- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Sunday, 20 March 2016 12:48
- Hits: 2020
รฟท.ปรับธุรกิจบริการสากล อนาคตเปลี่ยนระบบเป็นระบบไฟฟ้าบริการทางคู่ราง 1 เมตร
บ้านเมือง : รฟท. เพิ่มแผนลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร อีก 2 เส้นทาง วงเงิน 1.43 แสนล้าน คาด เปิดประมูลในปลายปีนี้ พร้อมนำ โครงการรถไฟทางคู่ 7 เส้นทางเสนอต่อกระทรวงคมนาคมในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อจะเสนอต่อ ครม.เพื่ออนุมัติโครงการ เผยเป้าอนาคต 10 ปี บริการรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตรได้ทั่วประเทศ สร้างรายได้จากการขนส่งสินค้าเพิ่ม 20-30%
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย ในงานแถลงการจัดกิจกรรม 119 ปี การรถไฟฯ จากอดีตถึงปัจจุบัน ก้าวสู่อนาคต ว่า รฟท.ได้เพิ่มการวางแผนลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร เพิ่มอีก 2 เส้นทาง คือ เส้นทาง แยกเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. วงเงินลงทุน 7.7 หมื่นล้านบาท และเส้นทาง บางไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กม. วงเงินลงทุน 6.6 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินประมาณ 1.43 แสนล้านบาท หลังจากนายกรัฐมนตรีสนับสนุนเร่งดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยใช้มาตรา 44 เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินการรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ 2 เส้นทางใหม่นี้อยู่ระหว่างการออกแบบและเตรียมทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และคาดว่าจะเปิดประมูลในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่ 4 เส้นทางเดิมคาดว่าจะเปิดประมูลและได้ผู้รับเหมาก่อสร้างภายในปีนี้ โดยเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางจิระ และเส้นทางประจวบ-ชุมพร ทั้ง 2 โครงการ ได้ผ่านการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ และใช้เวลาดำเนินการในขั้นตอน ดังกล่าวภายใน 3 เดือนจากนี้ หรือภายในไตรมาส 2/59
ส่วนเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ และนครปฐม-หัวหิน อยู่ระหว่างรอผลอนุมัติ EIA ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/59 ขณะที่เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. ได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อย กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการทำ EIA ซึ่งคาดว่าอาจจะทันเปิดประมูลภายในปีนี้
นายวุฒิชาติ กล่าวว่า รฟท.จะนำเรื่องโครงการรถไฟ ทางคู่ 7 เส้นทางเสนอต่อกระทรวงคมนาคมในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อจะเสนอต่อครม.เพื่ออนุมัติโครงการ โดยการดำเนินงานคู่ขนานระหว่างรอผล EIA จะทำให้การดำเนินงานแต่ละโครงการรวดเร็วขึ้น แต่ในสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาจะต้องรับความเสี่ยงข้อนี้หากผลการศึกษา EIA ไม่ผ่านโครงการนั้นก็ต้องยกเลิก หรือประเด็น EIA จะไม่มีข้อผูกพัน ทั้งนี้แหล่งเงินทุนโครงการรถไฟทางคู่จะมาจากเงินกู้
"เราจะส่งเรื่องรถไฟทางคู่ทั้ง 7 เส้นทางเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมในเดือน มี.ค.นี้ คิดว่าทั้ง 7 เส้นทางน่าจะดำเนินการเสร็จภายในปีนี้ เรื่อง ม.44 ไม่ได้มาบีบเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เชื่อว่าการใช้ ม.44 จะทำให้การดำเนินโครงการใช้ระยะเวลาเร็วขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ จึงให้เราสามารถทำงานหลายเรื่องพร้อมกันในคราวเดียวกัน และจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน" นายวุฒิชาติ กล่าว
นายวุฒิชาติ กล่าวว่าใน 10 ปีข้างหน้าหาก รฟท.เปิดให้บริการรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตรได้ทั่วประเทศ คาดว่าจะสร้างการเติบโตให้กับ รฟท. โดยจะมีรายได้จากการขนส่งสินค้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 20-30% จากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 3% โดยการขนส่งทางรถไฟจะช่วยส่งตรงเวลาและไม่ต้องกังวลปัญหาจราจร ส่วนรายได้จากการเดินรถคงให้กำไรน้อยเพราะจะขึ้นอัตราค่าโดยสารมากไม่ได้
