- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 03 December 2015 16:24
- Hits: 2387
รมว.คมนาคม ยันโครงการรถไฟไทย-จีน จะเริ่มสร้างกลางปี 59 ส่วนมูลค่าโครงการที่เพิ่มเป็น 4-5 แสนลบ. เพราะต้องเพิ่มสถานี-ต้นทุนพุ่ง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 9 ว่าโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นกรุงเทพฯ-หนองคาย จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในกลางปี 59 โดยมูลค่าโครงการขณะนี้อยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 3.69 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการเพิ่มสถานีและวิธีคิดราคาต้นทุนเรื่องค่าก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก
โดยภายในเดือนธ.ค.นี้ ทางการจีนจะส่งรายงานด้านการออกแบบเส้นทางในช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา มาให้ไทย ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ไม่มีการหารือกันในวันนี้
"เรื่องนี้เป็นเรื่องของนโยบายที่อยากจะให้โครงการนี้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของการก่อสร้าง ซึ่งเราพยายามอย่างเต็มที่ในการให้เห็นในเรื่องของการก่อสร้างภายในกลางปีหน้า" นายอาคม กล่าวกับผู้สื่อข่าว
'สมคิด' โต้ข่าวชะลอรถไฟไทย-จีน แจง สั่งคมนาคมเจรจาปรับเงื่อนไข
รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ยัน ไม่ได้สั่งชะลอรถไฟไทย-จีน แจง มอบหมายคมนาคม เร่ง สรุปเม็ดเงินโครงการ-เจรจาดอกเบี้ยเงินกู้ เผย ควรแล้วเสร็จก่อนรองนายกฯ จีน เดินทางมาเยือนไทย 3-4 ธ.ค.นี้ ...
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ยืนยัน ไม่ได้สั่งชะลอโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน แต่ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ไปเจรจาปรับเงื่อนไขความร่วมมือบางด้านเล็กน้อย โดยต้องแล้วเสร็จก่อนกำหนดลงนามความร่วมมือกันในโอกาสที่รองนายกรัฐมนตรีของจีนเดินทางมาเยือนไทย ทั้งเรื่องข้าว ยางพารา และกรอบความร่วมมือพัฒนารถไฟพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบทางจีนจะเปลี่ยนแปลงผู้รับซื้อยางพารา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงต้องมีหนังสือแจ้งเป็นทางการ
"สิ่งที่ทางกระทรวงคมนาคมต้องเร่ง คือ การสรุปเม็ดเงินโครงการ และเจรจาเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ ในโครงการรถไฟไทย-จีน ส่วนการลงนามที่จะเซ็นในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ต้องรอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม สรุปมาก่อน หากเอกสารสำหรับการลงนามและทางจีนพร้อมก็ไม่มีปัญหา ทุกอย่างควรเจรจาให้จบก่อนที่รองนายกรัฐมนตรีของจีนจะเดินทางมาไทย 3-4 ธ.ค.นี้ แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ประเด็นสำคัญ คือ ให้มีการ Joint Committee ร่วมกัน แต่ข่าวที่ชะลอเซ็นผมก็ไม่รู้ว่าเอามาจากไหน" นายสมคิด กล่าว.
รฟท. เล็งดึงเอกชนร่วมทุน พัฒนาพื้นที่พาณิชย์รอบสถานีบางซื่อ
รฟท. สรุปผลการศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีกลางบางซื่อ เผย ใช้พื้นที่กว่า 218 ไร่ ลงทุนกว่า 6.8 หมื่นล้าน จ่อชง พ.ร.บ.ร่วมทุน พร้อมประกาศเชิญชวนเอกชน ร่วมทุนภายในปี 60 หวังผลักดันเป็นศูนย์กลางธุรกิจ-เดินทางเชื่อมโยงในอาเซียน...
