- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 24 July 2014 09:46
- Hits: 2949
คมนาคม เบรกรถไฟยกที่ล้างหนี้คลังเร่งแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์เล็งทบทวนสัญญาเช่าปตท.
ไทยโพสต์ : ราชดำเนิน * 'สร้อยทิพย์'เบรกแผนยกที่ให้คลังบริหารล้างหนี้รถไฟ ชี้เป็นแค่แนวคิดของอดีตผู้ว่าฯ ยังไม่เคยเสนอขออนุมัติจากบอร์ด สั่งทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เกิดเป็นรูปธรรม คำนึงถึงประโยชน์ของ ร.ฟ.ท.เป็นหลัก พร้อมเล็งรื้อค่าเช่าที่ดิน ปตท.ชี้ต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพของพื้นที่
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีแนวคิดที่จะนำที่ดินบริเวณโรงงานมักกะสัน 497 ไร่ และที่ดินสถานีรถไฟแม่น้ำ บริเวณช่องนนทรี 277 ไร่ โดยให้กระทรวงการคลังเข้ามาพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อแลกกับการล้างหนี้สะสมของ ร.ฟ.ท.กว่า 8 หมื่นล้านบาท ว่า จากการศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ พบว่าเรื่องนี้เป็นแนวคิดของ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. แต่ไม่เคยมีการเสนอเรื่องนี้เพื่อขออนุมัติเป็นมติจากคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. ดังนั้นนโยบายในเรื่องนี้อาจต้องมีการทบทวน แต่ในหลักการนั้นจะดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ของ ร.ฟ.ท.เป็นหลัก
"ก่อนหน้านี้ได้มอบนโย บายให้บอร์ด ร.ฟ.ท. เร่งรัดจัดทำแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ ในการสร้างรายได้จากทรัพย์สินและที่ดินของ ร.ฟ.ท. เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม และสิ่งสำคัญจะต้องเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด โดยเฉพาะการบริหารจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย การกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินจะต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ดังนั้นพื้นที่ใดมีการจัดเก็บค่าเช่าที่ต่ำเกินไปจะต้องพิจารณาปรับให้เหมาะสม เชื่อว่าการดูแลจัดเก็บรายได้และอุดจุดรั่วไหลต่างๆ จะทำให้ ร.ฟ.ท. มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่จัดเก็บได้เพียงปีละ 1,600 ล้านบาทเท่านั้น" นางสร้อยทิพย์กล่าว
นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่า กรณีการเช่าที่ดินของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พื้นที่ 24 ไร่ และได้สิ้นสุดสัญญาไปแล้วตั้งแต่ 31 มี.ค.2556 และมีการต่อสัญญาอีก 30 ปี โดย ร.ฟ.ท.ขอเก็บค่าเช่า 1,792 ล้านบาท แต่ ปตท.ขอจ่าย 800 ล้าน ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปนั้น และต้องไปดูในรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ก่อน โดยเน้นในหลักการแล้ว การกำหนดอัตราค่าเช่าจะต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนี้อาจเทียบเคียงได้กับพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เป็นต้น
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานบอร์ด ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการนำที่ดิน ร.ฟ.ท.ไปแลกหนี้ เนื่องจากเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ด ขอเวลาในการ พิจารณารายละเอียดทั้งข้อดี-ข้อเสียก่อน แต่หลังจากนี้จะให้ ความสำคัญเรื่องการพัฒนา ที่ดินเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งจะ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ ร.ฟ.ท. เนื่องจากในปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ประ สบกับการขาดทุน ขณะนี้ได้สั่งให้ฝ่ายบริหาร ร.ฟ.ท.ส่งแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ฉบับเดิมมาให้พิจารณาก่อน ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากเหมาะสมจะให้เดินหน้าต่อได้ หากเห็นว่ายังไม่เหมาะสมก็ต้องมาจัดทำแผนใหม่ทั้งหมด
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ 234,976.96 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินเพื่อการเดินรถ 198,674.71 ไร่ ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ 36,302.18 ไร่ ในส่วนของที่ดินเชิงพาณิชย์แบ่งเป็นที่ดินที่มีศักยภาพต่ำ 21,536.80 ไร่ ปานกลาง 7,218.12 ไร่ และสูง 7547.26 ไร่ ส่วนที่ดินที่มีศักยภาพสูงที่นำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้มี 3 แปลง คือ 1.ที่ดินย่านมักกะสัน พื้นที่ 512 ไร่ มูลค่าที่ดิน 55,816 ล้านบาท 2.ที่ดินย่านพหลโยธิน บริเวณ กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ มูลค่าที่ดิน 18,370 ล้านบาท และ 3.ที่ดินย่านสถานีแม่น้ำ พื้นที่ 277 ไร่ มูลค่าที่ดิน 10,413 ล้านบาท เฉพาะพื้นที่ 3 แปลงนี้มีมูลค่ารวม 84,599 ล้านบาท.