- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Tuesday, 10 November 2015 13:49
- Hits: 2692
รมว.คมนาคมยอมรับโครงการเร่งด่วน 20 โครงการ มูลค่า 1.79 ล้านล้านบาท เข้าครม.พรุ่งนี้ไม่ทัน เหตุข้อมูลเยอะ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมยังไม่สามารถเสนอเรื่อง Action Plan สำหรับโครงการเร่งด่วน 20 โครงการมูลค่า 1.79 ล้านบาทได้ทันการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพราะยังมีรายละเอียดจำนวนมากที่จะต้องพิจารณาทบทวน
ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมได้ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาแผนปฏิรูป บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)หรือTHAI ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้การบินไทยเร่งพิจารณาปรับลดอัตราค่าตอบ แทน และสวัสดิการพนักงานระดับสูงลงอีกเพื่อลดค่าใช้จ่าย และให้รายงานแผนดังกล่าวภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้
ปัจจุบันทีมผู้บริหารของการบินไทยอยู่ระหว่างวางแผนแก้ไข และที่ผ่านมาจะมีการปรับลดสวัสดิการของคณะกรรมการบริษัทไปแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้การดำเนินงานยังล่าช้าเมื่อเทียบกับสายการบินเอกชน และสายการบินต้นทุนต่ำ เพราะการบินไทยเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ซึ่งตามหลักการต้อง พิจารณาความเหมาะสมระหว่างเครื่องบิน พนักงาน และเนื้องานให้มีความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะ การปรับตัวของพนักงานที่ปัจจุบันมีสัดส่วนพนักงานอาวุโสค่อนข้างมาก ส่งผลให้การขับเคลื่อนงานค่อน ข้างล่าช้า
ทั้งนี้ ประเด็นชี้แนะที่ต้องการให้การบินไทยกลับไปปรับใช้ คือ 1. การทำงานไม่ควรอุ้ยอ้าย 2. ไม่ ควรจัดสรรผลตอบแทนแก่พนักงานเกินความจำเป็น 3. ควรกำหนดเป้าหมายรายได้ซึ่งเป็นโจทย์ ท้าทาย และ 4. พิจารณาระบบขายตั๋วให้เอเจนซี่อย่างเหมาะสม
"ประเด็นสำคัญของการบินไทยตอนนี้คือการทำงานค่อนข้างอุ้ยอ้ายซึ่งเกิด ขึ้นจากหลายด้านที่ทำ งานอย่างเดิมสะสมปัญหามา และตัวพนักงานของการบินไทยมีอายุค่อนข้างเยอะ ผิดกับสายการบินอื่น ที่มักจะกำหนดค่าเฉลี่ยอายุของพนักงานเกษียณไว้ค่อนข้าง น้อย เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพนักงาน ใหม่ๆ ที่ยังมีไฟเข้ามาทำงาน เป็นโมเดลที่หลายองค์กรใช้กัน นอกจากนี้ที่ผ่านมาฝ่ายขายของการบิน ไทยยังมีไม่มีการกำหนดโจทย์เป้าหมาย สำนักงานต่างๆ เป็นผลให้อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ไม่เข้าเป้าเพราะพนักงานก็ไม่มีความกระตือรือร้น"รมว.คมนาคม กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
รมว.คมนาคม ชี้รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเติบโตในอนาคตไม่ใช่แค่กระตุ้น ศก.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้รับโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม(connectivity) ซึ่งโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว เนื่องจากแต่ละโครงการจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ
"เมกะโปรเจ็คท์ไม่ใช่มีไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เพื่อรองรับการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต" นายอาคม กล่าว
รมว.คมนาคม คาดว่า อีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจในต่างจังหวัดจะดีขึ้นเพราะการค้าชายแดน ประกอบกับการพัฒนาการขนส่งที่ดีขึ้น เนื่องจากโครงข่ายการเชื่อมโยงการเดินทางสะดวกสบายขึ้น เพราะมีอีเพย์เมนท์ระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า จะมีการใช้บัตรเติมเงินหรือระบบตั๋วร่วมเพื่อชำระค่าโดยสาร
นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีกิจกรรม 3 ด้านที่จะตอบโจทย์การพัฒนากิจการด้านคมนาคม คือ 1.ขับเคลื่อนโครงการลงทุนภาครัฐ 2.ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และ 3.การแก้ไขปัญหา
ภารกิจการขับเคลื่อนเมกกะโปรเจ็กต์เพื่อสนับสนุนคมนาคมขนส่ง จะต้องมีการพัฒนาเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มประเทศในอาเซียน นอกจากนี้ จะต้องสนับสนุนการเติบโตของการบริการโดยมีความชัดเจนว่า รัฐบาลสนับสนุนการขยายอีสเทิร์นซีบอร์ด แบ่งการพัฒนาเป็นคลัสเตอร์ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดเป้าหมาย และมีการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยใช้โครงสร้างพื้นฐาน
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างพัฒนาการขนส่งระบบราง โดยพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ขนาด 1เมตร 6 เส้นทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดประกาศประกวดราคา 2 เส้นทาง ส่วนอีก 4 เส้นทาง คาดจะประกวดราคาได้ในปีหน้า
สำหรับ โครงการความร่วมมือพัฒนาโครงการรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร เช่น โครงการรถไฟไทย-จีน และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ
ในส่วนเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร เป็นเส้นทางอีสต์-เวสท์คอริดอร์อีกเส้นทางหนึ่งนั้น ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้ศึกษาแนวเส้นทางแม่สอด-นครสวรรค์ และบ้านไผ่-นครพนม เพื่อเชื่อมเส้นทางแต่ยังขาดในส่วนการเชื่อมต่อระหว่าง นครสวรรค์-บ้านไผ่ ซึ่งจะต้องศึกษาและทำให้เชื่อมต่อเส้นทางกันได้หมด
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ส่วนโครงการรถไฟฟ้าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่ออย่างเป็นทางการเดือน ส.ค.59 โดยจะเปิดทดสอบการเดินรถเดือน พ.ค.-มิ.ย.ปีหน้า ซึ่งการเปิดให้บริการดังกล่าวถือว่าเร็วกว่ากำหนดเดิมถึง 5 เดือน
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ หาก ครม.อนุมัติโครงการภายในปีนี้ กระบวนการร่างทีโออาร์และประกวดราคาคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือนถัดจากนี้ ขณะเดียวกันช่วงครึ่งปีหน้ากระทรวงคมนาคมจะผลักดันโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง(ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง) และเชื่อมโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ให้เดินหน้าให้ได้
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ส่วนการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นการลดภาระงบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ทำอยู่แล้ว คือรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชนลงทุนระบบรถ บริหารการเดินรถ อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้ประชาชนและเอกชนทั่วไปสนใจกองทุนโครงสร้างพื้นฐานจะต้องมีผลตอบแทนคืนสู่นักลงทุนตั้งแต่ปีแรก ซึ่งต่อไปรัฐจะมีลักษณะการร่วมทุนแบบพีพีพี เอกชนลงทุนในโครงการทั้งหมด แต่เอกชนยังต้องการให้รัฐเข้ามาข่วยแบ่งเบาภาระในบางส่วน ซึ่งก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม
ด้านนายสมคิด กล่าวว่า การร่วมทุนแบบพีพีพีในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมีกลุ่มธุรกิจบางประเภทได้ประโยชน์ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มดังกล่าวเข้ามาร่วมทุนแบบที่ปรึกษาโครงการและเสนอรูปแบบการลงทุนที่รัฐได้ประโยชน์เข้ามาให้เลือก ไม่ใช่แต่ละโครงการมีแต่เอกชนรายเดิมๆเพียงไม่กี่รายสนใจเช่นทุกวันนี้
อินโฟเควสท์