วันที่ 2 ธ.ค.58 นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความพร้อมอย่างมากที่จะเปิดประกาศเชิญชวนเอกชน เข้ามาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟ เนื่องจากขณะนี้ รฟท.ได้มีการสรุปผลการศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รอบสถานีกลางแล้ว โดยหวังว่า การพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ จะมีศักยภาพในการพัฒนาเป็น ASEAN Linkage and Business Hub:ศูนย์กลางธุรกิจและการเดินทางเชื่อมโยงในระดับอาเซียน
ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่จะแบ่งเป็นพื้นที่การศึกษาเป็น 3 แปลง รวม 218 ไร่ ประกอบด้วย แปลงที่ 1 (โซน A) ขนาด 35 ไร่ อยู่ใกล้กับสถานีกลางบางซื่อ ประมาณ 50-100 เมตร เหมาะสำหรับพัฒนาเป็นพื้นที่ทางธุรกิจ เช่น โรงแรมสำหรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และที่จอดรถ เป็นต้น แปลงที่ 2 (โซน B) ขนาด 78 ไร่ ติดกับถนนกำแพงเพชร และอยู่ในระยะเดินเท้าได้จากสถานีกลางบางซื่อ ทั้งยังอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้ากำแพงเพชร เหมาะสำหรับพัฒนาแหล่งค้าปลีก-ค้าส่ง/ศูนย์กลางการ Trading ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมในกลุ่มอาเซียน แปลงที่ 3 (โซน C) ขนาด 105 ไร่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ของสถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่งปัจจุบันหมดสัญญาเช่าพื้นที่จาก รฟท. และได้มีการกันพื้นที่สำหรับสถานีย่อย บขส. ไว้ประมาณ 16.43 ไร่ เหมาะสำหรับพัฒนาเป็นเมืองใหม่ มีแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งทำงาน แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ
นายออมสิน กล่าวต่อว่า ซึ่งจากผลสรุปการศึกษาพบว่า โซน A มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ในระยะเร่งด่วนควบคู่ไปกับการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ (ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562) เพราะสามารถผนวกการใช้พื้นที่โซน A เข้ากับตัวสถานีกลางบางซื่อ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่โซน D อีกจำนวน 87.5 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งตามแผนจะพัฒนาเป็นทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต กับสถานีกลางบางซื่อ ควรจะพัฒนาในระยะเร่งด่วนเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทาง ระหว่างระบบรถไฟฟ้าสมัยใหม่ รถยนต์ และคนเดิน
ด้านนายปาณฑพ มาลากุล ณ อยุธยา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟว่า หลังจากนี้ รฟท.ก็จะเร่งพิจารณาในรายละเอียดของโครงการเพื่อเร่งออก TOR โดยคาดว่าในปี 2559 จะสามารถนำเสนอโครงการฯ เข้าสู่กระบวนการ ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP : Public Private Partnership) เพื่อขออนุมัติและ ในปี 2560 จะสามารถประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและสรรหานักลงทุน ซึ่งคาดว่าในปี 2561 นักลงทุนจะสามารถดำเนินโครงการได้
สำหรับ มูลค่าการลงทุนของโซน A จะอยู่ที่วงเงินงบประมาณ 9,363 ล้านบาท สำหรับโซน B ประมาณ 24,744 ล้านบาท และโซน C ประมาณ 34,076 ล้านบาท ซึ่งการพัฒนาโครงการฯ นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของการรถไฟแล้ว ยังช่วยยกระดับการให้บริการระบบราง การเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางด้วยรถยนต์สู่ระบบรางในอนาคต และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่การเป็นผู้นำของอาเซียนได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bangsue-aseanhub.com
