- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 25 November 2015 22:43
- Hits: 4968
นายกฯ ฉุน รถไฟไทย-จีนล่าช้า สั่ง บิ๊กป้อม-สมคิด เร่งถก หาข้อยุติด่วน
'บิ๊กตู่'ฉุน โครงการรถไฟไทย-จีน เต่าคลาน ถูกโก่งดอกเบี้ย 2.5% ดันงบลงทุนพุ่งเป็น 5 แสนล้าน สั่ง ‘ประวิตร – สมคิด’ ถกบิ๊กจีนหาข้อยุติด่วน ขณะที่ ครม. ไฟเขียวร่างลงนามพัฒนารถไฟไทย-ญี่ปุ่น ลงนามปลาย พ.ย.นี้ หวังทดสอบรถต้นปี 59...
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความกังวลในที่ประชุม ครม. ถึงปัญหาความล่าช้าโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ รวมถึงต้องการผลักดันความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น 3 เส้นทาง ให้เกิดโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการรถไฟไทย-จีน ที่นายกรัฐมนตรีกำชับว่าเหตุใดถึงไม่คืบหน้า ทั้งที่ตัวแทนรัฐบาลไทย-จีน มีการประชุมมาแล้ว 8-9 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ม.ค.58 แต่ยังไม่สามารถสรุปการก่อสร้างได้
นอกจากนี้ ล่าสุดทางการจีน ได้เสนอมูลค่าโครงการลงทุนรถไฟไทย-จีน เพิ่มสูงขึ้นเป็น 500,000 ล้านบาท มากกว่าเดิมที่ไทยเคยประเมินไว้ไม่เกิน 400,000 ล้านบาท ที่สำคัญ จีนยังเสนอดอกเบี้ยเงินกู้ให้ไทยใช้ก่อสร้างอัตรา 2.5% ซึ่งสูงกว่าที่ไทยต้องการ 2% ดังนั้นในเร็ว ๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปหารือกับตัวแทนระดับสูงของรัฐบาลจีน เพื่อหาข้อยุติแนวทางลงทุนโดยด่วนที่สุด
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ชี้แจงนายกรัฐมนตรี ว่า พยายามติดตามความคืบหน้ามาตลอด และจีนเพิ่งส่งผลรายงานการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ และประเมินมูลค่าเบื้องต้นของโครงการมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งสาเหตุที่โครงการแพงขึ้น เนื่องจากหลายเส้นทางเป็นทางยกระดับ และต้องมีการขุดเจาะอุโมงค์ลอดภูเขา ทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม แต่ของไทยต้องการเน้นก่อสร้างเส้นทางราบเป็นหลัก
ขณะที่เรื่องดอกเบี้ย จีนแจ้งว่าให้ดอกเบี้ยไทยอัตราที่ต่ำแล้ว เพราะลาวได้ดอกเบี้ย 3% ซึ่งไทยได้เพียง 2.5% แต่เรื่องนี้รูปแบบการก่อสร้างโครงการแตกต่างกัน เพราะลาว จะให้ผู้รับเหมาจีนเข้ามาก่อสร้างเป็นหลัก แต่โครงการในไทยจะใช้ผู้รับเหมา วัสดุก่อสร้างในไทยเข้ามาก่อสร้างมากกว่าลาว ซึ่งท้ายที่สุดถ้าจีนยังให้ดอกเบี้ยเกิน 2% ไทยจะเลือกหาเงินกู้ในประเทศแทน เพราะในการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าสามารถหาแหล่งเงินกู้ในประเทศได้ และยังบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีกว่า เพราะกู้เป็นสกุลเงินบาท
อย่างไรก็ตามยืนยันว่า โครงการรถไฟไทย-จีน ยังเดินหน้าต่อ และจะมีการเปิดตัววางศิลาฤกษ์ตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถก่อน ที่เชียงรากน้อย จ.ปทุมธานี ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ และคาดว่าจะเริ่มตอกเสาเข็มสร้างทางเดือน พ.ค.นี้ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ย้ำให้กระทรวงคมนาคม ศึกษาเส้นทางรถไฟต่อเชื่อมไทย-มาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ มาเลเซียได้สร้างทางมารอเชื่อมต่อที่ชายแดนปาดังเบซาร์ จ.สงขลา โดย กระทรวงคมนาคม ชี้แจงกลับว่า สำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) มีการศึกษาเช่นกัน เป็นส่วนเส้นทางภาคเหนือสู่ภาคใต้ เริ่มจากเชียงใหม่-กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์
