- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Tuesday, 09 February 2016 09:07
- Hits: 2110
ลุยรถไฟไทย-จีน หั่นสเปก-ลดเงินลงทุน ความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ไทย-จีน และ ไทย-ญี่ปุ่น
เริ่มมีเค้าลางมากขึ้น โดยเฉพาะรถไฟไทย-จีน หลังจากที่จีนยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอยนครราชสีมา-หนองคาย และเส้นแก่งคอย-มาบตาพุด เหลือ 2% แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเท่าไหร่นัก โดยหลังจากได้มีการหารือ 'ความร่วมมือโครงการรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 9 ที่ประเทศจีน' เมื่อวันที่ 28-29 ม.ค.2559 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนและรูปแบบการก่อสร้าง ซึ่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้ชี้แจงว่า โครงการมีมูลค่าการลงทุนสูง ดังนั้นฝ่ายไทยจึงเสนอให้กับทางฝ่ายจีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุน โดยจีน 60 ไทย 40 ซึ่งจีนได้รับข้อเสนอไว้พิจารณา และจะให้คำตอบไทยอย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้ เป็นผลจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในประเด็นมูลค่าการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นภาระทางการเงินของไทย จึงต้องการให้จีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Special Purpose Vehicle - SPV หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ) เพื่อดำเนินโครงการ โดยให้ไทยเสนอรูปแบบของ บริษัทร่วมทุนภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจในการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีนครั้งที่ 10 ปลาย เดือน ก.พ.นี้
"การปรับเพิ่มสัดส่วนของจีนนั้น เพื่อให้จีนเข้ามารับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนบริษัทร่วมทุนจะเป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างไทย-จีน ในเรื่องกรรมสิทธิ์ต่างๆ นั้น จะต้องเจรจาในรายละเอียดการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ประเด็นการใช้ประโยชน์จากเขตทางรถไฟสิทธิในการใช้ที่ดิน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินราง ดังนั้น บริษัทร่วมทุนที่จะเข้ามาพัฒนาก่อสร้างและเดินรถจะต้องจ่ายค่าใช้พื้นที่ ค่าสิทธิในการใช้ทางต่างๆ ยืนยันไทยไม่เสียสิทธิใดๆ บนที่ดินรถไฟฯ ซึ่งจะใช้เวลาทำงาน 1 เดือน เพื่อให้สรุปได้ก่อนจะประชุมครั้งที่ 10" นายอาคมกล่าว
ปรับรูปแบบการโครงการเพื่อลดต้นทุน
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงมูลค่าการก่อสร้างโครงการที่ค่อนข้างสูง จีนได้เสนอแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 กรุงเทพฯ (บางซื่อ)แก่งคอย 2.แก่งคอย-มาบตาพุด 3.แก่งคอย-นครราชสีมา และ 4.นครราชสีมาหนองคาย และเพื่อลดภาระต้นทุนโครงการ ได้แบ่งก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะแรก ในตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา จะก่อสร้างเป็นระบบทางคู่ และตอนที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร ปรับลดเป็นก่อสร้างเป็นรางเดียวก่อนเพื่อลดค่าก่อสร้างลง โดยจะมีการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าที่หนองคาย และใช้ระบบทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร ลงไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนระยะที่ 2 คือตอนที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตร จะก่อสร้างเป็นทางคู่ในเส้นทาง จากการหารือกับฝ่ายจีนเห็นว่าควรชะลอออกไปก่อน แต่ได้ศึกษารูปแบบรายละเอียดเตรียมไว้ แต่รัฐบาลจะไม่เร่งรัดการลงทุน เพราะพบว่าความต้องการใช้งานยังน้อย และจะเริ่มก่อสร้างเมื่อมีความต้องการของปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น และยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาแนวเส้นทางที่ซ้ำซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง
"ที่ผ่านมามีการพูดถึงมูลค่าลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น เป็นวงเงินที่สูงเกินไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยมอบนโยบายให้ตัดโครงสร้างที่ไม่จำเป็นออกและปรับลดต้นทุน พร้อมทั้งลดความซ้ำซ้อนกับโครงการรถไฟสายต่างๆ ที่ไทยจะลงทุน รวมทั้งจะมีการใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศให้มากที่สุด ดังนั้นตามแผนงานการพิจารณาจึงให้จัดทำช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เป็นทางเดี่ยว และตัดการพัฒนาในช่วงแก่งคอยมาบตาพุดออกไปก่อน ส่งผลให้มูลค่าโครงการปรับลดไปได้ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท" นายอาคมกล่าว
ปลายเดือน ก.พ.59 หารือครั้งที่ 10
ทั้งนี้ จากการหารือดังกล่าว ทางฝ่ายจีนได้รับข้อเสนอและแนวทางต่างๆ ของไทยไปพิจารณา โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ทำให้การหารือโครงการความร่วมมือพัฒนารถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 10 ซึ่งจะจัดขึ้นในกรุงปักกิ่งปลายเดือน ก.พ.นี้ จะมีการสรุปเนื้อหาข้อมูลที่จีนนำกลับไปพิจารณา และหลังจากนั้น ไทยจะตรวจสอบข้อมูลที่จีนเสนออีกครั้ง ซึ่งหากเหมาะสมก็จะสามารถสรุปกรอบวงเงินโครงการอย่างชัดเจนได้ อย่างไรก็ตาม โครงการความร่วมมือดังกล่าวจะยังคงเป้าหมายเดิม คือเริ่มตอกเสาเข็มในเดือน พ.ค.2559 นี้
ลงนามในร่าง MOC ร่วมกับญี่ปุ่น
ด้านรถไฟไทย-ญี่ปุ่นนั้น น่าจะมีความชัดเจนมากกว่าโครงการรถไฟไทย-จีน เพราะเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้หารือร่วมกับผู้แทนกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น เพื่อติดตามโครงการความร่วมมือพัฒนารถไฟไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากไทยได้ลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือ (MOC) ร่วมกับญี่ปุ่น เพื่อวางแนวทางในการพัฒนาเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ตอนใต้ (Lower East- West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม.
โดยมีรายละเอียด ความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนา/การปรับ ปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบรางเส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ (กาญจนบุรี-กรุง เทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพฯ- ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง)
2) ด้านการพัฒนาบุคลากร เช่น การฝึกอบรมสำหรับบุคลากรของการรถไฟแห่งประเทศไทย ด้านการซ่อมบำรุงรักษาและบริหารจัดการขบวนรถไฟ การซ่อมบำรุงรักษาทาง ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และการศึกษาดูงานสำหรับผู้บริหารระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
3) ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านระบบราง โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้แสดงเจตจำนงในการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งระบบรางตามที่ฝ่ายไทยได้ร้องขอไว้
และ 4) การให้บริการขนส่งสินค้าทางราง เป็นการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางรูปแบบใหม่ตามแนวเส้นทางปัจจุบันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (State Railway of Thailand : SRT) ด้วยเทคนิคการให้บริการขนส่งทางรางของญี่ปุ่น โดยทั้งสองประเทศได้เริ่มต้นดำเนินการตาม MOC บันทึกความร่วมมือในโครงการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการขนส่งตู้สินค้า (คอนเทนเนอร์) ขนาด 12 ฟุต
เริ่มต้นความร่วมมือทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา นายอาคมได้จับมือกับนายซึโตะมุ ชิมุระ รองอธิบดีกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เป็นประธานร่วมปล่อยขบวนรถสินค้า ทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดเล็กขนาด 12 ฟุต ออกจากสถานีชุมทางหนองปลาดุกสู่สถานีบางซื่อ ภายใต้ความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ (กาญจนบุรีกรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง) ซึ่งถือเป็นพิธีเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการลองเดินรถแล้ว จะมีการสรุปผลการศึกษาภายในกลางปีนี้ หากสรุปผลว่ามีความคุ้มค่าและเหมาะสม ก็มีแนวคิดที่จะตั้งบริษัทร่วมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นภายในปี 2559 นี้ เพื่อลงทุนจัดหาขบวนรถขนสินค้าและหัวรถจักร