ที่มา : www.thairath.co.th
ฟัง รมว."อาคม" เล่าอนาคต รถไฟ"ไทย-จีน-ญี่ปุ่น"
มติชนออนไลน์ : วันที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2558
การพัฒนาระบบรางยังได้รับความสนใจจากหลายคนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือการพัฒนาระบบราง ระหว่างไทย-จีน-ญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
กระทรวงคมนาคมได้ร่วมเดินทางไปพร้อมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นำคณะโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อลงนามในบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอซี) กับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อให้ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน
'มติชน'มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
"การลงนามในครั้งนี้เป็นรถไฟเส้นทางพุน้ำร้อน-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ ขนาดราง 1 เมตร หลังลงนามกับทางญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่จะดำเนินการ คือ 1.ปรับปรุงเส้นทางที่มีอยู่ให้วิ่งได้เร็วขึ้น จากปัจจุบันใช้ความเร็วได้เพียง 40-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากความเร็วสูงสุดที่สามารถใช้ได้ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กรณีรางมีความสมบูรณ์ แข็งแรง การเชื่อมต่อระหว่างรางต่อรางเรียบ และไม่มีอุปสรรคในเรื่องของจุดตัดต่างๆ จะปรับปรุงให้วิ่งได้ 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริการ ลดเวลาการขนส่งทางรถไฟได้ เรื่องนี้ทางญี่ปุ่นให้ความสนใจมาก โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งสินค้าทางรถไฟ" นายอาคมกล่าวเปิดประเด็นการสัมภาษณ์
นายอาคม กล่าวต่อว่า 2.การตั้งบริษัทเดินรถร่วมกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ฝ่ายไทยจะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการ ส่วนรูปแบบจะแยกออกมาเป็นบริษัทลูก เป็นบริษัทเอกชน เป็นเทียร์ 2 หรือเทียร์ 3 นั้น ต้องให้ ร.ฟ.ท.พิจารณารูปแบบ เทียร์ 2 คือ การลงทุนเพื่อให้บริษัทมีความคล่องตัวในการเดินรถ อาจจะเป็นบริษัทเอกชนเลย คือ ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 49% ญี่ปุ่นถือหุ้น 49% และให้เอกชนถือหุ้น 2% แบบนี้ไม่เข้าเกณฑ์ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ จะมีความคล่องตัวในการทำแผนธุรกิจ คือการหาลูกค้า การป้อนความต้องการเข้ามาระบบการขนส่งทางรถไฟ
"ในการศึกษาของคณะที่ปรึกษาญี่ปุ่น ยังบอกว่า การให้บริการคงจะไม่ใช่เฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ แต่สามารถให้บริการผู้โดยสารจากกรุงเทพฯไปจังหวัดใกล้ๆ ได้ เช่น หากมองทางตะวันตก กทม.ต้องไปที่นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี และไปสถานีน้ำตกได้ เพราะฉะนั้นคนที่มีบ้านอยู่นครปฐมสามารถใช้รถไฟเส้นนี้เข้า กทม.ได้ เชื่อมต่อถึงสถานียมราชเพื่อต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ หรืออาจจะไปสถานีบางซื่อต่อรถไฟฟ้าใต้ดินก็ได้ ช่วยลดปัญหาการจราจร เพิ่มความสะดวกในการเดินทาง"
"เทียร์ 3 คือ ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูกขึ้นมา และถือหุ้น 100% แล้วบริษัทนี้ไปร่วมทุนกับญี่ปุ่นในแบบ 49, 49 บวก 2 หรือน้อยกว่า หรือเป็นเท่าไหร่ก็ว่ากันแต่ให้เป็นเอกชน เท่าที่คิดหากจะให้ดีสุดในแง่ของการกำกับดูแล เทียร์ 2 ดีสุด แต่เทียร์ 3 ก็มีประโยชน์ คือ ตัดตอนของ ร.ฟ.ท.ไปให้บริษัทลูกเป็นคนคุมเลย บริษัทลูกอาจจะมีหลายกิจการก็ได้"
