- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Sunday, 03 January 2016 20:20
- Hits: 7502
เชื่อมโยงขนส่งอย่างปลอดภัย ในอาเซียน 12 เส้นทางหลวง!
บ้านเมือง : นายอรวิทย์ เหมะจุฑา ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การประชุมวิชาการการขนส่งแห่งชาติได้จัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 โดยคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง ภายใต้คณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ที่มุ่งเน้นการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการถ่ายทอดผลงาน ประสบการณ์ และงานวิจัย เพื่อจรรโลงวิชาชีพวิศวกรรมและเทคโนโลยีไทยให้เจริญก้าวหน้าในระดับสากลเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ การประชุมวิชาการการขนส่งแห่งชาติครั้งที่ 10 นี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ’การเชื่อมโยงการขนส่งอย่างปลอดภัยในอาเซียน’เพื่อเป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมขนส่งโดยเน้นการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย
สำหรับ การก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณาจารย์และนิสิตนักศึกษา ที่มาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และนำเสนอผลงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่งให้เจริญก้าวหน้าต่อไป การพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ผลงานวิจัย และประสบการณ์ด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่งในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะสานต่อความร่วมมือในการปรับปรุง พัฒนา รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ทางวิศวกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตรฐานการจราจรขนส่งที่สอดคล้องกันในอาเซียน เช่น แสงสว่าง ป้าย เครื่องหมาย สัญญาณไฟจราจร ที่จะช่วยให้การจราจรและขนส่งภายในกลุ่มประเทศอาเซียนมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
นายพิศักดิ์ จิตตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า การขนส่งเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่นำปัจจัยการผลิตและผลผลิตออกไปยังที่ต่างๆ ดังนั้นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัวอย่างยั่งยืน ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังพัฒนาและเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยทางหลวง 12 เส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 6,693 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางจำนวน 9 เส้นที่เป็นทั้งทางหลวงเอเชียและทางหลวงอาเซียน ได้แก่ AH1, AH2, AH3, AH12, AH13, AH15, AH16, AH18 และ AH19 และ 3 เส้นทางเป็นทางหลวงอาเซียนเพียงอย่างเดียว ได้แก่ AH112, AH121 และ AH123 ซึ่งช่วยให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้คล่องตัว ช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนในการขนส่ง ทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่การเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงง่าย ก็จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งจากประเทศในอาเซียนและประเทศอื่นๆ เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความมั่นใจว่า ถนนและทางหลวง รวมถึงระบบขนส่งมีประสิทธิภาพที่จะรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต วิศวกรรมจราจรและขนส่งซึ่งเป็นสาขาวิศวกรรมที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการ แหล่งเงิน และจัดลำดับความสำคัญ จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีความปลอดภัย สะอาด ประหยัด และมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เพื่อช่วยกำกับการใช้รถให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ใช้รถ ผู้ร่วมทาง และประชาชนในเส้นทาง