นอกจากนี้ คาดว่าภายในปลายเดือน มี.ค.นี้ รฟท.จะ สามารถลงนามโครงการรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต สัญญา 3 ที่เป็นงานวางราง และระบบรถไฟฟ้า ก่อนหน้า ครม. อนุมัติเพิ่มกรอบเงินลงทุนรถไฟสีแดง สัญญา 3 จาก 2.56 หมื่นล้านบาท เป็น 3.23 หมื่นล้านบาทส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และ เส้นทาง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง จะนำเข้าคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ได้ไม่เกินเดือน เม.ย.นี้
นอกจากนี้ รฟท.ได้ปรับปรุงภาพลักษณ์การเดินรถโดยสาร โดยได้ลงทุนเปลี่ยนหัวรถจักร โดยได้จัดซื้อแล้ว 50 คัน และเช่าอีก 120 คัน ซึ่งจะทยอยรับมอบได้ครบภายใน 2 ปีนี้ และเห็นว่าอีก 5 ปี ระบบการเดินรถไฟจะเป็นระบบไฟฟ้า จะไม่ใช้ดีเซล จึงใช้วิธีเช่าหัวรถจักร ซึ่งจะรวมค่าซ่อมบำรุงด้วย รวมทั้ง รฟท.ปรับรถโดยสารเป็นรถโดยสารแบบปรับอากาศ ซึงได้สั่งซื้อมา 115 ตู้ เงินลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท เริ่มทยอยรับมอบในเดือน พ.ค.นี้ และจะเริ่มใช้ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ก่อนที่จะกระจายไปเส้นทางทุกภูมิภาค
รฟท.ชงครม.ทำ'ทางคู่'4 หมื่นล้าน ทั้งประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ
แนวหน้า : การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้จัดงานวันสถาปนากิจการรถไฟเข้าสู่ปีที่ 119
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯร.ฟ.ท. กล่าวถึงผลดำเนินงานร.ฟ.ท.ถึงความคืบหน้าการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดซื้อ 50 คัน วงเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท และ เช่าหัวรถจักรอีก 120 คัน โดยหัวรถจักร 20 คันแรกกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการทางพัสดุแล้ว
นอกจากนี้ จะมีการเสนอการ สร้างรถไฟทางคู่ใหม่รวม 5 เส้นทาง เพิ่มจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างไปแล้ว 2 เส้นทาง โดยเส้นทางใหม่ได้แก่ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร มูลค่า 17,290 ล้านบาท และเส้นทางมาบกะเบา(สระบุรี)-ชุมทางถนนจิระ(นครราชสีมา) ระยะทาง 132 กิโลเมตรมูลค่า 29,853 ล้านบาท จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาภายในเดือนมี.ค.นี้
ส่วนเส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร มูลค่า 20,036 ล้านบาท และเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร มูลค่า 24,842 ล้านบาท และเส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร มูลค่า 9,437 ล้านบาท อยู่ระหว่างสรุปรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยตั้งเป้าเปิดประมูลในเส้นทางทั้งหมดภายในปีนี้ และหากดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้การรถไฟฯมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 10% ส่วนการเดินหน้าโครงการรถไฟความ เร็วสูงช่วง กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ- ระยอง จะนำเข้าโครงการ PPP Fast Track ได้ไม่เกินเดือน เม.ย.นี้
ในส่วนของความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ในส่วนของสัญญา 3 ที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถและระบบอาณัติสัญญาณมูลค่า 32,000 ล้านบาท ซึ่งจะพยายามเร่งรัด เปิดประกวดราคาและการลงนามในสัญญา ให้แล้วเสร็จภายในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้
ส่วนกรณีของการใช้ ม.44 ในการ ดำเนินการในโครงการใหญ่ของการรถไฟฯ มีส่วนช่วยให้สามารถดำเนินงานต่างๆ ควบคู่กับการรอผลพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ของโครงการ โดยโครงการ ของการรถไฟฯที่ยังดำเนินการ ได้ค่อนข้างช้าเนื่องจากต้องดำเนินการตามขั้นตอน ทางการรถไฟฯก็สามารถดำเนินการ ในหลายๆ เรื่องพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกันได้ เชื่อว่าจะมีทิศทางในการดำเนินงาน มีความรวดเร็วมากขึ้น และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