รัฐมนตรีอาคม ยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบันรูปแบบการถือหุ้น หากหน่วยงานรัฐถือตั้งแต่ 50% ขึ้นไปจะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น รัฐต้องถือน้อยกว่า 50% ที่เหลือ 2% ก็ให้เอกชนเข้ามาถือ คือ เป็นในลักษณะของการเปิดขายหุ้นไปเลย หุ้นที่ขายนี้อาจจะเป็นกองทุนใดกองทุนหนึ่งเข้ามาถือก็ได้ อยู่ที่ว่าเขาออกแบบอย่างไรเพื่อให้คล่องตัวในการทำตลาด
"ในเดือนธันวาคม 2558 ถึงมกราคม 2559 ได้บอกญี่ปุ่นไปว่าให้เสนอรูปแบบการตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมา คิดว่าจะตั้งให้ได้ในเดือนมกราคม อย่างช้าไม่เกินกุมภาพันธ์ 2559 บริษัทนี้จะทำหน้าที่ คือ 1.ทำธุรกิจในเรื่องการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางรถไฟ 2.ทำหน้าที่ลงทุน คือถ้าอยากจะเพิ่มจำนวนรถ อาจจะเช่าขบวนรถของ ร.ฟ.ท.ก็ได้ หรือซื้อรถใหม่ก็ได้ เป็นต้น ส่วนขบวนผู้โดยสารอาจจะตกแต่งอย่างดีเลยก็จะช่วยเรื่องการท่องเที่ยวด้วย 3.การศึกษาเป็นรถไฟทางคู่ ทำตามแนวเส้นทางเดิม เพื่อเตรียมรองรับการเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่กาญจนบุรีจะมีสถานีหนองปลาดุกเป็นสถานีปลายทาง จะมีสองแยก แยกหนึ่งจะไปสถานีน้ำตก และอีกแยกไปบ้านพุน้ำร้อน ตรงนี้ประมาณ 50-60 กิโลเมตร เราอยู่ระหว่างศึกษาเพิ่มเติม แต่ได้ขอให้ญี่ปุ่นศึกษาต่อจากชายแดนไทยไปถึงทวาย (ของพม่า) ให้ด้วย จะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี"
นายอาคม กล่าวขยายความอีกว่า ธุรกิจที่สนใจขนส่งสินค้าในตอนนี้ จะมีบริษัทน้ำตาล แป้ง มีทั้งค่ายมิตรผล และราชบุรี ที่พร้อมจะเข้ามาใช้เพื่อขนสินค้าไปที่แหลมฉบัง ตอนนี้ช่วงลาดกระบัง-แหลมฉบัง เป็นทางคู่แล้ว
ดังนั้น บางส่วนมีโครงสร้างพร้อมอยู่แล้ว ส่วนช่วงจากแปดริ้วไปอรัญประเทศก็พร้อมเช่นกัน เพราะทำทางรถไฟไปแล้ว ยังขาดช่วงสถานีปอยเปต 6 กิโลเมตร ดังนั้น จะเห็นว่าเส้นทางนี้จะเชื่อมจากพม่าไปถึงกัมพูชาด้วย ส่วนจากพนมเปญไปเวียดนามยังขาดหายไป เป็นหน้าที่ของเวียดนามและกัมพูชาต้องคุยกัน เมื่อเสร็จจะเชื่อมได้หลายประเทศ
"สำหรับ การปรับให้เป็นรถไฟทางคู่ คิดว่าใช้เวลาคุยกัน 6 เดือนน่าจะเสร็จคือในเรื่องของแผนหรือจะก่อสร้างได้ประมาณกลางปีหน้า จะพยายามเร่งให้เร็วที่สุด เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คงไม่มีปัญหา ส่วนรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ได้รายงานทางญี่ปุ่นไปว่างานเดินตามแผน ญี่ปุ่นรับปากว่าในเดือนมิถุนายนปีหน้า รายงานขั้นกลางจะเสร็จ คือ การศึกษาในมุมมองของญี่ปุ่นว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน จากนั้นจะเสนอที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการโครงการ จากนั้นในช่วงปลายปีหน้า รายงานฉบับสมบูรณ์เสร็จก็จะขอให้ ครม.เห็นชอบโครงการ และในปี 2560 จะเป็นขั้นตอนของการออกแบบ แบ่งเป็นสองช่วง คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และพิษณุโลก-เชียงใหม่ ตั้งเป้าหมายจะก่อสร้างได้ในปี 2561
"จริงๆ งานรถไฟความเร็วสูง ญี่ปุ่นพูดกับเราเสมอ ครั้งนี้ก็พูดว่าการส่งออกเทคโนโลยีชินคันเซ็น ความปลอดภัยสำคัญสูงสุด การจะก่อสร้างโครงการต้องเหมาะสมก่อน กรณีของญี่ปุ่นใช้เวลา 3 ปีศึกษา ออกแบบอีก 3 ปี กว่าจะได้สร้างรวม 6 ปี ตอนที่เราเซ็นเอ็มโอซีกับทางญี่ปุ่นเราขอให้ญี่ปุ่นศึกษาปีเดียว เขาก็ซู้ดปากแบบญี่ปุ่นยาวๆ แต่เขาก็รับปาก เราก็ขอให้ศึกษาความเหมาะสมควบคู่กับการสำรวจออกแบบ เขาซู้ดปากยาวกว่าเดิมอีก เพราะเขาทำงานเป็นลำดับ ศึกษาเหมาะสมก่อนค่อยไปสู่ขั้นตอนต่อไป แต่เราก็อธิบายว่าเคยศึกษามาแล้ว เขาก็รับปาก"
