WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Aอาคม เตมพทยาไพสฐ copyครม.ไฟเขียว 'BMCL' ควบรวม 'BECL'

     ครม.เห็นชอบ ควบรวมบริษัท ‘บีเอ็มซีแอล’และ ‘บีอีซีแอล’จ่อ จัดตั้งบริษัทร่วม ‘บีอีเอ็ม’แก้สัญญาสัมปทาน 3 โครงการ คาดแล้วเสร็จไตรมาสแรก ปี 59 ขณะที่ ช.การช่าง ยัน ประโยชน์การควบรวมเอื้อธุรกิจมีศักยภาพ

     นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ครม. ได้มีมติรับทราบกรณีการควบรวมบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ที่มีคู่สัญญาเป็น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ที่มีคู่สัญญาเป็นการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยกระบวนการหลังจากนี้ บริษัทฯ ดังกล่าวจะดำเนินการตามขั้นตอนที่อัยการได้พิจารณาร่างสัญญาไว้แล้ว ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

     อย่างไรก็ดี ตามกระบวนการปรับเปลี่ยนคู่สัญญาของโครงการที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมนั้น คาดการณ์ว่า จะดำเนินการได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2559 ภายหลังบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จ ซึ่งต้องแจ้งต่อผู้ถือหุ้นภายในปีนี้ ในส่วนของโครงการที่จะต้องจัดทำปรับเปลี่ยนคู่สัญญาใหม่ ประกอบไปด้วย โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่–เตาปูน และทางด่วนขั้นที่ 2 สายศรีรัช วงแหวนรอบนอก

   “ระหว่างนี้ บริษัท บีอีซีแอล จะต้องทำการล้างหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทให้หมด ก่อนทำการควบรวมกับ บริษัท บีอีซีแอล เป็นไปตามข้อกำหนดของการจัดตั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ในส่วนของการปรับเปลี่ยนคู่สัญญาไม่ได้ติดขัดอะไร เนื่องจากได้รับการพิจารณาจากอัยการสูงสุดแล้ว โดย ครม.ก็ได้กำชับมาว่า ให้พิจารณาการดำเนินการโครงการหลังจากนี้ ต้องไม่ติดขัดปัญหา และไม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร และดำเนินไปตามมาตรา 47 พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556”

   นายอาคม ยังกล่าวอีกว่า การควบรวมธุรกิจครั้งนี้ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแบ่งได้ชัด 2 ส่วน คือ 1. จะสร้างประโยชน์ในการผลักดันขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ มีศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจไปยังต่างประเทศ และ 2. การควบรวมก็ไม่ได้มีผลต่อสัมปทานที่มีอยู่ ดังนั้นจึงไม่ติดขัดหากจะมีการควบรวมธุรกิจและส่งผลดีขึ้น

    ด้าน นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ เปิดเผยว่า การควบรวมบริษัทฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้วนั้น หลังจากนี้จะมีการจัดประชุมชี้แจงผู้ถือหุ้นภายในเดือน ธ.ค.นี้ เนื่องจากบริษัทฯ ตั้งเป้าควบรวมบริษัทให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 โดยในส่วนของประเด็นการเปลี่ยนคู่สัญญาระหว่างโครงการของภาครัฐฯ ก็ไม่ได้ติดขัดต่อปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมาดำเนินการตามกระบวนการ และผ่านพิจารณาจากอัยการสูงสุด ซึ่งแน่นอนว่า การควบรวมบริษัทครั้งนี้จะส่งผลให้ศักยภาพการดำเนินงานสูงขึ้น

ครม.ไฟเขียว รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงิน 1.1 แสนล้าน

   ครม.เห็นชอบ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงิน 1.1 แสนล้าน กำชับออกแบบก่อสร้างประหยัด ใช้วัสดุผลิตในประเทศ สนับสนุนเอสเอ็มอี ส่วนระบบเดินรถ-ตัวรถ เข้ากระบวนการ PPP…

     นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ขออนุมัติดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี วงเงินรวม 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เงินลงทุนงานก่อสร้าง 9.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งครม.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาเงินกู้ที่เหมาะสมในกรอบวงเงินค่าก่อสร้าง รวมค่าจ้างที่ปรึกษาเป็นเงิน 8.54 หมื่นล้านบาท

   นอกจากนี้ มีค่ากรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 9,600 ล้านบาท และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณที่มาจากรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นค่าใช้จ่ายเพียงพอต่อการบริหารงานและการลงทุน ส่วนที่เหลือเป็นงานระบบเดินรถและตัวรถไฟฟ้า ซึ่งจะเข้ากระบวนการให้เอกชนเข้าร่วมทุน (PPP) โดยให้ รฟม.และกระทรวงคมนาคมนำเสนอเรื่องการเดินรถเข้าที่ประชุม PPP โดยเร็วที่สุด

     สำหรับ โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มีระยะทาง 21.2 กม. เป็นทางวิ่งยกระดับ 9 กม. ทางวิ่งใต้ดิน 12.2 กม. ทั้งหมดมี 17 สถานี บนดิน 7 สถานี และสถานีใต้ดิน 10 สถานี จุดเริ่มต้นอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ออกถนนพระราม 9 วิ่งเข้าสู่ถนนรามคำแหง เข้าแยกถนนกาญจนาภิเษกไปสิ้นสุดที่ใกล้จุดตัดถนนรามคำแหงกับถนนสุวินทวงศ์ คาดการณ์จะมีจำนวนผู้โดยสาร 4.8 แสนคน/วัน

     ทั้งนี้ ครม.มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้เน้นออกแบบงานก่อสร้างแบบประหยัดและใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผลิตภายในประเทศ รวมทั้งตัวระบบรถ ระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณต่างๆ ให้สนับสนุน Super Clusters ให้มีชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศของเอสเอ็มอี เช่น ทำเบาะรถ เป็นต้น ซึ่งมีขีดความสามารถในประเทศและนวัตกรรมต่างๆ ส่วนตัวระบบรถอาจจะนำโครงรถไฟฟ้าเข้ามา และนำมาประกอบภายในประเทศให้เป็นตัวรถที่สมบูรณ์แบบ รวมทั้งการตกแต่งภายในตัวรถที่ใช้วัสดุในประเทศ ซึ่ง รฟม.จะนำเสนอรายละเอียดอีกชั้นหนึ่งให้กับ ครม.ต่อไป

      นอกจากนี้ ครม.ได้กำชับค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน ต้องเป็นบริษัทที่เป็นอิสระ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องผู้รับเหมาก่อสร้างหรือบริษัทออกแบบ รวมทั้งการจ้างที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้างจะต้องไม่เป็นบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัททั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง และบริษัทผู้ออกแบบ

      พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้การเดินหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสายในสัญญาฉบับใหม่ ต้องเน้นการใช้วัสดุภายในประเทศอย่างน้อย 30% ที่เหลือเป็นการสั่งซื้ออีก 70% เน้นการสร้างธุรกิจในประเทศรองรับการอุตสาหกรรมเหล่านี้ เช่น อุปกรณ์ตกแต่งในรถไฟฟ้า หรือหลอดไฟ เป็นต้น และต้องมีการเตรียมพร้อมไปสู่การพัฒนาผลิตรางรถไฟด้วยตัวเอง แม้ปัจจุบันยังติดขัดในเรื่องเหล็กเส้นที่ยังไม่ได้คุณภาพ จึงยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าอยู่ รวมทั้งอยากให้มีการต่อยอดใช้สำหรับรถประจำทางในหลักการเดียวกันด้วย

                ที่มา : www.thairath.co.th วันที่ 08 Dec 2015 - 21:41

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!