นายออมสิน กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบ ร่างลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่น เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนล่าง (เอ็มโอซี) เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ–แหลมฉบัง-สระแก้ว ซึ่งมอบหมายให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางไปร่วมลงนามกับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ในวันที่ 26-28 พ.ย.นี้ โดยสาระความร่วมมือประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ การปรับปรุงทางเดิมขนาด 1 เมตร ตั้งแต่กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-สระแก้ว รวมถึงปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟ เพื่อให้เดินรถได้เร็วขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้ ซึ่งคาดโครงการนี้จะเริ่มได้ก่อน และนำรถมินิคอนเทนเนอร์มาทดสอบได้เดือน ม.ค. 59
ส่วนระยะที่สอง จะมีการร่วมทุนการเดินรถ พร้อมกับเสนอให้มีจัดตั้งบริษัทร่วมไทยระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เพื่อบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และระยะสุดท้าย จะมีการลงทุนขยายเส้นทางรถไฟทางเดี่ยว เชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา และกัมพูชา ได้แก่ เส้นทางกาญจนบุรี-พุน้ำร้อน ระยะทาง 36 กม.และ คลองลึก จ.สระแก้ว-ปอยเปต 6 กม. ขณะเดียวกันจะขยายบางช่วงให้เป็นรถไฟทางคู่ อำนวยความสะดวกในการเดินทางยิ่งขึ้น
“ตอนนี้ ยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่า ไทยหรือญี่ปุ่นจะต้องลงทุนใช้งบประมาณเท่าไร แต่คาดหวังความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น น่าจะอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าได้เร็วขึ้น โดยทางญี่ปุ่นก็ต้องการให้เกิดเร็ว เพราะสามารถเชื่อมการขนส่งจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปถึงท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง หรือเลือกส่งต่อไปกัมพูชา ผ่านปอยเปต และทะลุไปถึงเวียดนามได้ด้วย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว.
ที่มา : www.thairath.co.th
'บิ๊กตู่'จี้คมนาคมลุยโปรเจกท์รองรับต่างชาติมาลงทุนไทย
แนวหน้า : พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "อนาคต ไทย ก้าวไกลด้วยคลัสเตอร์" จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ว่า ในปีนี้มีผู้ประกอบการยื่น ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ทั้งในรูปแบบซูเปอร์คลัสเตอร์ และคลัสเตอร์ที่อยู่ในภายเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 แห่ง แล้ว 1,923 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 6.93 แสนล้านบาท
โดยหากนำมาตรการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบใหม่ระยะ 20 ปี ที่เน้นให้สิทธิประโยชน์แก่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี ขั้นสูง มาปรับใช้กับโครงการเหล่านี้ จะช่วยสร้างรายได้จากการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.03 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดการใช้วัตถุดิบภายในประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 7.9 แสนล้านบาท
"ยอมรับว่า ขณะนี้โครงสร้างพื้นฐาน ของไทย อาทิ ถนน สะพาน ท่าเรือ ไฟฟ้า ประปา ยังไม่รองรับกับการลงทุนรูปแบบใหม่ รัฐบาลจึงได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงแล้ว จึงอยากฝากบอกนักลงทุนต่างชาติอย่าเพิ่งทิ้งประเทศไทยไปไหน บางราย ที่เคยเริ่มลงทุนมาเมื่อ 100 ปีก่อน ก็ควรอยู่ต่อเพื่อพัฒนาไทยต่อไปด้วยกัน" พลเอกประยุทธ์กล่าว