นายอาคม ยังกล่าวถึงความร่วมมือรถไฟไทย-จีนในเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุว่า ล่าช้านั้น ว่า ที่จริงก็ประชุมกับจีนมาต่อเนื่อง ได้ตกลงกับจีนไว้ว่า 1.จีนทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม 2.ไทยดูเรื่องสิ่งแวดล้อม และ 3.มีการหารือในเรื่องของรูปแบบการลงทุน เรื่องการเงิน ในช่วงที่ผ่านมา ทางจีนได้ส่งคณะมาสำรวจข้อมูลและพื้นที่รวมทั้งการออกแบบไปด้วย แตกต่างจากญี่ปุ่นที่ทำทีละเรื่อง แต่จีนทำควบคู่กันไปมีการส่งข้อมูลให้เราแล้ว เราก็มีคำถามไปในเรื่องของตัวเลขหลายๆ ข้อ จีนรับจะส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ เพื่อให้โครงการอธิบายได้ก่อนเริ่มเจรจาในเรื่องของการก่อสร้าง ถ้าศึกษาเรื่องนี้เสร็จจะรู้มูลค่าที่ชัดเจน ตอนนี้ก็เจรจามาถึงขั้นของดอกเบี้ยแล้ว
"เรื่องของการกู้เงิน เราขอว่าไม่กู้จีนทั้งหมดจะดูหลายแหล่ง ล่าสุดจีนให้ดอกเบี้ย 2.5% แต่เราบอกว่านี่เป็นโครงการยุทธศาสตร์ของเราและจีน เป็นเรื่องความสัมพันธ์ ถ้าจะให้โครงการเกิดก็ต้องให้ดอกเบี้ยดีสุด หากถามว่าดอกเบี้ยที่จีนให้ดีสุดหรือไม่ ในฐานะที่เราพูดคุยกับหลายแหล่งเปรียบเทียบแล้ว ภาระดอกเบี้ยเมื่อเปลี่ยนมาเป็นเงินบาทยังสูงกว่ากู้ในประเทศและแหล่งอื่นๆ จึงต้องคาเรื่องนี้ไว้ก่อน ยืนยันว่าต้องได้ไม่เกิน 2%
"ที่จริงการออกแบบของจีนยังไม่เสร็จ 100% ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความล่าช้า แต่เดือนธันวาคมนี้เขายืนยันว่าจะส่งแบบให้เราครบทั้งหมด"
นายอาคม ยังกล่าวต่อว่า จากการหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันในเรื่องแหล่งเงินว่าจะใช้แหล่งเงินกู้ที่ถูกที่สุด ในไทยมีสภาพคล่องพร้อมให้กู้อยู่แล้ว แต่ต้องให้จีนเสนอมาก่อน ถ้าเสนอมาเราก็ยังไม่รู้ว่าจะกู้เท่าไหร่ อยู่ที่ต้นทุนของโครงการด้วย แยกหลายอย่างออกจากกัน เช่น เรื่องการก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องใช้ในประเทศอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ต่างประเทศ ปูนซีเมนต์ก็ต้องใช้ในประเทศ เป็นต้น ส่วนรางต้องมาแยกว่าการทำราง อาณัติสัญญาณ ตัวรถ เหล่านี้ต้องใช้ของจีน ก็มาดูว่ามูลค่าเท่าไหร่ ก็กู้เท่านั้นก็พอ
"ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 จะสรุปรายงานการศึกษาเหมาะสมให้เรียบร้อย แยกรายการต้นทุนการก่อสร้าง จากนั้นถึงจะคุยกับจีนในเรื่องของดอกเบี้ยในขั้นสุดท้าย มูลค่าโครงการตอนนี้ยังต่างกันจากที่เราศึกษาไว้เดิม ตรงนี้เราได้บอกไว้แล้วตั้งแต่ตอนเซ็นเอ็มโอยูครั้งแรกว่าขอสงวนสิทธิ์ในการตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสมของต้นทุนโครงการ เขาก็เห็นด้วย ตอนนี้ ร.ฟ.ท.ได้จ้างที่ปรึกษามาตรวจรายการต่างๆแล้ว มูลค่าของเราที่กำหนดไว้ตอนแรก คือ 3.7 แสนล้านบาท แต่จีนกำหนดมูลค่าไว้สูงกว่ามาก ต้องคุยกันต่อไป"
"จีนดูแล้วบอกว่า ราคาเพิ่มขึ้นทุกส่วนตามมาตรฐานของเขา ต้องไปดูด้วยว่ารายงานผลการศึกษาของเราตั้งแต่ปี 2555 ผ่านมาถึงปี 2558 ราคาควรขึ้นหรือลง ราคาน้ำมันลง เหล็ก หรือวัสดุอุปกรณ์ควรจะลงหรือไม่ รวมถึงผลศึกษาแนวเส้นทางเดิมที่อาจจะใช้ทางร่วมที่สถานีบ้านภาชีกับรถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ต้องไปดูว่าหากแยกก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-ภาชี เองจะเป็นเท่าไหร่ แต่คิดว่าคงไม่ถึงแสนล้านบาท สรุปที่ช้า คือ จีนยังไม่ได้บอกตัวเลขมูลค่าโครงการเท่าไหร่ ที่ผ่านมายังต้องใช้เวลาจูนเรื่องเส้นทางพอสมควร เมื่อจีนได้ส่งข้อมูลมาภายในไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะเสนอ ครม.แน่นอน จากนั้นไม่เกินเดือนเมษายน จะสรุปเรื่องการก่อสร้าง เจรจาในสัญญาต่างๆ เริ่มต้นก่อสร้างจริงในเดือนพฤษภาคม 2559"
"โครงการมูลค่าขนาดนี้ ยืนยันจะใช้ความรอบคอบให้มากที่สุด" นายอาคมกล่าวทิ้งท้าย