- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 09 December 2015 09:18
- Hits: 3022
บินไทยรอดตายไฟลท์ยุโรป เอียซ่าออกใบรับรองโฉบเข้า-ออกฉลุย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน ระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (เอียซ่า) ว่า หลังลงนาม เอียซ่าจะให้ความช่วยเหลือไทยด้านการจัดทำกฎระเบียบและแลกเปลี่ยนบุคลากร โดยนำแนวคิด วิธีการ กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติและคู่มือต่างๆ ของเอียซ่ามาเป็นแนวทางการออกกฎระเบียบด้านความปลอดภัยการบินของไทย “คาดหวังว่าการเรียนรู้ครั้งนี้จะทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยเคียงคู่กับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของเอียซ่าและมองว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางการบินในอาเซียน โดยย้ำให้ไทยให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นสายการบินเล็กหรือใหญ่ รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนกพท.จริงจัง ทั้งบุคลากรและงบประมาณ”
นายอาคมกล่าวต่อถึงผลประเมินของเอียซ่าที่จะประกาศเป็นทางการในวันที่ 10 ธ.ค.ว่า ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าผลจะออกมาอย่างไร เพราะเป็นการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการอียูไม่ใช่เอียซ่า ส่วนตัวมองว่าการลงนามร่วมกันครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เอียซ่าพอใจที่บรรลุข้อตกลงความร่วมมือในการสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานความปลอดภัยด้านการบินของไทย แต่การลงนามไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะผ่านการประเมิน
ด้านนายแพททริก คีย์ ผู้อำนวยการบริหารเอียซ่า กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวยุโรป และยังเป็นประตูที่เชื่อมต่อการเดินทางไปภูมิภาคต่างๆ หากไทยมีปัญหาก็ถือว่าเป็นปัญหาของผู้โดยสารจากอียูด้วย ดังนั้นต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังทั้งระยะสั้น กลางและยาว เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินให้มีมาตรฐานที่ดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาเอียซ่าเห็นถึงความตั้งใจสูงสุดของรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา
นายปีเตอร์ บอมเบย์ รองหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยด้านการบิน กระทรวงคมนาคมสหภาพยุโรป กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ว่าผลการประเมินจะออกมาอย่างไร ตนเป็นหน่วยงานด้านตรวจสอบที่ทำหน้าที่เพียงเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจสอบไทยให้คณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ โดยอียูมองว่าไทยจะเป็นประเทศหลักที่จะช่วยให้อียูเข้ามาทำความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอื่นๆในอาเซียนได้ต่อไป
นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และผู้อำนวยการ กพท.กล่าวว่า ทางเอียซ่าระบุว่าจะประกาศผลอย่างเป็นทางการวันที่ 11 ธ.ค.58 และเริ่มบังคับใช้กับไทยในวันที่ 12 ธ.ค.58 โดยแนวโน้มที่ทางเอียซ่าจะประกาศแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ 1.สายการบินของไทย สายใดบ้างห้ามเข้ายุโรป และ 2.ห้ามทุกสายการบินของไทยบินเข้ายุโรป โดยปัจจุบันมีสายการบินที่ขอเป็นผู้ประกอบการเข้ายุโรป 2 สายการบิน คือ เอ็มเจ็ท และการบินไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การประเมินผลของเอียซ่าจะไม่กระทบต่อเที่ยวบินของสายการบินไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้เอียซ่าได้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานของสายการบินไทย พร้อมออกใบอนุญาตรับรองให้สามารถบินเข้าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้ หรือใบรับรองจาก TCO (Third Country Operators) ซึ่งบริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด ได้ยื่นขอตรวจสอบและได้ใบรับรองเช่นกัน.
ที่มา : www.thairath.co.th วันที่ 09 Dec 2015 - 05:45
คมนาคม ลงนาม 'เอียซา' ความปลอดภัยการบิน เชื่อ 10 ธ.ค. มีข่าวดี
คมนาคม ร่วมมือ เอียซา ลงนามความปลอดภัยด้านการบิน ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร พัฒนาบุคลากรด้านการบิน หวัง ยกระดับการบินของประเทศ ขณะที่ ผู้บริหารเอียซา เชื่อ 10 ธ.ค. มีข่าวดี พิจารณาจัดชั้นมาตรฐานการบินของไทย...
