- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 12 July 2014 22:09
- Hits: 3430
ปลัดคมนาคมเร่งแก้ 3 รัฐวิสาหกิจ ระบุ ขสมก.ขาดทุนสะสม 8-9 หมื่นล้าน ชี้การรถไฟฯถึงจุดวิกฤต
(ที่มา:มติชนรายวัน 12 ก.ค.2557)
แฟ้มภาพ |
ปลัดคค.เร่งแก้ 3 รัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มีรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมจำนวน 13 แห่ง เป็นรัฐวิสาหกิจขาดทุนจำนวน 3 แห่ง คือการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ขาดทุนสะสมรวมหนี้สินอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขาดทุนสะสมรวมหนี้สินประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขาดทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นบริษัทด้านการขนส่ง 2 หน่วยงานแรกนั้นมีแผนฟื้นฟูกิจการอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการหยิบขึ้นมาจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ขสมก.นั้นจะต้องหยิบยกแผนฟื้นฟูที่มีอยู่แล้วมาทบทวนโดยเร่งด่วน เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้การขาดทุนสะสมทะลุขึ้นไปถึงแสนล้านบาทได้ ชี้ขสมก.มีสิทธิล้มละลาย นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า ปัญหาหลักของ ขสมก.คือรายได้ไม่พอรายจ่าย มีรายได้จากประมาณ 300 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่รายจ่ายประมาณ 400 ล้านบาทต่อเดือน หรือเท่ากับว่ามีรายจ่ายเกินกว่ารายได้เกือบ 200 ล้านบาทต่อเดือน ปัจจุบัน ขสมก.มีหนี้ค้างจ่ายทั้งจากหนี้เงินกู้ หนี้ค่าน้ำมันหรือค่าเชื้อเพลิง และหนี้ค่าซ่อม หากไม่รีบยกเครื่องก็อาจจะถึงขั้นล้มละลายได้ ปัญหาหลักของ ขสมก.ส่วนหนึ่งมาจากเครื่องมือทำมาหากินคือตัวรถโดยสารค่อนข้างเก่า เพราะไม่ได้ซื้อรถใหม่มาประมาณ 6-8 ปี แม้นำเสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้วหลายรอบ แต่ก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติ ส่งผลให้ปัจจุบันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษา รวมทั้งค่าซ่อมจำนวนมาก ขณะที่ตัวรถและเครื่องยนต์เก่า ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และส่วนใหญ่เป็นน้ำมันมีราคาแพง หากเปลี่ยนรถใหม่มาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงได้ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก การรถไฟฯถึงจุดวิกฤต นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่าในส่วนของ ร.ฟ.ท.นั้นต้องยอมรับว่าขณะนี้เป็นจุดวิกฤตของ ร.ฟ.ท. โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ล่าสุด กรณีเด็กหญิงถูกฆ่าบนรถไฟนั้นส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นทั้งของประชาชนและพนักงานรถไฟ จึงต้องรีบดำเนินการแก้ไขปัญหา ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องดึงให้ทั้ง 2 มิติเข้าสู่ภาวะปกติ วิธีการจัดการคือจะต้องรีบแผนฟื้นฟูมาปัดฝุ่นปรับปรุงโดยเร็วที่สุด ปัญหาหลักของรถไฟคือไม่ได้ซื้อหัวรถจักรมานานแล้ว ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งาน 20-30 ปี ทำให้หัวจักรเก่าขาดประสิทธิภาพในการทำงาน แม้ว่าที่ผ่านมาได้รับอนุมัติงบประมาณให้ซื้อหัวรถจักรได้และสั่งซื้อไปแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการส่งมอบ ตามแผนล็อตแรกจะเข้ามาจำนวน 2 หัว ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ร.ฟ.ท.ยังมีปัญหาเรื่องอัตราค่าโดยสารไม่ได้ปรับขึ้นราคาตั้งแต่ปี 2529 โครงการล่าช้า-ไม่เข้าใจระเบียบ นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ไม่ค่อยมีการลงทุนใหม่ และหากจะลงทุนก็จะต้องมีภาระกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนและต้องรับภาระดอกเบี้ยเอง ไม่เคยได้รับงบประมาณ ร.ฟ.ท.ยังมีปัญหาเรื่องการดำเนินโครงการล่าช้า เช่น โครงการรถไฟทางคู่ กว่าจะศึกษาและออกแบบต้องใช้เวลาในการดำเนินการนาน เมื่อไม่มีการพัฒนาโครงการใหญ่ๆ ต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ทำให้ไม่เข้าใจกฎระเบียบ แต่ในช่วง 3 ปีหลังที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.เริ่มพัฒนาโครงการขนาดใหญ่บ้างแล้ว จึงเชื่อว่าการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่น่าจะทำได้ดีขึ้น ส่วนของการบินไทยขาดทุนในช่วงหลัง เพราะมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) จะต้องเข้าไปดูเรื่องการบริหารจัดการภายในองค์กร ต้องมาทบทวนกัน รวมทั้งดูเรื่องบุคลากร เครื่องบิน ค่าใช้จ่าย และต้องพิจารณาเรื่องผลประโยชน์ทั้งระบบด้วย |