- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 28 January 2016 13:28
- Hits: 3856
คมนาคม เตรียมเยือนจีนหารือโครงการรถไฟ 28 ม.ค.นี้ พร้อมตีกลับผลเจรจาเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง หวั่นไม่เชื่อมต่อช่วงเปิดสายสีน้ำเงินต่อขยาย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ยังเดินหน้าโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กิโลเมตรและเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 118.14 กิโลเมตรต่อไป
ทั้งนี้ ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ตนเองและนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง จะเดินทางไปจีน โดยจะเจรจากับจีนเพื่อให้จีนมีส่วนร่วมในสัดส่วนการลงทุนของโครงการมากขึ้น ซึ่งการประชุมครั้งที่แล้ว ฝ่ายไทยได้แจ้งกับทางจีนให้ทราบแล้วว่า ผลการสำรวจออกแบบค่าก่อสร้าง ที่ออกมานั้น ค่อนข้างสูง ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบราคากันอยู่
นายอาคม กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีต้องการให้เร่งสรุปเรื่องสัดส่วนการลงทุนให้ชัดเจน โดยจีน จะต้องมีสัดส่วนการลงทุนที่มากกว่าไทย และหารือว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างโครงการให้เป็นไปตามที่ได้ หารือร่วมกันไว้ได้ อย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้จีนรับจะไปพิจารณารายละเอียดที่จะสามารถปรับลดค่าก่อ สร้างลง ได้อีก เช่น ตัดรายการที่ไม่จำเป็น ส่วนการก่อสร้างซึ่งแบ่งเป็นเฟสนั้น ตามแผนเดิมคาด ว่าจะก่อสร้างช่วงกรุงเทพ-แก่งคอยและแก่งคอย-นครราชสีมา ได้ก่อน โดยจะรอเรื่องสัดส่วนการ ลงทุนให้ชัดเจนและประมาณการณ์ต้นทุนค่าก่อสร้างที่ จะปรับใหม่ให้เรียบร้อยก่อน
นอกจากนี้นายอาคม ยังเปิดเผยต่อว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาผลการเจรจาต่อรองกับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญา 5 (งานเดินรถ 1 สถานี) ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กม. โดยมีมติให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปหารือกับคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) เพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ โดยครม.เห็นว่าข้อเสนอกรณีว่าจ้าง BMCLเดินรถระยะเวลา 1 ปีนั้น อาจไม่สอดคล้องกับเปิดเดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 อีกทั้ง มติเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2557 ให้เจรจากับ BMCL ในการเดินรถช่วง 1 สถานีนั้น ให้สัญญาสิ้นสุดในปี 2572 พร้อมกับสัญญาของรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล
ทั้งนี้ ครม.ไม่ต้องการให้เกิดช่องว่างของการเดินรถ 1 สถานี ดังนั้นจึงต้องพิจารณาระยะเวลาให้พอดีกับทั้งการเปิดสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและสัญญาของสายเฉลิมรัชมงคลที่สิ้นสดในปี 2572 พร้อมกันนี้ ได้ให้คมนาคมและ รฟม.พิจารณาแนวทางในการให้บริการช่วงรอยต่อ 1 สถานี เมื่อเปิดเดินรถสายสีม่วงเดือน ส.ค.นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน คาดว่าจะเปิดเดินรถ1 สถานีได้ในกลางปี 2560 สำหรับการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระนั้น กระทรวงอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอของ รฟม.ก่อนที่จะเสนอไปที่คณะกรรมการ PPP เพื่อพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุน
รายงานข่าวแจ้งว่า ผลการเจรจางานเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ กับ BMCL โดยคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ที่มีนายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าฯ รฟม. (ปฏิบัติการ) เป็นประธานนั้น ได้สรุปการว่าจ้าง BMCL เดินรถและทำสัญญา แบ่งค่างานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่าลงทุนติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋วโดยสารที่สถานีเตาปูน จำนวน 693 ล้านบาท โดยรัฐจะทยอยจ่ายคืนระยะเวลา 15 เดือน และค่าจ้างเดินรถ 1 สถานีพร้อมซ่อมบำรุง วงเงิน 52 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลา 12 เดือน
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 21.2 กม. ที่ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบวงเงินใหม่ที่ปรับลดลงจากกรอบเดิม 95,108 ล้านบาท ลดลง 1,028 ล้านบาท เหลือ 94,080 ล้านบาทนั้น นายอาคมกล่าวว่า หลักการที่ ครม.ให้ปรับลดราคาคือ เน้นเรื่องความจำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย การออกแบบที่เหมาะสม ทั้งตัวสถานี และใช้อุปกรณ์ภายในประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณ ซึ่งที่ รฟม.ปรับลดมาจะเน้นที่ราคาน้ำมันเท่านั้น ยังไม่ตรงกับโจทย์ที่ ครม.มอบหมาย ดังนั้น รฟม.กลับไปพิจารณาปรับลดเพิ่มเติมตามหลักการที่ ครม.ให้ไว้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
'อาคม-สมคิด' บุกจีน เดินหน้าตามแผน ลงทุนสร้างรถไฟฟ้า
'อาคม' ควง 'สมคิด'บุกจีน ขอเพิ่มสัดส่วนลงทุนรถไฟ ยันเดินหน้าตามแผน เร่งหาช่องก่อสร้างทันกำหนด พ.ค. ตีกลับรถไฟฟ้าสีส้ม ให้ รฟม.ไปคำนวณลดวงเงินใหม่ หลังคิดแค่ต้นทุนน้ำมัน ไม่รวมใช้วัสดุในประเทศ...
