- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Monday, 02 May 2016 17:59
- Hits: 7831
เดินหน้าจัด Market Sounding ทำความเข้ำใจพัฒนาระบบขนส่งทางราง
บ้านเมือง : กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล การลงทุนโครงการพื้นฐาน ด้านคมนาคม ได้มีการติดตามความคืบหน้าการจัดสัมมนา หรือ Market Sounding ในโครงการพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ที่ในอนาคตจะกลายจะมีการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางรองรับการเดินทางให้กับประชาชน วันนี้ จะขอเสนอความคืบหน้า
โดยเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาทดสอบความสนใจนักลงทุน หรือ Market Sounding ที่จะลงทุนระบบเชื่อมต่อ การเดินทางบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธินบริเวณบางซื่อ บนพื้นที่ 2,325 ไร่ โดยโครงการดังกล่าวจะกลายเป็นศูนย์กลางกรุงเทพมหานครในอนาคต จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อรองรับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนตามแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 10 สายทาง โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อ ที่เป็นศูนย์กลางเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สำคัญที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่า จะเสร็จปี 2562 และการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองด้วยรูปแบบการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกด้านการเดินทางให้กับประชาชน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวจะเป็นจุดศูนย์กลางในการเปลี่ยนถ่ายระบบขนส่งสาธารณะให้กับประชาชน โดยเฉพาะภาคการขนส่งทางราง
"โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำเนินการศึกษาและออกแบบเบื้องต้นการพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธิน เพื่อรองรับการพัฒนา ระบบขนส่งมวลชนตามแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 10 สายทาง โดยเฉพาะสถานีรถไฟกลางบางซื่อที่เป็นศูนย์กลางเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่ สำคัญที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2561 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ทำให้การพัฒนาการบริการระบบขนส่งมวลชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ"
สำหรับ การทดสอบความสนใจนักลงทุน 2 ส่วน ประกอบด้วย การลงทุนทางเดินเท้าทั้งแบบเหนือดินและบนดิน โซน D พื้นที่ 80 ไร่ ระหว่างสถานีระบบขนส่งทางรางต่างๆ ตลอดจนสถานีขนส่งย่อยของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดยทางเดินเท้า เชื่อมต่อแบบเหนือดิน (Skywalk) ที่เชื่อมต่อหลักกับสถานี กลางบางซื่อ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร จะมีระยะทางรวมประมาณ 1.3 กิโลเมตร ทางเดินเชื่อมต่อระดับดินไปยังสถานีย่อย บขส.มีระยะทางรวมประมาณ 1.4 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนรวมของโครงสร้างการเชื่อมต่อการเดินทางกว่า 1,000 ล้านบาท และประเมินว่า หากรวมมูลค่าการพัฒนาพื้นที่โซน D เต็มศักยภาพประมาณ 1 ล้านตารางเมตร ก็จะมีมูลค่าการลงทุนรวมสูงกว่า 20,000 ล้านบาท
ส่วนที่ 2 คือ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองด้วยรูปแบบ การเดินรถบีอาร์ที พร้อมศูนย์ซ่อมบำรุงเนื้อที่กว่า 7 ไร่ เพื่อเชื่อมการเดินทาง ภายในศูนย์คมนาคมพหลโยธินเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีจุดขึ้นลง ทั้งหมด 16 สถานี ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับระบบขนส่งหลักและ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สำคัญพื้นที่ 2,325 ไร่ มีรูปแบบเป็นเลนแยกเฉพาะ ที่มีเอกสิทธิ์ในการจราจรก่อนระบบอื่นในพื้นที่ ระยะทางรวมประมาณ 10 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1,700 ล้านบาท ส่วนขั้นตอน ต่อไปการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่จะต้องนำเสนอโครงการ เพื่อขออนุมัติการร่วมทุนกับเอกชนจะต้องผ่านกระบวนการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2556 (พีพีพี.) และจะเป็นผู้ประกาศให้เอกชนร่วมลงทุนลักษณะการให้สิทธิเอกชนระยะยาวในการใช้พื้นที่ และการร่วมหุ้น กับเอกชน (Joint Venture)
อย่างไรก็ตาม หลังจากได้เปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและนักลงทุนแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ไปประกอบผลการศึกษาโครงการฯ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่ www.phahonyothincenter.com
ในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธินแล้วเสร็จ จะส่งผลให้พื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทาง ด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับการเดินทางด้วยระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูง ในอนาคต