- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 11 February 2016 12:16
- Hits: 3162
คมนาคม เตรียมจ้างที่ปรึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 เชื่อมโครงข่ายรอบกทม.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังประชุมกำหนดกรอบแนวคิดแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ว่า ได้กำหนดกรอบแนวคิดแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ในประเด็นต่างๆ เช่น เชื่อมโครงข่ายยังเมืองรอบนอกกรุงเทพฯ ทั้งพระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, สมุทรสาคร, นครปฐม และสมุทรปราการ และโครงข่ายจะต้องเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใน กทม.กับรถไฟชานเมือง,เชื่อมกับรถไฟระหว่างเมือง, มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์,ใ ช้ประโยชน์ศูนย์ซ่อมบำรุงร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้าง เช่น สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน -ราษฎร์บูรณะ จะไม่มีศูนย์ซ่อมบำรุงปลายทางราษฎร์บูรณะ โดยให้ใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่ร่วมกับรถไฟฟ้าสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งการเดินรถจะเป็นรูปแบบ PPP-Gross Cost หรือจ้างบริหารเดินรถ รัฐเป็นเจ้าของ สามารถแบ่งจัดสรรการใช้รางและระบบอาณัติสัญญาณร่วมกันหลายรายได้ รวมถึงใช้วัสดุที่ผลิตภายในประเทศให้มากที่สุด ลดวัสดุที่หรูหราฟุ่มเฟือย
โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ตั้งงบประมาณปี 2560 เพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งแผนแม่บทระยะที่ 2 นี้จะเป็นแนวทางในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสำหรับรัฐบาลชุดต่อๆไป
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าในแผนแม่บทระยะที่ 1 จำนวน 10 สาย จะดำเนินการก่อสร้างและประกวดราคาหมดภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยยังเหลือสายสีส้ม ส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 21.2 กม.วงเงิน 95,108 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับลดวงเงินค่าก่อสร้าง สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 56,690.99 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1กม. วงเงิน 54,644 ล้านบาท เสนอคณะไปยังคณะกรรมการ PPP เพื่อเข้า PPP Fast track แล้ว ,สายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 17.5 กม.อยู่ในขั้นตอนการเสนอผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ส่วนสายสีเขียวจะมีการเสนอเพื่อต่อขยายส่วนเหนืออีก 4 สถานี จากคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 7 กม.และส่วนใต้อีก 4 สถานี จากสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กม.
ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า ภายในปลายปีนี้จะว่าจ้างที่ปรึกษาได้ โดย สนข.ตั้งงบปี 60 ประมาณ 30 ล้านบาทไว้แล้วคาดว่าจะสรุปผลศึกษาในปี 2561 จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และ ครม.ขออนุมัติต่อไป ส่วนสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างทบทวนต้นทุนจากการปรับรูปแบบศูนย์ซ่อมบำรุงมาเป็นที่จอดรถแทน เพื่อนำเสนอที่ประชุม คจร.ขออนุมัติพร้อมต่อขยายเส้นทางอีก 5 กม.ถึงถนนวงแหวนด้านใต้ เนื่องจากเป็นแนวที่เพิ่มเติมจากแผนแม่บท
อินโฟเควสท์
รถไฟฟ้าเชื่อมเมืองบริวาร กทม. แผนแม่บทระยะ 2 ใกล้คลอด จังหวัดรอบกรุงรอคิวตีตั๋ว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมยกร่างแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (M-Map) ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นแผนที่จะทำต่อเนื่องจากแผนแม่บทระยะที่ 1 ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2562 ว่า ขณะนี้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ขอจัดสรรงบประมาณปี 2560 จำนวน 30 ล้านบาท เพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง คาดว่าจะลงนามว่าจ้างได้ในช่วงปีนี้ โดยจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปีเต็ม คาดว่าภายในปี 2561 จะสามารถเสนอผลการศึกษาให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้
ทั้งนี้ แผนแม่บทระยะที่ 2 จะมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 10-20 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป สำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าระยะที่ 2 นั้น จะเน้นก่อสร้างเพิ่มเติมในเส้นทางรถไฟฟ้าเดิมที่ยังขาดช่วง (missing link) เพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง ระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในกับชั้นนอก และเชื่อมต่อไปยังรถไฟนอกเมือง หรือระหว่างเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น รถไฟฟ้าไฮสปีดเทรน หรือรถไฟทางคู่ เพื่อกระจายคนออกไปอยู่นอกเมือง “คอนเซปต์ของรถไฟฟ้าระยะที่ 2 จะเน้นก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางที่เชื่อมการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯไปยังเมืองบริเวณรอบๆ ในระยะรัศมีประมาณ 100 กิโลเมตร คือ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ เพื่อเชื่อมการเดินทางให้ครบทุกทิศ เหนือใต้ ออก และตก ที่สำคัญเส้นทางที่จะสร้างใหม่ต้องเชื่อมต่อกับเส้นทางเดิมหรือเส้นอื่นๆ ด้วยไม่ใช่สร้างโด่อยู่คนเดียวโดยไม่เชื่อมกับใคร”
ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงด้านใต้ช่วงพุทธมณฑลสาย 4- มหาชัย อาจต้องชะลอ เพราะติดปัญหาต่อต้านจากคนในพื้นที่ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จากเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.8 กม. มีการต่อขยายเส้นทางเพิ่มอีก 5 กม. ไปยังจุดก่อสร้างโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) บางผึ้ง ซึ่งต้องรอศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. กล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เส้นทางทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ทางแยกต่างระดับวงแหวนรอบนอกไปถนนเกษตรนวมินทร์ เชื่อมถนนพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย 7 นั้น ขณะนี้ได้ศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะยังคงสร้างทางด่วนต่อไป หรือจะสร้างเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดเบาหรือรถไฟฟ้าโมโนเรล ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป.
ที่มา : www.thairath.co.th