นอกจากนี้ จะเสนอคณะกรรมการ การรถไฟฯให้พิจารณาเกี่ยวกับข้อจำกัดในการรับพนักงานเพิ่ม คาดว่าจะดำเนินการรับพนักงานเพิ่มได้ตามความต้องการจริงภายใน 3-5 ปี โดยจะเป็นการรับพนักงานในส่วนที่มีความจำเป็นและขาดแคลน เช่น วิศวกรโยธา เป็นต้น
ร.ฟ.ท.ผุดรางคู่เพิ่ม 2 สาย'วุฒิชาติ'แจงปรับนโยบายเลิกซื้อหัวรถจักรเน้นเช่าแทน
ไทยโพสต์ : หัวลำโพง * 'วุฒิชาติ' ขานรับนายกประยุทธ์ ดันสร้างรถไฟรางคู่เพิ่มอีก 2 เส้นทาง 1.4 แสนล้านบาท เร่งเปิดประมูลอีก 4 เส้นทางเดิม ภายในปี 59 พร้อมแจงเปลี่ยนนโยบายจากซื้อเป็นเช่าหัวรถจักร อ้างอีก 5 ปี เลิกใช้ดีเซล
นายวุฒิชาติ กัลยาณ มิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.ได้เพิ่มการลงทุนโครงการรถไฟรางคู่อีก 2 เส้นทาง คือเส้นทางแยกเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม.วงเงินลงทุน 7.7 หมื่นล้านบาท และเส้นทาง บางไผ่-นครพนม ระยะทาง 347 กม.วงเงินลงทุน 6.6 หมื่นล้าน บาท รวมวงเงินประมาณ 1.43 แสนล้านบาท หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนให้เร่งดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้มาตรา 44 เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินการรวดเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ทั้งนี้ 2 เส้นทางดังกล่าวอยู่ระหว่างการออกแบบ และเตรียมทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าจะเปิดประมูลในปลายปี 2559 หรือต้นปี 2560
สำหรับ ความคืบหน้าโครงการรถไฟรางคู่ทั้ง 4 เส้นทางนั้น คาดว่าภายในปี 2559 นี้ จะเปิดประมูลและก่อสร้างโครงการได้ โดยเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางจิระ และเส้นทางประจวบ-ชุมพร ทั้ง 2 โครงการ ได้ผ่าน อีไอเอแล้ว คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในเร็วนี้ จากนั้นอีก 3 เดือนน่าจะเริ่มประมูลได้ ส่วนเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ และ นครปฐม-หัวหิน อยู่ระหว่าง รอผลอนุมัติอีไอเอ ของคณะกรรม การสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ขณะที่เส้นทางหัวหิน-ประ จวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. ได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อย กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการทำ อีไอเอ ซึ่งคาดว่าอาจจะทันเปิดประมูลภายในปีนี้
"ภายในเดือน มี.ค.นี้ ร.ฟ.ท. จะนำเรื่องโครงการรถไฟทางคู่ 7 เส้นทางเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอต่อ ครม. พิจารณาอนุมัติโครงการ โดยจะ ดำเนินงานคู่ขนานไปกับการรอผลอีไอเอ เพื่อให้การดำเนินงาน ของแต่ละโครงการรวดเร็วขึ้น ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และเส้นทาง กรุงเทพฯ-พัทยา- ระยอง จะนำเข้าคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจ การของรัฐ (PPP) ได้ไม่เกินเดือน เม.ย.นี้ "นายวุฒิชาติกล่าว
นายวุฒิชาติ กล่าวว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าหาก ร.ฟ.ท.เปิดให้บริการรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตรได้ทั่วประเทศ จะสร้างการเติบโตให้กับ ร.ฟ.ท.โดยจะมี รายได้จากการขนส่งสินค้าเพิ่ม สัดส่วนเป็น 20-30% จากปัจจุ บันมีสัดส่วนเพียง 3% และยังช่วยให้การขนส่งทางรถไฟ ตรงเวลาและไม่ต้องกังวลปัญหาจราจร ส่วนรายได้จากการเดิน รถคงให้กำไรน้อยเพราะจะขึ้นอัตราค่าโดยสามารถไม่ได้
สำหรับ ความคืบหน้าการจัดซื้อหัวรถจักรนั้น ร.ฟ.ท.ทำการจัดซื้อแล้ว 50 คัน และล่าสุดได้เปลี่ยนนโยบายจากการจัดซื้อมาเป็นเช่า เนื่องจากเห็นว่า อีก 5 ปี ระบบเดินเป็นระบบไฟฟ้าจะไม่ใช้ดีเซล ประกอบกับการเช่าหัวรถจักรนั้นจะรวมค่าซ่อมบำรุงด้วยโดยล่าสุดได้ทำการเช่าทั้งหมด 120 คันคาดว่าจะทยอยส่งมอบครบภายใน 2 ปี และยังได้สั่งซื้อรถโดยสารปรับอากาศ อีก 115 ตู้มูลค่า 4,000 ล้านบาท เริ่มทยอยรับมอบในเดือน พ.ค.นี้ และจะเริ่มใช้ในเส้นทางกรุง เทพฯ-เชียงใหม่ ก่อนที่จะกระจายไปเส้นทางทุกภูมิภาค.
