- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Sunday, 08 May 2016 10:55
- Hits: 3805
ครม.เคาะรถไฟทางคู่อีก 1 เส้น เดินหน้าตามแผนทันกำหนด
บ้านเมือง : กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการก่อสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าแต่ละหน่วยงานก็ได้มีการเร่งรัดโครงการ ให้เห็น เป็นรูปธรรมอยู่หลายหน่วยงาน โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าการอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ ของการรถไฟ แห่งประเทศไทย (รฟท.) มานำเสนอ
โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมได้อนุมัติการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ช่วงประจวบศีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 17,249.90 ล้านบาท ทั้งนี้ จะใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี ระหว่างปี 2559-2562 อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไปจากนี้ รฟท.เตรียมเปิดประมูลและเคาะราคาโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค.59 โดยวิธีประมูลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และจะเริ่มก่อสร้างโครงการได้ภายในเดือน ก.ย.59
"หลังจากนี้ รฟท.จะเปิดร่างประกวดราคาและเงื่อนไข (ทีโออาร์) โครงการรถไฟทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ในเว็บไซด์ของ รฟท.เพื่อเปิดรับฟัง ความคิดเห็นระยะเวลา 5-7 วัน หากไม่มีผู้คัดค้าน รฟท.ก็จะเปิดขาย ซองประกวดราคา และให้ยื่นซองประมูลได้ประมาณปลายเดือน พ.ค.นี้ และหลังจากการเริ่มก่อสร้างโครงการก็จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยตั้งเป้า จะแล้วเสร็จในปี 2562"
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะเสนอขออนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ที่เหลืออีก 4 โครงการ ระยะรวม 535 กิโลเมตร โดยมีวงเงินลงทุน 85,055.60 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบาชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,667.66 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมครม.ได้ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค.59 ซึ่งในเส้นทางดังกล่าวได้ผ่านผลการศึกษา EIA เรียบร้อย ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 ทั้งนี้ ในส่วนของ 3 เส้นทางประกอบด้วย โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 20,145.03 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2562/ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 24,940.96 ล้านบาท แล้วเสร็จ ปี 2563
และ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบศีรีขันธ์ระยะทาง 90 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 10,301.95 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2562 ซึ่งโครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์นั้นอยู่ในกลุ่มของโครงการระยะที่ 2 แต่กระทรวงคมนาคมดึงมาดำเนินการเพื่อให้เส้นทางนี้เชื่อมต่อจากโครงการระยะแรก โดยขณะนี้รอนำเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เห็นชอบรายงานการจัดทำด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในต้นเดือน พ.ค. ซึ่งทั้ง 4 เส้นทางกระทรวงคมนาคม
เตรียมที่จะเสนอในเดือน พ.ค.นี้ ได้ทั้งหมด สำหรับ โครงการรถไฟทางคู่ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกำกับดูแลนั้น มีทั้งหมด 7 โครงการ ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 136,931.37 ล้านบาท และที่ผ่านมาได้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว 2 เส้นทาง โดยมีระยะทางรวมทั้ง 2 เส้นทาง 291 กิโลเมตร โดยมีวงเงิน ลงทุน 2 เส้นทาง อยู่ที่ 34,625.87 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางประกอบด้วย โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วง แก่นคอย-ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 106 กิเมตร วงเงินลงทุน 10,549.97 ล้านบาท มีความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างประมาณ 0.45% ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2562 และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 24,075.90 ล้านบาท ความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างประมาณ 0.62% ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2562
นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังมีแผนเพิ่มเติมอีก 2 เส้นทาง ที่เหลือเป็นโครงการที่ รฟท.จะดำเนินการก่อสร้างเป็นรถไฟทางเดียว ขนาดรางกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) เพื่อให้เส้นทางรถไฟปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อกันได้ทั่วประเทศ ประกอบ 1.สายบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง347 กม. วงเงิน 66,000 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางครอบคลุม 5 จังหวัด คือ จ.ขอนแก่น (จุดเริ่มต้นเส้นทางที่ อ.บ้านไผ่) มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และนครพนม รวมจำนวน 14 สถานี
2.สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. วงเงิน 77,486 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเก่าที่เคยบรรจุไว้ในแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563 วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จ.แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย รวม 26 สถานี โดยทั้ง 2 สายทางนี้คาดว่าจะสามารถเสนอรายงาน EIA ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาภายในเดือน มิ.ย.นี้
ซึ่งก่อนหน้านี้ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า รฟท.ยังเตรียมเสนอโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่อีก 2 เส้นทางเสนอให้กระทรวงฯ พิจารณาเพื่อสานงานให้ต่อเนื่อง คือช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กม. ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. ประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท หากเข้า ครม.และได้รับความเห็นชอบการรถไฟฯ ก็จะสามารถเปิดประกวดราคาได้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนหลัง ครม.อนุมัติ โดยทางคู่ 4 เส้นทางแรก เชื่อว่าจะได้เซ็นสัญญาภายในปีนี้ ส่วนทางคู่หัวหิน-ประจวบฯ และสายบ้านไผ่-นครพนม กับสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มั่นใจว่าจะได้เปิดประมูลภายในปีนี้เช่นกัน แต่น่าจะเซ็นสัญญาได้ในปีหน้า