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือความปลอดภัยด้านการบิน ระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือเอียซา โดยมีผู้แทนของไทย คือ นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และนายแพทริค คี ประธานผู้บริหารระดับสูงของเอียซา
ทั้งนี้ นายอาคม กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและยกระดับความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย ซึ่งจะเน้นความร่วมมือในการจัดทำกฎระเบียบและแลกเปลี่ยนบุคลากร โดยการนำแนวคิด วิธีการ กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติ และเอกสารคู่มือต่างๆ ของเอียซา มาเป็นแนวทางการออกกฎระเบียบด้านความปลอดภัยการบินของไทย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้มีประสิทธิภาพ
ด้าน นายแพทริค คี กล่าวว่า การพิจารณาของเอียซาทราบดีว่าไทย ถือเป็นจุดหมายปลายทางการเดินทางของอากาศยานที่สำคัญ ซึ่งเอียซาให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาการบินโดยเฉพาะความปลอดภัย ที่ผ่านมาอากาศยานทั่วโลกความปลอดภัยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ปี 2556 ไม่เกิดอุบัติเหตุทางอากาศยาน แต่ปี 2557 พบว่าเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึง 4 ครั้ง รวมถึงอุบัติเหตุมาเลเซียแอร์ไลน์ส
ดังนั้น การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยการบินจึงไม่หยุดนิ่ง ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา ในส่วนของเอียซาพอใจในความตั้งใจของรัฐบาลที่มีสูงสุดที่จะเร่งแก้ปัญหาและมีการดำเนินการตามแผนระยะสั้น กลาง และยาว ทำให้การแก้ไขปัญหาเกิดความมั่นใจมากขึ้น การพิจารณาจัดชั้นมาตรฐานการบินของไทย ในส่วนของเอียซาที่จะมีคณะกรรมการพิจารณานั้น จะได้ข้อสรุปเวลา 12.00 น. ของวันที่ 10 ธันวาคม ตามเวลากรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งตรงกับเวลา 18.00 น. ของไทย สำหรับการพิจารณาจัดชั้นมาตรฐานการบินของไทย ในส่วนของเอียซาที่จะมีคณะกรรมการพิจารณานั้น จะได้ข้อสรุปเวลา 12.00 น. ของวันที่ 10 ธันวาคม ตามเวลากรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งตรงกับเวลา 18.00 น. ของไทย
ที่มา : www.thairath.co.th วันที่ 08 Dec 2015 - 13:35
กพท.ร่วมมือ EASA ส่งเสริม-ยกระดับความปลอดภัยการบิน ลุ้นผล 10 ธ.ค.นี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานในการลงนามร่วม (Cooperation Framework Arrangement on Aviation Safety) ระหว่างกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ The European Aviation Safety Agency (EASA) วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและยกระดับความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย ซึ่งจะเน้นการจัดทำกฎระเบียบและแลกเปลี่ยนบุคลากร ตามแนวคิด วิธีการกฎระเบียบ วิธีปฎิบัติ และเอกสารคู่มือต่างๆ ของ EASA รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการ กพท.เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้คณะกรรมการสหภาพยุโรป(อียู)จะประกาศผลการพิจารณาในเวลาประมาณ 18.00 น.ของไทย ซึ่งจากการเข้ามาตรวจสอบของEASA เน้นที่ความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาด้านการบิน และไม่ไขึ้นอยู่กับารพิจารณาของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(FAA)
อย่างไรก็ตม เบื้องต้นเชื่อว่าอียูจะไม่ประกาศลดเกรดเหมือน FAA โดยกรณีที่ดีที่สุดคือจะไม่มีชื่อประเทศไทยอยู่ในการเฝ้าระวัง ซึ่งจะไม่มีการแบนสายการบินของประเทศไทยที่ทำการบินเข้าอียู ขณะที่กรณีแย่ที่สุด คือประกาศแบนทุกสายการบินของไทย หรือแบนเป็นรายสายการบิน ซึ่งถือว่าร้ายแรงกว่ากรณี FAA ดังนั้น ทางการบินไทยจะต้องเตรียมแผนรองรับในทางธุรกิจไว้ด้วย
ทั้งนี้ EASA เป็นตัวแทน 28 ประเทศของอียูประเมินสายการบินต่าง ๆ โดยในรอบนี้ บมจ.การบินไทย (THAI)เชิญให้ EASA มาประเมินมาตรฐานดานความปลอดภัย รวมถึงแผนการแก้ปัญหาของ กพท.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้วย แต่ EASA จะเน้นที่สายการบินมากกว่า หลังจากนั้นจะเสนอผลการประเมินให้ที่ประชุมคณะกรรมการอียูต่อ ซึ่งปกติจะมีการตรวจสอบและประกาศการพิจารณาสายการบินต่างๆ ของทุกประเทศที่ทำการบินเข้าอียู ทุก 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเมื่อครั้งที่แล้วอียูประกาศว่าไม่มีเหตุที่จะต้องแบนประเทศไทย
ด้านนายปีเตอร์ บอมเบย รองหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยด้านการเดินอากาศ กระทรวงคมนาคมของสหภาพยุโรป กล่าวว่า เกณฑ์หลักๆ ที่จะพิจารณาจะเน้นเรื่องความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับทราบเห็นว่ารัฐบาลไทยมีความตั้งใจจากที่ได้มีการจัดสรรทรัพยากรทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรเพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมา และในการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือกันแก้ปัญหาในระยะยาว
อินโฟเควสท์