้นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม 2.การสร้างมาตรฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2.การสร้างโอกาสสำหรับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน และ 4.เสริมสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง
ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย แผนพัฒนา 5 แผนงาน ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 2.การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3.การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 4.การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และ 5.การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ กำหนดระยะเร่งด่วนปีงบประมาณ 57-58 เพื่อเชื่อมโยงประตูการค้าของประเทศ และพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต และสนามบินอู่ตะเภาที่จะใช้ในเชิงพาณิชย์
นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอต่อที่ประชุม คสช.ถึงโครงการเร่งด่วน คือ รถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางจิระ(โคราช)-ขอนแก่น ซึ่งผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)แล้ว 2.เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 3.เส้นทางนครปฐม-หัวหิน 4.เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ 5.เส้นทางมาบกะเบา-จิระ(โคราช) และ 6.เส้นทางหัวหิน - ประจวบฯ รวมระยะทาง 887 กิโลเมตร ใช้งบประมาณราว 127,472 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ จะเพิ่มโครงการรถไฟทางคู่เส้นใหม่อีก 2 เส้นทางที่ได้ปรับมาจากโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยจะใช้รางมาตรฐานขนาด 1.435 เมตร และใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งต่ำกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยจะเริ่มก่อสร้างใน 2 เส้นทางก่อน คือ 1.เส้นทางหนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด รวมระยะทาง 737 กปิโลเมตร ใช้งบประมาณ 392,570 ล้านบาท และ 2.เส้นทางเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี-แหลมฉบัง รวมระยะทาง 655 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 348,890 ล้านบาท
นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงทางหลวงให้เป็น 4 ช่องจราจรทั่วประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับการค้าชายแดนด้วย
"ในระยะเร่งด่วนเราจะทำรถไฟทางคู่ที่เป็นทางรถไฟเดิมที่รางกว้าง 1 เมตร และจะมีทางคู่ที่เป็นรางมาตรฐานโลกขนาด 1.435 เมตร เป็นการต่อยอดจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ สนข.ได้ศึกษาไว้ โดยกลับมาทบทวนแบบและใช้ความเร็วแค่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตรงนี้จะเป็นการขนทั้งคนและสินค้า และจะเป็นทางเชื่อมขึ้นไปทางเหนือ จีน ลาว และยังลงมาเชื่อมต่อทางมาเลเซีย และสิงคโปร์ได้" ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าว
นางสร้อยทิพย์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม คสช.ยังได้อนุมัติจัดตั้งคณะทำงานในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการในระยะเร่งด่วนปี 57-58 ซึ่งจะมีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.เป็นประธาน โดยมีกรอบเวลาการทำงาน 30 วัน
"คิดว่างบประมาณคงหามาจากในประเทศ ประมาณ 15 วันน่าจะได้ข้อสรุปแล้ว ถ้าหากสรุปได้ก็จะก่อสร้างได้ในต้นปีหน้า และคาดว่าไม่เกิน 4 ปีนี้โครงการก็จะเสร็จ" ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุ
นอกจากนี้ จะมีการสั่งซื้อหัวรถจักรและโบกี้โดยสารรถไฟเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคา คาดว่าจะได้รับมอบหัวรถจักรและโบกี้โดยสารในเดือนส.ค.57 ซึ่งจะนำมาใช้ในเส้นทางฉะเชิงเทรา-แหลมฉะบัง รวมทั้งจะมีการสั่งซื้อหัวรถจักรใหม่ ซึ่งเป็นการได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ที่ตรวจสอบแล้วเห็นว่าการซ่อมบำรุงไม่คุ้มค่าในช่วง 3 ปีนี้ จำนวน 50 หัวรถจักร และให้เปลี่ยนไปซื้อหัวรถจักรใหม่ที่คาดว่าจะซื้อได้ราว 36-37 หัวจักร โดยใช้งบประมาณเดียวกันจำนวน 3,056 ล้านบาท รวมทั้งจะมีการปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณมาเป็นระบบไอที ซึ่งจะมีความปลอดภัยสูงขึ้น
ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวด้วยว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ได้เตรียมพร้อมโครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี, สายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยได้เตรียมแผนจะนำเสนอต่อ คสช.ไว้แล้ว ขณะที่สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย(บางซื่อ-ท่าพระ/หัวลำโพง-บางแค) มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปมากแล้ว ส่วนสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ คาดว่าปลายปี 58 จะเริ่มทดลองวิ่ง 6 เดือน จากนั้นจึงจะให้บริการได้
อินโฟเควสท์