- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Friday, 05 February 2016 00:06
- Hits: 3635
อาคม เผยปรับแผนโครงการรถไฟไทย-จีนใหม่เพื่อลดต้นทุน รอสรุปร่วมกันปลาย ก.พ.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ยืนยันโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 118.14 กิโลเมตร จะมีการก่อสร้างเต็มโครงการ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็นเฟสเพื่อลดต้นทุนโครงการในช่วงแรก ระยะแรกจะก่อสร้างตั้งแต่กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย โดยช่วงกรุงเทพฯ- แก่งคอย, แก่งคอย-นครราชสีมา จะเป็นระบบทางคู่ ส่วนช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จะก่อสร้างเป็นทางเดี่ยวก่อน ขณะที่ช่วง แก่งคอย –มาบตาพุด ตามแผนเดิมจะชะลอการก่อสร้างเป็นระยะต่อไป จนกว่าจะมีความต้องการของปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น และต้องมีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
การปรับแผนใหม่ดังกล่าวช่วยให้ต้นทุนโครงการจากประมาณการเดิมที่ 5 แสนกว่าล้านบาท ลดลงไปประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่การเชื่อมต่อด้านผู้โดยสารจากจีน-ลาว เข้าหนองคาย-โคราช-กรุงเทพฯ ยังมีความสะดวกเชื่อมต่อไร้รอยต่อ ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะแนวเส้นทางในลาวเป็นทางเดี่ยวที่เน้นขนส่งผู้โดยสาร โดยทางจีนจะทำรายละเอียดเพิ่มเติมในการปรับเปลี่ยนดังกล่าว และจะสรุปร่วมกันในการประชุมครั้งที่ 10 ช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้
รมว.คมนาคม ยังกล่าวถึงผลหารือกับ Mr.Tsutomu SHIMURA รองอธิบดีกรมการรถไฟ ผู้แทนกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เรื่องการพัฒนาเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East-West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม. ตามบันทึกความร่วมมือ (MOC) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งว่า บริษัทที่ปรึกษาของญี่ปุ่นได้เริ่มสำรวจแนวเส้นทาง เพื่อสรุปแผนการปรับปรุงรางรถไฟขนาด 1 เมตรเดิมที่มีอยู่ และแผนการปรับเป็นระบบทางคู่ในอนาคตต่อไป โดยในวันที่ 5 ก.พ.นี้จะมีการทดลองเดินรถสินค้าตัวอย่างด้วยตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุต ที่สถานีหนองปลาดุก จากนั้นจะมีการทดลองเดินรถสินค้าที่สายเหนือและสายอีสานด้วย และประเมินผลต่อไป
