- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 06 October 2016 23:14
- Hits: 5851
กทพ. ได้รับความเห็นชอบจาก คนร. ให้นำโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง- วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ระยะทาง 19 กม. งบประมาณ 32,000 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ผลการศึกษาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เหลือแต่การออกแบบรายละเอียดโครงการ ซึ่งขณะนี้คืบหน้ากว่า 80% แล้ว ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำลังพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างการใช้เงินกู้และการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยภายในสิ้นปีนี้จะสามารถเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ และคาดการณ์ว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ในระหว่างเมษายน-พฤษภาคม 2560 ทั้งนี้ ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เห็นชอบให้โครงการทางด่วนสายนี้เข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)
นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวในรายละเอียดว่า หลักการสำคัญตามแนวคิดในการสร้างความโปร่งใสสำหรับโครงการก่อสร้างภาครัฐขององค์กร CoST คือการจัดให้มีระบบการเปิดเผยข้อมูล ที่เข้าถึงได้และเข้าใจได้โดยง่าย และการจัดให้มีระบบในการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มความคุ้มค่าและการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ ก่อสร้างภาครัฐ โดยผลการดำเนินการของ กทพ. สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง- วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก นั้น คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้มีข้อสังเกต ในการประชุมคณะกรรมการ กทพ. ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 ให้นำโครงการฯ เข้าร่วมโครงการ CoST และต่อมา กทพ. ได้มีหนังสือแจ้ง สคร. เพื่อขอนำโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครเข้าร่วมโครงการ CoST และ สคร. ได้มีหนังสือแจ้ง กทพ. ว่าคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เห็นชอบให้ เข้าร่วมโครงการ และล่าสุด กทพ. ได้มีคำสั่งการทางพิเศษที่ 284/2559 ลงวันที่ 26 กันยายน 2559 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)
นายณรงค์ฯ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ กทพ. ต้องเร่งผลักดันโครงการดังกล่าวเนื่องจากปัจจุบัน ทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณดาวคะนองเป็นเส้นทางหลักสายหนึ่งในการเดินทางเข้าใจกลางเมืองโดยต้องผ่านสะพานพระราม 9 เพียงสะพานเดียว ส่งผลให้มีปริมาณการจราจรหนาแน่นมาก และสะพานมีอายุการใช้งานนานกว่า 30 ปี หากต้องปิดซ่อมเพื่อปรับปรุงจะส่งผลกระทบด้านการจราจรอย่างมาก ดังนั้น โครงการนี้จะสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพระราม 9 เดิม ถือเป็นสะพานสำรองกรณีต้องปิดซ่อมและเพื่อเป็นการรักษาอายุการใช้งานของสะพานพระราม 9 รวมถึงแบ่งเบาการจราจรอีกด้วย ประกอบกับโครงการมีปัญหา การเวนคืนที่ดินค่อนข้างน้อยเพียงแค่ 6 ไร่ จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนไม่มากเนื่องจากใช้ที่ดินเดิมของ กทพ. รวมทั้งยังลดปัญหาการจราจรบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ถนนพระราม 2 และบริเวณใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี
“สำหรับ แนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นที่ กม.10+700 ถนนพระราม 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรสร้างซ้อนทับบนทางด่วนขั้นที่ 1 จนถึงถนนพระราม 3 ใกล้แยกต่างระดับบางโคล่และบรรจบกับ ทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะสร้างสะพานใหม่ขนานกับสะพานพระราม 9 ขนาด 8 ช่องจราจร ใช้เวลา 39 เดือน วางแผนเริ่มก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2560-กรกฎาคม 2563” นายณรงค์ฯ ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวในท้ายที่สุด