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ จะร่วมเดินทางไปจีนกับคณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว โดยการหารือร่วมกันในครั้งนี้ ไทยยืนยันให้จีนมีส่วนร่วมในโครงการเพิ่ม โดยเฉพาะสัดส่วนการลงทุน ซึ่งในการหารือร่วมกันครั้งที่แล้วทางไทยได้แจ้งจีนไปแล้ว ส่วนจะเป็นเท่าไรไทยขอตรวจสอบในเรื่องของต้นทุนของการดำเนินโครงการทั้งหมดให้แล้วเสร็จเรียบร้อยก่อน ขณะเดียวกันก็จะหาวิธีผลักดันโครงการให้เดินหน้าก่อสร้างได้เดือนพ.ค.59 ตามเป้าหมายที่วางไว้
"เรื่องที่รองนายกรัฐมนตรีต้องการให้เร่งรัดมากที่สุด คงเป็นสัดส่วนการลงทุน คือ ให้จีนมีสัดส่วนที่มากกว่า เรื่องการก่อสร้างจะเริ่มตามแผนได้อย่างไร ซึ่งในการหารือกับจีนในครั้งที่ผ่านมาได้แจ้งจีนไปแล้ว ทางจีนก็รับปากว่าจะไปพิจารณาปรับลดในบางเรื่อง เช่น ลดในส่วนของแบบการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ เพราะการก่อสร้างจะแบ่งเป็นช่วงอยู่แล้ว ไม่ได้ก่อสร้างพร้อมกันทั้งหมด โดยช่วงแรกที่จะก่อสร้างก่อน คือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ส่วนเรื่องแหล่งเงินกู้ และสัดส่วนการลงทุน นายสมคิด ได้มอบหมายให้ รมว.คลังไปพิจารณาในรายละเอียดให้ชัดเจนแล้ว โดยมูลค่าโครงการยังไม่แน่นอน เพราะอยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาพิจารณารายละเอียดต่างๆให้ชัดเจน"นายอาคมกล่าว
รมว.คมนาคม กล่าวด้วยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21.2 กม.นั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)กลับไปพิจารณาปรับลดตัวเลขกรอบวงเงินลงทุนใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ประชุมบอร์ด รฟม. เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบปรับกรอบเงินลงทุนจากกรอบเดิม 95,108 ล้านบาท เหลือ 94,080 ล้านบาท แต่พบว่าราคาที่ปรับลดลงเป็นการนำเฉพาะต้นทุนน้ำมันมาประกอบการพิจารณาเท่านั้น หลักการปรับลดวงเงินตามนโยบายของรัฐบาล คือต้องปรับลดวงเงินการลงทุน โดยพิจารณาปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้างที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่วงเงินที่ รฟม.ปรับลดยังไม่ได้คิดคำนวณเรื่องการปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุในประเทศ จึงต้องให้ไปพิจารณาและส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงคมนาคมใหม่อีกครั้ง.
ที่มา : www.thairath.co.th
คมนาคม ชงไฮสปีดเทรน กทม.-ระยอง เข้า PPP Fast Track โครงการที่ 6
ขุนคลัง ถกคณะกรรมการนโยบาย PPP เผย คมนาคม ชงไฮสปีดเทรน กทม.-ระยอง เข้า PPP Fast Track เป็นโครงการที่ 6 อยู่ระหว่างพิจารณาหาแนวทางให้เอกชนร่วมลงทุน ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด จ่อหารือประชุมครั้งหน้า...
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ว่า กระทรวงคมนาคมได้รายงานแผนความคืบหน้าเรื่องการพัฒนารถไฟ และรถไฟฟ้า รวมทั้งความคืบหน้าโครงการตามมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) และกระทรวงคมนาคมกำลังศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง นำเข้า PPP Fast Track เป็นโครงการที่ 6
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงความเป็นไปของโครงการ ซึ่งได้ศึกษาไปมากแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในลักษณะใด ใน 3 แนวทาง โดยแนวทางแรกให้เอกชนลงทุนทั้งหมด แนวทางที่ 2 เอกชนลงทุนระบบเดินรถ ส่วนรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แนวทางที่ 3 รัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบเดินรถ และให้เอกชนลงทุนบริการเดินรถ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด จะกลับมาเสนอต่อที่ประชุมในคราวหน้า
ส่วนโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) มี 5 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 334,207 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีมูลค่าโครงการ 56,725 ล้านบาท 2. โครงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีมูลค่าโครงการ 54,768 ล้านบาท 3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแคและช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีมูลค่าโครงการ 82,600 ล้านบาท 4. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีมูลค่าโครงการ 84,600 ล้านบาท และ 5. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีมูลค่าโครงการ 55,620 ล้านบาท.