ส่วนรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม โดยได้หารือถึงแนวเส้นทางที่ทับซ้อนกับความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ตั้งแต่ช่วงบางภาชี-บางซื่อที่มีเขตทางจำกัด ซึ่งชัดเจนแล้วว่า รถไฟไทย-ญี่ปุ่นจะแยกรางไม่ใช้ร่วมกับใครเพราะมีเทคโนโลยีแตกต่างกัน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะพิจารณาจัดสรรการใช้พื้นที่ในแต่ละโครงการ โดยบางช่วงจะต้องมีการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม ขณะที่ช่วงรังสิต-ดอนเมือง-บางซื่อซึ่งพื้นที่จำกัดมากที่สุดนั้นได้หารือถึงทางเลือกต่างๆ เช่น ให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ใช้ทางร่วมกับระบบรถไฟไทย-ญี่ปุ่น หรือรถไฟไทย-จีน, ใช้ชานชาลาร่วมกัน โดยชานชาลาจะอยู่ตรงกลางระหว่างทางรถไฟ ซึ่งฝั่งหนึ่งจะเป็นทางวิ่งรถไฟไทย-ญี่ปุ่น อีกฝั่งเป็นทางวิ่งของแอร์พอร์ตลิงก์ เป็นต้น
อินโฟเควสท์
อาคม แจงผลหารือรถไฟไทย-จีน สั่งเบรกสร้างแก่งคอย-มาบตาพุด
ไทยโพสต์ : คมนาคม * 'อาคม' แจง ผลหารือรถไฟไทย-จีน เห็นตรงกัน ลดขนาดโครงการ ชะลอสร้างแก่งคอย-มาบตาพุด อ้างลดความ ซ้ำซ้อน เตรียมประชุมครั้งที่ 10 ปลายเดือน ก.พ.นี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการเดินทางไปเจรจากับจีนภายใต้ความร่วมมือโครงการรถไฟไทย-จีน โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เป็นตัวแทนไปหารือ โดยทางฝ่ายจีนได้ตอบรับ ที่จะนำข้อเสนอให้จีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเป็น 60% และฝ่ายไทย 40% ไว้พิจารณาแล้ว เนื่องจากเห็นด้วยว่ามูลค่าการลงทุนที่ค่อนข้างสูง หากไม่เพิ่มสัดส่วนอาจจะเป็นภาระกับทางการไทยมาก
นอกจากนี้ ทางจีนจังเห็นว่าควรเร่งรัดให้มีการจัดตั้ง บริษัทร่วมทุน (Special Purpose Vehicle-SPV หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ) เพื่อดำเนินโครงการ โดยให้ไทยเสนอรูปแบบของ บริษัทร่วมทุนภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจในการประชุมคณะกรรม การร่วมไทย-จีนครั้งที่ 10 ปลาย เดือน ก.พ.นี้
นายอาคม กล่าวว่า ใน ด้านมูลค่าการก่อสร้างโครง การนั้น จีนเสนอให้แบ่งการดำ เนินงานเป็น 4 ระยะ โดยระยะ แรก ในตอนที่ 1 กรุงเทพฯแก่งคอย และ ตอนที่ 3 แก่ง คอย-นครราชสีมา ก่อสร้างเป็น ระบบทางคู่, ตอนที่ 4 นครราช สีมา-หนองคาย ก่อสร้างเป็นทางเดี่ยวก่อนเพื่อลดมูลค่าการก่อสร้างลง โดยจะมีการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าที่หนองคาย และใช้ระบบทางคู่ ขนาดราง 1 เมตรลงไปยัง ท่าเรือแหมฉบัง ส่วนตอนที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด จะก่อสร้าง ในระยะต่อไป เมื่อมีความต้อง การของปริมาณสินค้าเพิ่ม ขึ้น
ทั้งนี้ ฝ่ายไทยเห็นด้วยกับการปรับลดต้นทุนค่าก่อสร้าง รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่ม เฟือยจากการออกแบบ โดยหัน มาใช้วัสดุภายในประเทศให้มาก รวมถึงการ ลดความซ้ำซ้อนกันรถไฟทางคู่ที่มีอยู่ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ที่สามารถใช้ประโยชน์ในเส้นทางรถไฟทางคู่ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบังในการขนสินค้าได้ และดำเนินการก่อสร้างช่วงที่มีความพร้อมก่อน ซึ่งจีนจะสรุปตัวเลขหลัง ปรับแผนใหม่ ภายใน 2 สัป ดาห์.