"การพัฒนาการขนส่งทางราง เป็นนโยบายที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในการขับเคลื่อนนโยบายให้ปรากฏเป็นรูปธรรม และยังได้รับการสนับสนุนจากมิตรประเทศที่ดีอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ได้ถ่ายทอดความรู้ความชำนาญด้านการขนส่งระบบรางให้แก่ประเทศไทย และด้วยความชำนาญในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีการขนส่งระบบรางของญี่ปุ่น จะทำให้ประเทศไทยได้รับความรู้ทางด้านเทคโนโลยีระบบราง เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการขนส่งทางราง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการขนส่งทางราง สร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตขึ้นในอนาคต" นายอาคมกล่าว
ไทยเนื้อหอม เอกชนญี่ปุ่นสนใจลงทุน
นายอาคมกล่าวว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นได้เจรจากับผู้ประกอบการหลายรายที่สนใจเข้ามาร่วมทุนกับไทย ส่วนไทยมีเอกชนหลายรายที่จะขนส่งสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุต เช่น เอสซีจี น้ำตลาดมิตรผล อย่างไรก็ตามมั่นใจว่า หากมีการบริหารจัดการที่ดีและตรงต่อเวลาจะดึงดูดเอกชนที่เคยขนส่งผ่านรถบรรทุกเปลี่ยนมาใช้การขนส่งทางรถไฟมากขึ้น เพราะต้นทุนการขนส่งถูกกว่า รวมทั้งเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีตลาดขนส่งเล็กกว่าไทย เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย
ขณะเดียวกัน นายอาคมก็กล่าวว่า มั่นใจว่าหากญี่ปุ่นเข้ามาช่วยวางระบบการบริหารจัดการการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก จะทำให้การขนส่งสินค่าผ่านมินิคอนเทนเนอร์จะเป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งการขนสินค้าโชห่วยต่างๆ อีกด้วย ตลอดจนจะพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น พาผู้แทนระดับสูงของบริษัทและบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นเข้าพบ โดยทางญี่ปุ่นมีความสนใจจะขยายการลงทุนในประเทศไทย ตามแนวนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไทยยินดีที่ญี่ปุ่นจะร่วมลงทุนในระบบรางเพิ่มมากขึ้น ส่วนของโครงการรถไฟฟ้า ทั้งในเส้นทางระหว่างเมือง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น มีสมาชิกทั้งสิ้นกว่า 2.5 ล้านบริษัท
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังสนใจลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ขณะที่เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่อยู่ระหว่างการศึกษา และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.รับทราบข้อมูลขั้นกลางภายในกลางปี 2559 และนำเสนอข้อมูลขั้นสุดท้ายในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ ในส่วนของสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ (JAL) และสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ (ANA) สนใจร่วมพัฒนาธุรกิจการบินกับไทย โดยเตรียมเข้าหารือกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียนรู้และพิจารณาประสบการณ์การดำเนินงานของการบินไทย จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยจำนวน 30 ล้านคน ขณะที่ญี่ปุ่นมีจำนวนนักท่องเที่ยว 19.7 ล้านคนเท่านั้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศรัสเซีย รวมถึงการร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่ในขณะนี้การศึกษาเสร็จแล้ว รอเสนอ ครม.พิจารณา
ดูเหมือนว่า ตอนนี้ไทยเราเนื้อหอมอย่างมาก ทั้งจีน-ญี่ปุ่น ต่างพากันสนใจที่จะร่วมลงทุน แต่ที่สุดแล้วโครงการเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ต้องติดตามเกาะชิดติดขอบ ลุ้นเอาใจว่าอนาคตไทยเราจะมีการพัฒนาระบบรางกับต่างชาติ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่.
ประกาศเดินรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เปิดเทสต์ระบบขนส่งคอนเทนเนอร์แล้ว
โครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรางนั้น เป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักที่กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต้องเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวมีความสำคัญทั้งด้านการเดินทางของผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางดังกล่าว จึงได้มีการทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดเล็กภายใต้ความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งพิธีการดังกล่าวได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
โดยในวันที่ 5 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายซึโตะมุ ชิมุระ รองอธิบดี กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ได้เป็นประธานร่วมปล่อยขบวนรถสินค้าเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในพิธีเปิดการทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดเล็กภายใต้ความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ในความร่วมมือด้านระบบราง เส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ (กาญจนบุรี-กรุงเทพ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทราแหลมฉบัง)
ส่วนพิธีเปิดการทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดเล็กภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOC) เพื่อเร่งดำเนินการความร่วมมือด้านระบบราง ตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจด้านใต้ (กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทราอรัญประเทศ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง) ซึ่งชุมทางหนองปลาดุกสถานที่ในการประกอบพิธีเปิดโครงการใน ครั้งนี้ นับว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นชุมทางในการเชื่อมต่อแนวเส้นทางระบบรางที่พรั่งพร้อมไปด้วยศักยภาพ เพราะนอกจากจะเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีแล้ว ยังเป็นชุมทางในการเชื่อมต่อแนวเส้นทางไปยังท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศพม่า จะช่วยสนับสนุนให้การขนส่งสินค้าภายในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น
สำหรับ การทดลองการขนส่งสินค้าทางรางด้วยตู้สินค้า (คอนเทนเนอร์) ขนาด 12 ฟุต เป็นการดำเนินงานตาม MOC ข้อ 2 ซึ่งเป็นตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหม่ที่ได้รับมาจาก JR Freight ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 12 ตู้ และขนาด 20 ฟุต จำนวน 3 ตู้ ประเทศไทยเพิ่งจะนำมาทดลองให้บริการเป็นครั้งแรก ช่วยให้การขนส่งและขนถ่ายสินค้ามีความคล่องตัว เพราะมีขนาดเล็ก รถบรรทุกสามารถเข้าถึงได้ดี แม้พื้นทื่คับแคบ ประหยัดพื้นที่จัดเก็บ และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
ส่วนการพัฒนาการขนส่งทางรางเป็นนโยบายที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการขับเคลื่อนนโยบายให้ปรากฏเป็นรูปธรรม และยังได้รับการสนับสนุนจากมิตรประเทศที่ดีอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ได้ถ่ายทอดความรู้ความชำนาญด้านการขนส่งระบบรางให้แก่ประเทศไทย และด้วยความชำนาญในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีการขนส่งระบบรางของญี่ปุ่น จะทำให้ประเทศไทยได้รับความรู้ทางด้านเทคโนโลยีระบบราง เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการขนส่งทางราง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการขนส่งทางราง สร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตขึ้นในอนาคต
สำหรับ ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะทางรางนั้น เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทต่อปี ลดระยะเวลาในการเดินทางทางรถไฟ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางจาก 2.5% เป็น 5% ทั้งหมดนี้ถือเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงคมนาคมจึงเร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่นขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งทางรถไฟของไทยและพัฒนาการให้บริการขนส่งทางราง โดยการพัฒนาเส้นทางรถไฟที่มีอยู่เดิม ระบบรางคู่หรือระบบรถไฟฟ้า ตามที่ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม การรถไฟแห่งประเทศไทยทำการทดลองการเดินขบวนรถขนส่งตู้สินค้า (container) 12 ฟุต เพื่อเป็นข้อมูลสรุปผลโครงการศึกษาฯ ใน 2 เส้นทาง ประกอบด้วยบางซื่อลำพูน (ศูนย์กระจายสินค้าภาคเหนือ) และ บางซื่อ-กุดจิก (นครราชสีมา)-ท่าพระ (ขอนแก่น)-กุดจิก (นครราชสีมา) ซึ่งมีสถานีกุดจิก เป็นศูนย์กระจายสินค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทั้ง 2 เส้นทาง จะทำการพ่วงรถ บทต. โดยมีรายละเอียด ดังนี้ พ่วงรถ บทต.จำนวน 4 บทต. สำหรับการบรรทุกขนส่งตู้สินค้า (container) ขนาด 12 ฟุต, พ่วงรถ บทต. จำนวน 2 บทต. สำหรับการบรรทุกขนส่งตู้สินค้า (container) ขนาด 20 ฟุต และพ่วงรถโดยสารชั้น 2 นั่งและนอนปรับอากาศ (บนท.ป.) จำนวน 1 ตู้
สำหรับ การเพิ่มศักยภาพเส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง 3 เส้นทาง ตามแนวเศรษฐกิจด้านใต้ เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือสำคัญของ 3 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ท่าเรือทวายของประเทศเมียนมา ท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทย และท่าเรือสีหนุวิลล์ของประเทศกัมพูชา ประกอบด้วย เส้นทาง กาญจนบุรีกรุงเทพฯ (ระยะทาง 133 กิโลเมตร), กรุงเทพฯฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง (ระยะทาง 148 กิโลเมตร) และฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ (ระยะทาง 195 กิโลเมตร) การขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดเล็กตู้สินค้า (คอนเทนเนอร์) เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขนส่งสินค้าทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ นอกจากนี้ตู้สินค้าสามารถขนส่งสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารสด อาหารแปรรูป ตลอดจนสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเสียหรือของทิ้งแล้ว