- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 12 March 2016 19:34
- Hits: 3273
รฟม.เตรียมดันรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้า ครม.ปลายมี.ค.นี้ หลังลดกรอบวงเงินลงอีก 1.6 พันลบ. คาดเปิดประมูลใน 2-3 เดือน
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดฯ มีมติเห็น ชอบการปรับลดกรอบเงินลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 21.2 กิโลเมตร (กม.) ลงอีก 1,620 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่ปรับลดไปแล้ว 1,028 ล้านบาท หรือเท่ากับปรับลดรวม 2,648 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินลดลงจาก 95,108 ล้านบาท เหลือ 92,460 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปรับลดดังกล่าวไม่กระทบความปลอดภัย แต่อาจไม่คงทนหรือไม่สวยงาม โดยเป็นการปรับประเภทวัสดุบางส่วนเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ฝ้าเพดานเดิมเป็นฝ้าปิดปรับเป็นฝ้าเปลือย ซึ่งสามารถ ลดค่าใช้จ่ายลง 200 กว่าล้านบาท ส่วนผนังสถานีใต้ดินเดิมเป็นกระเบื้องแกรนิตปรับลดเกรดลง หรือฝ้าเพดานสถานีใต้ดินจากความหนา 3 มม. ลดเหลือ 2 มม. รวมถึงชะลอการก่อสร้างศูนย์ซ่อม บำรุงไปอยู่ในเนื้องานส่วนสายสีส้มด้านตะวัน ตก ซึ่งลดค่าใช้จ่ายลงประมาณ 650 ล้านบาท เป็นต้น
"ราคาที่ปรับตามความเป็นจริงตามราคาน้ำมันในปัจจุบัน และจะเสนอครม.หากเห็นชอบประมาณ ปลายเดือนมี.ค.นี้ และคาดว่าจะใช้เวลาในการจัดทำราคากลางและเปิดประมูลได้ภายใน 2-3 เดือน" พล.อ.ยอดยุทธ กล่าว
ด้านรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงินลงทุน 56,691 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงินลงทุน 54,644 ล้านบาท ทางคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ขอความชัดเจนใน 4 ประเด็น คือ รูปแบบระบบรถ, ปรับกรอบวงเงินให้เป็นปัจจุบันและ เหมาะสมมากขึ้น, ปรับลดค่าใช้จ่ายเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sums) และแนววิธีการคัด เลือกเอกชนที่ชัดเจน ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ประกวดราคาในรูปแบบโมโนเรล โดยเป็นสัญญาเดียว เอกชนรายเดียว ก่อสร้างงานโยธา ระบบราง ขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงบริหารการเดินรถและซ่อม บำรุง ซึ่งรูปแบบโมโนเรลมีข้อดีคือสามารถก่อสร้างได้เร็ว ใช้พื้นที่น้อย เพิ่มตู้โดยสาร เพื่อเพิ่ม ความจุผู้โดยสารได้และสามารถไต่ระดับทางลาดได้ดี โดยตามแผนงานที่สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำหนดไว้จะเปิดประมูลในเดือนมิ.ย.2559
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
รฟม. เดินหน้าทำความเข้าใจ ผู้ได้รับผลกระทบรถไฟฟ้าสายสีส้ม
รฟม. เดินหน้าสร้างความเข้าใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบบริเวณสถานีประชาสงเคราะห์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงดินแดง–ประชาสงเคราะห์–ศูนย์วัฒนธรรมฯ...
ตามที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบให้คงแนวเส้นทางเดิมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน–ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แล้วนั้น ส่งผลให้มีประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเข้าร้องเรียนถึงแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในช่วงบริเวณสถานีประชาสงเคราะห์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ทั้งนี้ รฟม. ได้ดำเนินโครงการตามแผนประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชน โดยในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบบริเวณสถานีประชาสงเคราะห์ได้นำทีมกลุ่มที่ปรึกษาโครงการ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกรรมสิทธิ์ที่ดิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ลงพื้นที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและตอบข้อซักถามแก่ประชาชนเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 58 อย่างไรก็ตาม รฟม. ได้ตระหนักถึงผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการฯ จึงกำหนดจัดประชุมกลุ่มย่อยสำหรับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการฯ โดยเฉพาะในช่วงดินแดง–ประชาสงเคราะห์–ศูนย์วัฒนธรรมฯ
จากการสำรวจมี 184 ราย ประกอบด้วย ชุมชนชานเมือง ชุมชนประชาสงเคราะห์ และชุมชนแม่เนี้ยว โดย รฟม. ได้ส่งหนังสือเชิญเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการกำหนดเส้นทางและสถานี ข้อมูลผลกระทบการเวนคืน แนวทางการเยียวยาที่เหมาะสม ขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าทดแทน แผนและขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 26–29 ม.ค. 59 แบ่งการประชุมออกเป็นกลุ่มย่อย 8 กลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละชุมชน ได้แสดงความคิดเห็นหรือซักถามข้อมูลในส่วนที่ตนเองได้รับผลกระทบได้โดยตรงจากเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจนและถูกต้อง ซึ่งการประชุมกลุ่มย่อยจะเป็นการช่วยสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง.
ที่มา : www.thairath.co.th