ที่มา : www.thairath.co.th
รมว.คลัง ดันไฮสปีดเทรน กท.-ระยองเข้า PPP fast track เป็นโครงการที่ 6
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) ว่าวันนี้ กระทรวงคมนาคมได้รายงานแผนความคืบหน้าเรื่องการพัฒนารถไฟ และรถไฟฟ้า รวมทั้งความคืบหน้าโครงการตามมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) และกระทรวงคมนาคมกำลังศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง ความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง นำเข้า PPP Fast Track เป็นโครงการที่ 6
"กระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงที่ประชุม ศึกษาความเป็นไปของโครงการนี้ และได้ศึกษาไปมากแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในลักษณะใด ใน 3 แนวทาง แนวทางแรกให้เอกชนลงทุนทั้งหมด แนวทางที่ 2 เอกชนลงทุนระบบเดินรถ ส่วนรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แนวทางที่ 3 รัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบเดินรถ และให้เอกชนลงทุนบริการเดินรถ ในที่ประชุมให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด จะกลับมาเสนอต่อที่ประชุมในคราวหน้า"รมว.คลัง กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าในการปรับเพิ่มมูลค่าโครงการ PPP ที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 56 จาก 1 พันล้านบาท เป็น 5 พันล้านบาท เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการ PPP ได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการ PPP ขนาดเล็กที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย โดยกฎระเบียบที่จะออกมารองรับการปรับเพิ่มมูลค่าโครงการดังกล่าวนั้นมีความพร้อมแล้ว และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้
พร้อมกันนี้ที่ประชุมฯ ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ของกระทรวงคมนาคม ดังนี้ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี)มีมูลค่าโครงการ 56,725 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) มูลค่าโครงการ 54,768 ล้านบาท ที่กระทรวงคมนาคมเห็นชอบโครงการแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมของข้อมูล เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ PPP ในเดือน ก.พ.59 และเสนอเข้า ครม.ในเดือน มี.ค.59 รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมร่างคำสั่งและองค์ประกอบของคณะกรรมการคัดเลือก และร่างเอกสารคัดเลือกเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถคัดเลือกเอกชนได้ทันทีเมื่อ ครม.เห็นชอบ
3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ) มูลค่าโครงการ 82,600 ล้านบาท กระทรวงคมนาคมขอให้ รฟม.ทบทวนและปรับปรุงรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.58 ซึ่ง รฟม.ได้เสนอรายงานที่ปรับปรุงให้กระทรวงคมนาคมแล้ว และคาดว่ากระทรวงคมนาคมจะพิจารณาเห็นชอบในเดือน ก.พ.59 และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ PPP ในเดือน เม.ย.59 ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเดือน พ.ค.59 ต่อไป
4.โครงการทางหลวงพิเศษ (Motorway) เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าโครงการ 84,600 ล้านบาท และ 5. โครงการทางหลวงพิเศษ เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าโครงการ 55,620 ล้านบาท กรมทางหลวงคาดว่าจะสามารถสรุปผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเบื้องต้นเพื่อจัดทำการทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ได้ในเดือน ก.พ.59 โดยคาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้ในเดือน เม.ย.59 จากนั้นเสนอให้คณะกรรมการ PPP ได้พิจารณาในเดือน มิ.ย.59 และเสนอ ครม.ในเดือน ก.ค.59 ให้พิจารณาได้ตามกรอบระยะเวลา PPP Fast Track
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง รวมทั้งโครงการ Motorway เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา และเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดระยะเวลาของมาตรการ PPP Fast Track แต่ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีการปรับปรุงกรอบเวลาจากแผนงานเดิม เนื่องจากกระทรวงคมนาคมให้ รฟม.ปรับปรุงข้อมูลให้มีความเหมาะสมและถูกต้องตามขั้นตอนมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเสนอความพร้อมของโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง เพื่อกำหนดเป็นโครงการตาม PPP Fast Track โดยให้กระทรวงคมนาคมสร้างความชัดเจนของการใช้เขตทาง และรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน และนำมาเสนอต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป
ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบแผนการพัฒนาระบบรถไฟและรถไฟฟ้าของกระทรวงคมนาคม โดยแบ่งเป็นการลงทุนด้านรถไฟ เช่น แผนการพัฒนาทางคู่ทั้งประเทศ 2 ระยะ วงเงินลงทุนราว 3.29 แสนล้านบาท และทางรถไฟที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศ เช่น รถไฟไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น รวมทั้งการลงทุนด้านรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ในภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้การพิจารณาโครงการ PPP มีความสอดคล้องกับแผนการลงทุนของประเทศในภาพรวม
อินโฟเควสท์