- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 11 February 2016 11:46
- Hits: 1763
สั่ง รฟท.ผุดคอนโดฯช่วยคนจน 'บิ๊กตู่'ชี้บรรเทาผลกระทบโปรเจกต์ยักษ์รถไฟ
นายกฯ บี้คมนาคมตั้งกรมราง วาดฝันเอกชนเช่ารางเดินรถไฟในอนาคต ขณะที่เร่ง ร.ฟ.ท.สร้างคอนโดฯรอบสถานีให้คนที่ต้องย้ายที่อยู่จากการรถไฟ พ่วงสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ สั่งด่วนแก้ไขปัญหาคนดอนเมืองถูกปิดทางออกจากการสร้างรถไฟฟ้าสีแดง
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (9 ก.พ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตี เป็นประธาน ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการจัดตั้งกรมรางให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้รับทราบถึงแนวทางการกำกับดูแลและบริการจัดการระบบรางของประเทศที่ชัดเจน โดยเฉพาะการบริหารจัดการระบบรางในอนาคต ว่าจะสามารถเปิดให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาเช่ารางเพื่อเดินรถเองได้หรือไม่อย่างไร เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนรับทราบแนวทางการดำเนินนโยบายที่ชัดเจน
รวมทั้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กลับไปจัดทำแผนการดำเนินการจัดสร้างที่อยู่อาศัยในแนวสูงบริเวณรอบสถานีต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่เขตทางรถไฟบริเวณที่ ร.ฟ.ท.นำไปใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ รวมทั้งสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยอื่นๆด้วย นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์บนพื้นที่รอบๆ 2ข้างทางรถไฟว่าสามารถทำได้หรือไม่ และหากทำได้ควรจะทำธุรกิจใดจึงจะเหมาะสม ทั้งนี้ ในส่วนของการสร้างที่อยู่อาศัยตนได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท. ไปสำรวจพื้นที่ทั้งหมดของ ร.ฟ.ท.แล้วว่าบริเวณใดมีเขตทางเหลือพอที่จะสร้างที่อยู่อาศัยได้บ้าง
“นายกรัฐมนตรียังได้ขอให้ ร.ฟ.ท. เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้อยู่อาศัยบริเวณดอนเมืองกว่า 1,000 หลังคาเรือนที่ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบกรณีที่ผู้รับก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีการปิดทางสัญจรเข้าและออก ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า ผู้รับเหมากันเป็นพื้นที่ก่อสร้างเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ที่สัญจรผ่านบริเวณจุดก่อสร้าง โดยหลังจากนี้ ร.ฟ.ท. ต้องไปเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา และทำทางเข้าออกให้กับชาวบ้านด้วย”
นายออมสิน ยังกล่าวด้วยว่า ครม.ยังมีมติอนุมัติให้ปรับกรอบวงเงินลงทุนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จากเดิมประมาณ 75,500 ล้านบาท เป็น 93,900 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้อนุมัติปรับกรอบวงเงินสัญญาที่3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน จาก 25,600 ล้านบาท เป็น 32,300 ล้านบาท ตามผลการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็มเอชเอสซี ประกอบด้วยบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสเตรียล บริษัท ฮิตาชิ และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ที่เป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็จะต้องดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงบประมาณได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องวงเงินสัญญา 3 ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอีก 473 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณเห็นว่าน่าจะไปเจรจาลดลงมาได้ แต่ ร.ฟ.ท.จะเจรจาได้หรือไม่อย่างไร ให้แจ้งไปที่สำนักงบประมาณเพื่อทราบเท่านั้น จากนั้นเรื่องคงจะจบลง เพราะ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินแล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ร.ฟ.ท.ต้องไปเรียกกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็มเอชเอสซีมาเจรจาว่าจะลดราคาได้อีกหรือไม่ แต่เท่าที่ทราบตัวเลข 473 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นมา คือการสร้างทางวิ่งเพิ่มเติมในช่วงบางซื่อ-รังสิต
ด้านนายประเสริฐ อัตตะนันท์ รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวเพิ่มเติมในกรณีการก่อสร้างรถไฟฟ้าทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงว่า ตามแผนการก่อสร้างจะต้องใช้พื้นที่แนวเขตทางรถไฟด้านละ 10 เมตร ทำให้ชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่สองข้างทางจะต้องย้ายออกไป แต่ ร.ฟ.ท.มีการพิจารณาจ่ายค่ารื้อย้ายให้ ส่วนนโยบายนายกฯที่ให้มีการสร้างที่พักอาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ที่จะต้องถูกย้ายออกไปนั้น คงจะต้องไปพิจารณาว่ามีพื้นที่ว่างใดที่จะดำเนินการได้ ต้องขอเวลาไปศึกษาสำรวจก่อน
ทั้งนี้ ยอมรับว่าผู้รับเหมามีการปิดกั้นตลอดแนวเส้นทางก่อสร้างเป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะหลังจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้วเสร็จ ตลอดแนวเส้นทางด้านล่างระดับดินจะต้องมีการทำรั้วกั้นอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันปัญหาการก่อการร้ายหรือมีการวางระเบิดใต้ฐานเสารถไฟฟ้าจะส่งผลกระทบกับโครงการได้ ซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคงและความปลอดภัย ส่วนแนวทางในการช่วยเหลือให้ชาวบ้านมีทางสัญจรนั้นจะต้องไปพิจารณาว่าจะทำเป็นสะพานลอยข้าม หรือรูปแบบใดที่เหมาะสม แต่ในระหว่างการก่อสร้างจะต้องไปเจรจากับผู้รับเหมาว่าจะมีการบรรเทาเยียวยาในส่วนนี้ได้อย่างไรบ้าง
ขณะที่ กรณีสัญญาที่ 3 นั้นของรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น ขณะนี้ตัวร่างสัญญาทางสำนักงานอัยการได้ตรวจแก้สัญญาให้หมดแล้ว ร่างสัญญาทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ก็เห็นชอบแล้ว การลงนามในสัญญาจึงคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน หากมีหนังสือจาก ครม.มาอย่างเป็นทางการ คาดว่าประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็สามารถลงนามได้ทันที เพราะทุกอย่างจบหมดแล้ว.
ที่มา : www.thairath.co.th