รมช.คมนาคม เผยเจรจานอกรอบจีนตอบรับข้อเสนอเพิ่มลงทุนรถไฟเป็น 60%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การเดินทางไปเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับฝ่ายจีนภายใต้ความร่วมมือโครงการรถไฟไทย-จีนพร้อมกับ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ปรากฎว่าทางฝ่ายจีนได้ตอบรับที่จะนำข้อเสนอให้จีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเป็น 60% และฝ่ายไทย 40% ไว้พิจารณาแล่ว เนื่องจากเห็นด้วยว่ามูลค่าการลงทุนที่ค่อนข้างสูง หากไม่เพิ่มสัดส่วนอาจจะเป็นภาระกับทางการไทยมาก
ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีนเป็นการพัฒนารถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กิโลเมตรและเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 118.14 กิโลเมตร เบื้องต้นมีแนวทางจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่เป็ฯนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) เพื่อดำเนินโครงการนั้น จะขยายจากเดิมร่วมทุนงาน O$M การเดินรถ เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงการก่อสร้างบางส่วน เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ
"บริษัทร่วมทุนนี้จะลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้าง,เดินรถ.บำรุงรักษา โดยทางจีนเห็นด้วยและจะเร่งรัดให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยให้ไทยเสนอรูปแบบของบริษัทร่วมทุนภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีนครั้งที่ 10 ปลายเดือนก.พ.นี้"นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายจีนเสนอแบ่งการก่อสร้างเป็นเฟสเพื่อลดภาระต้นทุนโครงการ โดยระยะแรก ตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา เป็นระบบทางคู่ ส่วนตอนที่ 4 นครราชสีมา – หนองคาย สร้างเป็นทางเดี่ยวก่อนเพื่อลดค่าก่อสร้าง พร้อมทั้งเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าที่หนองคาย ไปใช้ระบบรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตรลงไปยังท่าเรือแหมฉบัง
ส่วนตอนที่ 2 แก่งคอย –มาบตาพุด จะก่อสร้างในระยะต่อไป เมื่อมีความต้องการของปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นและยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาแนวเส้นทางที่ซ้ำซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบังในการขนส่งสินค้าได้ ซึ่งจีนจะสรุปตัวเลขหลังปรับแผนใหม่ภายใน 2 สัปดาห์
อินโฟเควสท์
คมนาคมจี้อัดเงินลงทุนเมกะโปรเจกท์กระตุ้นศก.
แนวหน้า : นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน(Action Plan)ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของโครงการภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมจำนวน 20 โครงการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานและเร่งการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามแผน และเตรียมรายงานความคืบหน้าให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ซึ่งในที่ประชุมได้สรุปร่วมกันว่าจะต้องทำการเปิดประมูล และลงนามในสัญญาโครงการให้ได้ครบทั้ง 20 โครงการภายในเดือน ก.ย.2559 ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เกิดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว
โดยโครงการหลักที่ยังดำเนินการล่าช้าอยู่คือ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดถึง 2 เดือน เนื่องจากได้แยกงานการจัดซื้ออุปกรณ์การจัดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติและสายพานลำเลียงทำให้มีการแบ่งงานออกเป็น 7 สัญญาจากแผนเดิม
ส่วนของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด คาดว่าจะลงนาม 3 สัญญาแรกในสัปดาห์หน้า ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์เส้นทางบางใหญ่ - บ้านโป่ง กาญจนบุรี คาดว่าจะเริ่มประกวดราคาได้ช่วงเดือน เม.ย.2559 และจะลงนามเซ็นสัญญาได้ในเดือน ก.ค.2559 เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาผลกระทบทาง สิ่งแวดล้อม(EIA)ก่อน หลังจากนั้นจะเตรียมเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป
บี้คมนาคมเร่งเมกะโปรเจ็กต์ญี่ปุ่นอ้อนขอเอี่ยวระบบราง
ไทยโพสต์ : ราชดำเนิน * คมนาคมสั่งตั้งผู้ประสานงาน หวังเร่งรัดเมกะโปรเจ็กต์ทั้ง 20 โครงการมั่นใจภายในปี 59 เกิดการลงทุน ด้านญี่ปุ่นดอดพบ "อาคม" อ้อนขอลงทุนระบบราง
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงาน ในแผนปฏิบัติการด้านการคมนาคมขน ส่ง (แอคชั่นแพลน) 2559 เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินงาน 20 โครงการเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามนโยบายที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ต้องลงนามในสัญญาได้ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2559
ทั้งนี้ นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้ง 20 โครงการแต่งตั้งผู้ประสานงาน เพื่อติดตามเร่งรัดการทำงานควบคู่กับตัวแทน จากสำนัก นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ กระทรวงคมนาคม เพื่อรายงานความคืบหน้าตรงต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมด้วย
