- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Tuesday, 26 January 2016 13:05
- Hits: 2458
ขนส่งทางบกเก็บภาษีรถยนต์เฉพาะกทม.ไตรมาสแรกปีงบ 59 ได้กว่า 1.8 พันล้าน
กรมการขนส่งทางบกเผยไตรมาสแรกของปีงบ 59 เก็บภาษีรถยนต์ในเขต กทม.ได้ถึง 1,838 ล้านบาท โดยคนกรุงยังนิยมเลือกชำระภาษีรถผ่านที่ สนง.ขนส่งทางบกมากที่สุด ส่วนจ่ายผ่านเว็บไซต์ และมือถือยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง...
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่าการจัดเก็บภาษีรถประจำปีในเขตกรุงเทพมหานคร เฉพาะไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม - ธันวาคม 2558) สามารถจัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 1,838,950,413.86 บาท ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเลือกชำระภาษีรถประจำปี ผ่านช่องทางการให้บริการหลากหลายช่องทาง ผลปรากฏว่าประชาชนยังคงนิยมเลือกใช้บริการรับชำระภาษีรถยนต์ ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 ของกรมการขนส่งทางบกมากที่สุด จำนวน 1,198,227 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 1,333,874,085.95 บาท รองลงมาเป็นการใช้บริการรับชำระภาษีรถผ่านช่องทาง “เลื่อนล้อ ต่อภาษี” (Drive Thru for Tax) ชำระภาษีโดยไม่ต้องลงจากรถ จำนวน 200,075 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 330,579,839.61 บาท
การใช้บริการรับชำระภาษีรถที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในวันเสาร์-อาทิตย์ ทั้ง 14 สาขา ได้แก่ สาขาลาดพร้าว รามอินทรา รัชดาภิเษก บางปะกอก เพชรเกษม อ่อนนุช สุขาภิบาล 3 บางบอน สุวินทวงศ์ แจ้งวัฒนะ บางใหญ่ สำโรง ศรีนครินทร์ และบางนา ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลรามอินทรา เซ็นทรัลลาดพร้าว รวมทั้งศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค ตามโครงการ “ช็อปให้พอ แล้วต่อภาษี” มีประชาชนมาใช้บริการจำนวน 86,098 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 119,657,813.26 บาท
ส่วนที่ศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น. มีผู้มาใช้บริการ จำนวน 20,970 ราย จัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 25,820,165.55 บาท ขณะที่การชำระภาษีรถผ่านเว็บไซต์ www.dlte-serv.in.th มียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 24,389,554.34 บาท นอกนั้นเป็นการใช้บริการชำระภาษีรถผ่านไปรษณีย์และผ่านโทรศัพท์มือถือบน เครือข่าย AIS และ True move
นายสนิท กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับชำระภาษีรถผ่านช่องทางต่างๆ นั้น เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งเจ้าของรถสามารถชำระภาษีรถล่วงหน้าก่อนครบกำหนด 3 เดือน เพียงนำหลักฐานการทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมาแสดง และสำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี ขึ้นไป หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปีขึ้นไป ต้องมีใบรับรองการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) มาแสดงด้วย โดยจะมีสมุดคู่มือจดทะเบียนรถหรือไม่ก็ได้ รวมถึงรถที่ติดตั้งแก๊สต้องมีหนังสือรับรองการตรวจสอบ และทดสอบตามระยะเวลาที่กำหนดด้วย.
ที่มา : www.thairath.co.th