WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Payutนายกฯ สั่งทบทวนปัญหาการบิน หลัง FAA ลดชั้น จี้ THAI ปฏิบัติตามแผน

   พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาการบินพลเรือนของไทยว่า รัฐบาลได้แก้ปัญหาที่มีเป็นจำนวนมากทั้งในส่วนของ ICAO และ FAA โดยเฉพาะ ICAO ที่ต้องแก้ไขมากกว่า 30 ข้อในเวลาที่จำกัด แต่ก็มีบางส่วนที่แก้ไขได้ตามกรอบเวลา

    ส่วนเรื่องโครงสร้างและจำนวนบุคคลากรที่มีจำนวนไม่เพียงพอก็ต้องขอความร่วมมือจากคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้กลับเข้ามาช่วยเหลือประเทศ โดยรัฐบาลจะบรรจุงานด้านนี้ให้ อีกทั้งต้องทบทวนการบินทั้งหมด และได้มีการประเมินผลการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว

    นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงการดำเนินธุรกิจของ บมจ.การบินไทย(THAI) โดยได้สั่งการให้แก้ไขในหลายจุด ซึ่งต้องดูว่าจะสามารถแก้ไขได้ทันตามกรอบเวลาหรือไม่ เพราะมีปัญหาสะสมมานาน และการแก้ปัญหาต้องดีที่สุดด้วยการดำเนินการตามแผนระยะสั้น กลาง และยาว รวมถึงการประเมินของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป(EASA) ก็ต้องทำความเข้าใจว่าไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ในคราวเดียว แต่ต้องร่วมกันในการแก้ปัญหาเพื่อประเทศชาติ

                        อินโฟเควสท์

ประวิตร เรียก 41 สายการบินถกมาตรฐานความปลอดภัยก่อนนัดตรวจสอบ

    พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะมีการเชิญสายการบินทั้ง 41 สายที่ได้รับอนุญาตจาก กรมการบินพลเรือน (ชื่อในอดีต) มาประชุม เพื่อเน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยในการบิน โดยอาจกำหนดวันเวลาในการตรวจสอบทบทวนการอนุญาตบิน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในแผนงานการแก้ไขปัญหา และการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน ของประเทศไทย

ไทย ส่อซ้ำรอย'อินโด-ฟิลิปปินส์'กรณีEASAประเมินให้สอบตก

         แนวหน้า : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(อีไอซี) จัดทำบทวิเคราะห์ เรื่อง สหรัฐฯประกาศลดระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยให้อยู่ในประเภทที่ 2 ว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การบินไทยซึ่งเป็นสายการบินสัญชาติไทยเพียงรายเดียวที่ทำการบินไปยังสหรัฐฯ ได้ยกเลิกเส้นทางบินไปกลับ กรุงเทพฯโซล-ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนต.ค.2015

    อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาผลการประเมินของสำนักงานบริหารความปลอดภัยด้านการบินของสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA)ซึ่งมีแนวโน้มสอดคล้องกับผลการประเมินของ FAA

    "จากกรณีศึกษาของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์พบว่า ผลการประเมินของ FAA และ EASA มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน"

    อย่างฟิลิปปินส์ FAA ปรับลดระดับมาตรฐานด้านการบินในปี 2008 และ EASA มีคำสั่งห้ามสายการบินของฟิลิปปินส์บินเข้าสหภาพยุโรปในปี 2010 อย่างไรก็ดีจากบทเรียนของอินเดีย พบว่าการคืนสถานะของ FAA สามารถทำได้ในระยะเวลาไม่นานนัก (1 ปี) หากมีการดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

รมว.คมนาคม เร่งแก้ FAA ลดชั้นไทย,คาดปลดธงแดงหลัง ICAO ตรวจซ้ำส.ค.59

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้วางแนวทางแก้ปัญหากรณีที่สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา(FAA) ปรับลดมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย โดยจะมุ่งเน้นแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC ) จากผลการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นสำคัญ ที่มีอยู่ 33 ข้อ และดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องอื่นๆควบคู่กันไป ซึ่งตามแผนงานจะให้ทาง ICAO เข้ามาตรวจสอบซ้ำในเดือนส.ค. 59 และคาดว่าจะปลดธงแดงได้หลังจากนั้น

     ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจและให้ใบอนุญาตใหม่ของสายการบิน ซึ่งเน้นไปที่สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศที่มีจำนวน 28 สายการบิน จากทั้งหมดที่มี 41 สายการบิน ซึ่งได้แจ้งไว้ในแผนแก้ไขที่ ICAO รับทราบแล้ว

     อย่างไรก็ตาม ทาง ICAO ได้กำชับว่าการเข้ามาตรวจซ้ำนั้น ทางไทยต้องมั่นใจว่าจะสอบผ่านมาตรฐานได้ เพราะไม่ผ่านครั้งนี้จะยังคงติดธงแดงไปอีกนาน สอดคล้องกับทางสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป (EASA) ก็ได้แนะนำให้ไทยยืดเวลาขอปลดธงแดงกับ ICAO ออกไปเป็นปลายปี 59