"ตามแผนคาดว่า โครงการเร่งด่วนทั้ง 20 โครงการจะต้องลงนามสัญญาได้ทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.2559 นี้ แต่อาจไม่ครบทุกสัญญา เพราะบางโครงการมีการซอยย่อยสัญญาออกไป" นายพีระพลกล่าว
นายอาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.59 ประธานสภาหอ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น พาผู้แทนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าพบ พร้อมทั้งได้ยืนยันว่า ญี่ปุ่นสนใจขยายการลงทุนในไทย โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของโครงการรถไฟฟ้า ทั้งในเส้นทางระหว่างเมือง และในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นสนใจลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ขณะที่เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่อยู่ระหว่างการศึกษา และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 โดยเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. รับทราบข้อมูลขั้นกลางภายในกลางปี 2559 และข้อมูลขั้นสุดท้ายในช่วงปลายปีนี้
นายอาคม กล่าวว่า ขณะเดียวกัน สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ (JAL) และสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ (ANA) สนใจร่วมพัฒนาธุรกิจการบินกับไทย ซึ่งในเร็วนี้จะหารือกับ บมจ.การบินไทย เพื่อเรียนรู้และประสบการณ์การดำเนินงานของการบินไทย รวมถึงการร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่ในขณะนี้การศึกษาเสร็จแล้ว รอเสนอ ครม.พิจารณา
คมนาคม ติดตาม 20 โครงการลงทุนกระตุ้นศก. มั่นใจเดินหน้าตามแผนประมูลปี 59
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ว่า ได้ติดตามความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคของ 20 โครงการที่อยู่ในแผนฯ ว่ามีปัญหาอุปสรรคตรงไหน ซึ่งแต่ละโครงการจะมีตารางการทำงาน (Time Frame) ที่ชัดเจนว่าจะประมูลเมื่อใด ลงนามสัญญาเมื่อใด เนื่องจาก เป้าหมายจะต้องเปิดประมูลทุกโครงการให้ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้
โดยในส่วนของโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 26,004.90 ล้านบาท ผู้รับจ้างจะเข้าพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.59, รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม.วงเงิน 29,853.18 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น, รถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,306.53 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอรายงานผลกระทรวงสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการ สผ., รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,290.63 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดส่งรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด สศช., รถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,840.54 ล้านบาท เตรียมจัดส่งรายงาน EIA ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายในวันที่ 12 ก.พ.นี้
ส่วนความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กิโลเมตรและเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 118.14 กิโลเมตร จะมีการประชุมร่วมครั้งที่ 10 ช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศ
ทั้งนี้ ได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำตารางการดำเนินงานรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. และเส้นทางกรุงเทพ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 193.5 กม. เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ PPP ภายในเดือน ก.พ.นี้
สำหรับ มอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม.วงเงิน 20,200 ล้านบาท แบ่งงานโยธาเป็น 13 ตอน โดยประมูลเสร็จแล้ว 3 สัญญา กำหนดลงนามสัญญากับผู้รับเหมาในสัปดาห์หน้า และอยู่ระหว่างขออนุมัติราคา 3 สัญญา และอีก 5 สัญญาอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองราคา, มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 84,600 ล้านบาท จะแบ่งงานก่อสร้างเป็น 40 สัญญา โดยเปิดประมูลแล้ว 1 ตอน(ทางแยกต่างระดับสระบุรี) โดยจะเคาะราคาวันที่ 5 ก.พ.นี้, มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 55,620 ล้านบาท แบ่งงานก่อสร้างเป็น 25 สัญญา คาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดประมูลในเดือน เม.ย. และลงนามสัญญาได้ในเดือน ธ.ค.59
สำหรับ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 วงเงิน 51,607.17 ล้านบาทนั้น ทาง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. แบ่งงานออกเป็น 7 สัญญา จากเดิม 5 สัญญา โดยมีการแยกงานจัดซื้อและติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) กับระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและระบบตรวจจับวัตถุระเบิดออกจากกัน ทำให้การดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนประมาณ 2 เดือน ซึ่งเตรียมเสนอเอกสารประกวดราคา (TOR) ไปยังคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อขออนุมัติ จากนั้นจะเร่งรัดเปิดประกวดราคา
อินโฟเควสท์