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง(ทล.)กล่าวระหว่างงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ว่า โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด ขณะนี้ได้ผู้จ้างแล้ว 3 ตอน ส่วนที่เหลืออีก 9 ตอน อยู่ระหว่างปรับปรุง TOR คาดว่าจะเริ่มลงนามสัญญาก่อสร้างได้ในช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ. ปี 2559
รมช.คมนาคม เผยผลประเมินมูลค่าโครงการรถไฟไทย-จีนพุ่ง, ดบ.สูง ส่งประวิตร-สมคิดเจรจา
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามความคืบหน้าโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีนในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากมีการประชุมความร่วมมือมา 8 ครั้งแล้ว โดยได้ชี้แจงว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้รับรายงานการวิเคราะห์ผลตอบแทนของโครงการรวมทั้งข้อมูลการลงทุน ซึ่งล่าสุดทางการจีนประเมินมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาทจากเดิมที่คาดมูลค่าลงทุนไม่ถึง 4 แสนล้านบาท ขณะที่ได้เสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารส่งออกและนำเข้าจากจีน ที่ระดับ 2.5% ซึ่งทางไทยมองว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะต่ำกว่า 2%
นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปเจรจาหารือกับผู้บริหารระดับบนของรัฐบาลจีนอีกครั้ง เพื่อให้โครงการความร่วมมือไทย-จีนเกิดความก้าวหน้ามากกว่านี้ โดยเฉพาะมูลค่าการลงทุน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
ขณะเดียวกัน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ให้ความเห็นว่าหากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เกิน 2% อาจจะใช้เงินกู้ในประเทศได้ และใช้เป็นสกุลเงินบาท
"มูลค่าโครงการทึ่สูงถึง 5 แสนล้านบาท เชื่อว่าทางจีนมีเรื่องทางยกระดับและเจาะอุโมงค์สร้างทางรถไฟ"นายออมสิน กล่าว
นายออมสิน กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการเชิงสัญลักษณ์ โดยจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 19 ธ.ค.58 ที่ศูนย์ควบคุมการเดินรถสถานีเชียงรากน้อยและตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในเดือนพ.ค. 59 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งกำชับให้ดำเนินการให้เร็วขึ้น แต่ต้องทำอย่างรอบคอบและรัดกุม
นายกฯสั่งสมคิดศึกษาตั้งคณะทำงานร่วมผู้มีส่วนได้เสียลดปัญหาโครงการลงทุนสะดุด
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปศึกษาแนวทางการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ประกอบการ, ประชาชนในพื้นที่ และกลุ่ม NGOs โดยมอบหมายให้ไปดูว่าควรมีคณะทำงานชุดใหญ่ หรือชุดย่อยในแต่ละโครงการให้ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาการลงทุนโครงการใหญ่มีปัญหามาโดยตลอด ดังนั้นจึงควรมีการหารือขอดีข้อเสีย ผลกระทบ แต่ละโครงการ อีกทั้งแนวทางแก้ไข เพื่อให้โครงการขับเคลื่อนไปได้
"ได้มอบหมายให้ท่านรองนายกฯ สมคิด ไปดูว่าควรจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาคุยกันถึงข้อดี ข้อเสีย ว่าโครงการจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร ผลกระทบเป็นอย่างไร เพราะถ้าคุยกันตั้งแต่แรก โครงการก็จะขับเคลื่อนไปได้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
อินโฟเควสท์
มั่นใจรถไฟไทย-จีนช่วยกระตุ้น ศก.