คมนาคม เพิ่มขนส่งระบบราง หวังลดต้นทุนโลจิสติกส์ จาก 14%เหลือ 10%ใน 8 ปี
แนวหน้า : นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมกล่าวในการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางประเทศไทยครั้งที่ 2 ว่า ในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งของประเทศไทยปี 2558-2565 และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศฉบับที่ 2 ปี 2556-2560 ที่ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศให้เป็นศูนย์กลางการ เชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบภายในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง อาเซียน และเชื่อมตลอดภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงเอเชียใต้ แอฟริกา และยุโรป
ขณะที่ กระทรวงคมนาคมเองได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางที่เป็นระบบขนส่งที่มีต้นทุนต่ำ รองจากระบบการขนส่งทางน้ำ โดยมี เป้าหมายเพิ่มการขนส่งทางรางจากปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้คิดเป็นเพียง 2% เพิ่มเป็น 5% ภายในปี 2565 เพื่อลดต้นทุนด้าน โลจิสติกส์จาก 14% ให้เหลือ 10-12% ภายใน 8 ปี ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ปัจจุบันไทยมีระบบรางรวมระยะ ทางทั้งหมด 4,070 กิโลเมตร คาดว่าเมื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบรางในปัจจุบันแล้วเสร็จจะมีเส้นทางเพิ่มขึ้นอีก 3,000 กิโลเมตร เป็น 7,070 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นการลงทุน 4 ระบบ ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล,ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองกรุงเทพฯ,ระบบรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตรทั่วประเทศ รวมถึงรถไฟขนาดรางมาตรฐานระหว่างประเทศเชื่อมประเทศในอาเซียนและกลุ่มนอกอาเซียน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้เกิดการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาชิ้นส่วน การพัฒนาระบบอาณัติสัญญาณ และการพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์
ขณะที่นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมสนับสนุนและการเตรียมการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงบุคลากรเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้แก่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องระบบราง ขณะที่ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในการบูรณาการงานกระทรวงต่างๆ สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาในการผลิตและการทำงานร่วมกัน
หูกวางเดินแผนลงทุนระบบราง
บ้านเมือง : นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายในงานการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทยครั้งที่ 2 ถึงการผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐานที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่ากระทรวงคมนาคมพร้อมให้การสนับสนุนการผลิตรถไฟฟ้าและใช้อุปกรณ์ชิ้นส่วนในประเทศ โดยตามแผนของกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของประชาชน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนการขับเคลื่อนการลงทุนภาคขนส่งคมนาคมไทย ระหว่างปี 2558-2565 และแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยฉบับที่ 2 ปี 2556-2560 โดยมีการกำหนดบทบาทประเทศให้มีการเชื่อมโยงการขนส่งทุกรูปแบบภายในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง-อาเซียน และเชื่อมต่อประเทศแปซิฟิกถึงเอเชียใต้รวมไปถึงยุโรป ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีการผลักดันระบบขนส่งทางรางถือเป็นรูปแบบการขนส่งต้นทุนต่ำรองจากระบบการขนส่งทางน้ำ โดยมีเป้าหมายเพิ่มการขนส่งทางรางจากปัจจุบัน 2% เป็น 5% ภายในปี 2565 โดยจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ภาคการขนส่งที่ปัจจุบันมียอดการขนส่งถึง 14% ให้เหลือ 10-12% ในระยะเวลา 8 ปี โดยเป็นตามมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ มีการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มากขึ้นจากปัจจุบันระยะทางรวมทั้งสิ้น 4,070 กิโลเมตร จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ3,000 กิโลเมตร รวมเป็น 7,070 กิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าของทางที่มีในปัจจุบัน โดยแยกเป็นรถไฟใน 4 ระบบ ประกอบด้วย 1.ระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2.ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองกรุงเทพฯ 3.ระบบรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตรทั่วประเทศ และ 4.ระบบรถไฟฟ้ารางมาตรฐานเชื่อมโยงระหว่างประเทศในอาเซียนและกลุ่มนอกอาเซียน