     อนึ่ง เมื่อเดือน มิ.ย. ICAO ได้ติดสัญลักษณ์ธงแดงหน้าชื่อของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก หลังแผนแก้ไขข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญของไทยยังไม่ผ่านการพิจารณาของ ICAO ขณะที่ FAA ได้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยเมื่อช่วงเดือนต.ค.และเมื่อวานนี้ได้แจ้งผลการตรวจสอบการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยปรับลดจาก Category 1 (CAT1) เป็น Category 2 (CAT 2) ทำให้สายการบินที่จดทะเบียนโดย กพท.ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินหรือเพิ่มจุดบินใหม่ในสหรัฐอเมริกาได้

    "เราต้องแก้ปัญหาให้เร็วที่สุดเพื่อให้สายการบินทำธุรกิจได้ ทั้งในเรื่องการออกใบรับรองใหม่ให้สายการบิน ใบกำกับความเหมาะสมของอากาศยาน"นายอาคม กล่าว

    นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะนำผลการตรวจสอบของ FAA และข้อแนะนำจากการมาเยือนของ EASA  และกรมการบินพลเรือนญี่ปุ่น (JCAB) รวมเป็นแนวทางในการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินของไทย โดยคาดว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถแก้ไขและปรับปรุงในภาพรวมทั้งหมด

    นอกจากนี้ กระทรวงจะกำกับให้ กพท.เร่งดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างการดำเนินงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งเร่งรัดในการจัดหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติและจำนวนที่เพียงพอเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินงานการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนของกพท. เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ โดยโครงสร้างใหม่ของกพท.จะมีอัตรากำลังคน 500 คนเพื่อให้เหมาะสมในการกำกับดูแลกับสายการบินที่จดทะเบียนในไทย และเครื่องบินที่ใช้บินที่มีการออกใบอนุญาตทำธุรกิจสายการบิน (AOL) และใบอนุญาตปฏิบัติการบิน (AOC)

    ทั้งนี้ ทาง ICAO ได้ย้ำกับกระทรวงคมนาคมเรื่องบุคลากรต้องยืนได้ด้วยตัวเองเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์องค์กร ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปจะมีการจ้างบุคลาการเพิ่ม รวมทั้งการจ้างที่ปรึกษา ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้าฝึกอบรมบุคลากร  โดยในเดือนม.ค.59 ทาง JCAB จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่กพท.เป็นเวลา 2 ปี ในการถ่ายทอดประสบการณ์ รวมทั้งได้ประสานกับ ICAO และ EASA เป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยสร้างบุคลากรร่วมกันด้วย

    นายอาคม กล่าวว่า จากผลการตรวจสอบของ FAA ในการจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม Category 2 จะส่งผลกระทบต่อสายการบินของไทยในการปฏิบัติการบินไปยังสหรัฐอเมริกา คือ 1. FAA จะไม่พิจารณาเพิ่มข้อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติการ (Operation Specifications)

     2. FAA จะแนะนำให้กระทรวงคมนาคม สหรัฐอเมริกา (Department of Transportation -DOT) มีมาตรการจำกัดการอนุญาตให้ทำการบินในเชิงพาณิชย์ โดยให้คงระดับตามที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ไม่ให้มีการเพิ่มจุดหมายปลายทาง ไม่ให้เปลี่ยนแบบอากาศยาน และไม่ให้เพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน

   3. สายการบินของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถปฏิบัติการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วม (Codeshare) กับสายการบินของไทยได้ แต่สายการบินของไทยยังสามารถดำเนินการ Codeshare กับสายการบินของสหรัฐอเมริกาหรือของประเทศที่จัดอยู่ใน Category 1 ได้

    4. อาจจะมีการทบทวน หรือจำกัดสิทธิทางเศรษฐกิจ (economic right) บางส่วนที่ได้รับภายใต้ข้อตกลงสิทธิทางการบินสองฝ่าย (Bilateral Air Transport Agreement)

     อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีสายการบินของไทยทำการบินตรงไปยังสหรัฐอเมริกา หรือปฏิบัติการบินโดยการ Codeshare กับสายการบินของสหรัฐอเมริกา และไม่มีสายการบินของสหรัฐอเมริกาดำเนินการ Codeshare กับสายการบินของไทย ดังนั้น ผลกระทบจากผลการตรวจสอบของ FAA ข้างต้น จึงไม่ส่งผลต่อสายการบินของไทยโดยตรง ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกายังสามารถเดินทางโดยใช้บริการผ่านสายการบินที่เป็นพันธมิตร (partner) ได้

        อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!