บ้านเมือง : นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษในโอกาสครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน โดยยืนยันว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเชื่อมโยงระบบขนส่งไทยและจีนคืบหน้าอย่างมาก ซึ่งโครงการเริ่มตั้งแต่ปี 2553 แต่ในช่วง 2 ปี ความชัดเจนระบบขนส่งระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะการสร้างทางรถไฟฟ้าคืบหน้า โดยวันที่ 19 ธ.ค.นี้ จะมีการวางศิลาฤกษ์ที่เชียงรากน้อย และวันที่ 3 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมร่วมไทยและจีน นอกจากนี้ จะมีการเจรจาการค้าเพิ่ม โดยเห็นได้ว่ารถไฟเส้นทางต่างๆ ตามกรอบความร่วมมือไทยและจีน แสดงให้เห็นว่าไม่เพียงกับไทย จีนเท่านั้น แต่จะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศต่างๆ ที่สำคัญจีนจะเข้ามาลงทุนรถไฟเส้นทางต่างๆ แต่ไทยได้มีการยืนยันว่าคุณภาพการก่อสร้างไม่แพ้ประเทศใดและมีมาตรฐาน ซึ่งจีนเห็นชอบให้ไทยเป็นผู้ก่อสร้าง ส่วนด้านการออกแบบหรือตัวรถไฟทางจีนจะดำเนินการเองทั้งหมด ซึ่งการก่อสร้างทางรถไฟดังกล่าวจะสอดรับกับที่ไทยดำเนินการรื้อฟื้นพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนต่างๆ นอกจากจะร่วมมือด้านอาเซียนแล้วยังส่งเสริมให้การค้าไทย จีน และประเทศต่างๆ มีระบบขนส่งรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม จึงอยากให้นักลงทุนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตภายใต้กรอบอาเซียน ความร่วมมือบวก 3 บวก 6 ซึ่งตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป กรอบความร่วมมือการค้าต่างๆ จะเป็นรูปธรรม นักลงทุนไทยต้องกล้าที่จะออกไปลงทุน ซึ่งขณะนี้หลายประเทศโดยเฉพาะจีนพร้อมให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน ประกอบกับรัฐบาลมีแนวทางส่งเสริมให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ เชื่อว่าในอนาคตการเชื่อมโยงเส้นทางต่างๆ ระบบราง น้ำ อากาศ จะเปิดโอกาสให้ขยายการค้าและการลงทุน
นายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้จีนจะประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และอยู่ระดับปานกลางเฉลี่ยร้อยละ 6.9 ถือเป็นตัวเลขไม่ตกต่ำ โดยจีนยังเป็นผู้ค้าอันดับ 1 ของไทย แต่ขณะนี้จีนอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง และแก้ไขปัญหาในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจมั่นคง โดยกำหนดเป้าหมายอัตราการเติบโตปี 2563 เฉลี่ยร้อยละ 6-7 โดยจะมีมูลค่ามากกว่า 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
คมนาคมย้ำสร้างแน่รถไฟฟ้ารางเบาแก้จราจรเมืองภูเก็ต
แนวหน้า : นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานการใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดภูเก็ต ว่า กระทรวงคมนาคมได้มีมติว่าจะดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Tramway) เพื่อ แก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ต โดยมีระยะทาง 60 กิโลเมตร จำนวนสถานี 23 แห่ง และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวโดยเร็วเนื่องจากถือเป็นโครงการนำร่องในการนำระบบรถไฟฟ้ามาใช้แก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ต่างจังหวัด
ทั้งนี้ ทางโครงการยังติดปัญหาเรื่องจุดตัดที่เส้นทางจะต้องตัดผ่าน และการขอใช้พื้นที่ของทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งและสรุปแผนให้เสร็จ ภายในปีนี้ เพื่อที่จะเสนอให้กระทรวงคมนาคมรับทราบ และเตรียมที่จะศึกษาและแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่จังหวัดต่อไปได้แก่ ขอนแก่น, เชียงใหม่ และนครราชสีมา ในปีงบ ประมาณหน้าเนื่องเป็นจังหวัดที่มีปัญหาด้านการจราจรเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 24,000 ล้านบาท และจะใช้รูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะเป็นผู้ให้พื้นที่ในการก่อสร้างเส้นทาง ซึ่งจะใช้พื้นที่เกาะกลางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402,พื้นที่บริเวณคลองเกาะผี และพื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท(ทช.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.)
ส่วนด้านการลงทุนจะให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอโดยในช่วงที่ผ่านมามีทั้งนักลงทุนจากจีน เกาหลี และผู้ประกอบการจังหวัดภูเก็ตให้ความสนใจ ทั้งการเสนอที่จะลงทุนและการเสนอจำหน่ายตั๋วรถไฟฟ้า และระบบรถไฟฟ้า