- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Tuesday, 10 November 2015 12:59
- Hits: 2221
อาคม สั่งผ่าตัด'บินไทย'พ้นวิกฤต ขีดเส้น'จรัมพร'ทำแผนถึงสิ้นพ.ย.นี้ แอร์-สจ๊วตหนาวมีเทอมปลดระวาง
'อาคม'สั่ง'ดีดี'ปรับลดสิทธิประโยชน์บอร์ดบริหารบินไทย รื้อเกณฑ์พนักงานบนเครื่องมีเทอมปลดระวางจะได้ผลตอบแทนเหมาะสม ต้องการแอร์-สจ๊วต เฟรชชี่ สู้สายการบินอื่น ให้เวลาสิ้น พ.ย.นี้ปรับโครงสร้างใหม่ไม่อุ้ยอ้าย คาดไตรมาส 3-4 ขาดทุนต่อเนื่อง ทั้งปีรายได้ติดลบสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งกว่า 2.1 หมื่นล้าน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า นโยบายของนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้พิจารณาค่าใช้จ่ายในเรื่องบุคลากร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างองค์กรด้วย โดยเฉพาะระดับบริหารมีค่าใช้จ่ายของค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ จำนวนมาก จึงให้การบินไทยไปพิจารณาดูว่าจะปรับอย่างไร โดยให้เวลาถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ โดยหลักคือให้นำค่าใช้จ่ายบุคลากรเปรียบเทียบกับสายการบินชั้นนำอื่นๆ ว่ามากหรือน้อยกว่าอย่างไร เพราะคนทั่วไปอาจมองการบินไทยเป็นองค์กรอุ้ยอ้าย ค่าใช้จ่ายบุคลากรสูง จึงต้องปรับลดสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการ (บอร์ด) บริหารอีก ทั้งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันและสิทธิประโยชน์ตกทอด นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ต้องไปพิจารณาว่าจะปรับอย่างไร
นายอาคม กล่าวว่า อีกส่วนที่ยังไม่ได้ปรับคือเรื่องระยะเวลาการทำงานของพนักงานบริการ แม้การบินไทยจะบริการดีแต่สายการบินอื่นมีบุคลากรหมุนเวียน มีเทอม (ระยะเวลา) ของการจ้าง คือเมื่อถึงระดับหนึ่งจะปลดระวางพนักงานออกเพื่อให้ได้พนักงานหมุนเวียน เหมือนกับสายการบินต้นทุนต่ำที่มีหลักการว่าพนักงานให้บริการด้วยความกระฉับกระเฉง ฉะนั้นอายุการทำงานจะอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นต้องออกไปโดยให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อหางานใหม่ ?สายการบินต่างชาติจะเอาคนสดๆ เข้ามา คือรุ่นใหม่ถึงจะแข่งขันได้ แต่ของเราต้องพิจารณาเรื่องการกำหนดระยะเวลาการทำงาน ความเหมาะสมด้วย โดยปกติข้าราชการจะอยู่จนเกษียณอายุ 60 ปี แต่ในธุรกิจการบินอาจจะไม่ถึง 60 ปีก็ได้? นายอาคมกล่าว
นายอาคม กล่าวว่า เรื่องที่การบินไทยต้องปรับ คือ 1.ไม่ให้อุ้ยอ้าย 2.ไม่ให้สิทธิพิเศษมากเกินความจำเป็น 3.พนักงานบริการสามารถแข่งขันได้ ปรับระบบการเข้าหาตลาด นายสถานีของแต่ละประเทศต้องทำการตลาด การขาย ระบบการขายตั๋วที่ให้กับตัวแทนจำหน่ายตั๋วก็ต้องปรับ เพราะส่งผลให้การบินไทยไม่สามารถทำการขายเองได้ ตั๋วไปอยู่ที่ตัวแทนหมด จนทำให้ไม่สามารถซื้อตั๋วได้ ทั้งที่มีที่นั่งว่างอยู่
แหล่งข่าวจากการบินไทยกล่าวว่า ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ การบินไทยจะแถลงผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของปี 2558 คาดว่าจะขาดทุนไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าไตรมาส 4 อาจขาดทุนเช่นกัน เมื่อรวมงานไตรมาส 1 มีกำไร 4,549 ล้านบาท ไตรมาส 2 ขาดทุน 12,759 ล้านบาท จึงมีความเป็นไปได้ว่าปี 2558 อาจขาดทุนมากที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งการบินไทย อาจมากกว่าปี 2551 ที่เคยขาดทุนสูงสุดถึง 21,379 ล้านบาท
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ขอให้บริษัท การบินไทย ปรับปรุงแผนการแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยขอให้เพิ่มมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งพิจารณาสัดส่วนพนักงานให้เหมาะสมกับภารกิจและทิศทางบริษัท โดยให้เสนอแผนต่อ คนร.ภายในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ และให้ดำเนินการให้เห็นผลภายในเดือนธันวาคมนี้ "เปรียบเสมือนให้ใบเหลือง และในเดือนมีนาคม 2559 จะทบทวนการดำเนินงานเพื่อวัดผลตามแผนอีกครั้ง หรือเป็นการพิจารณาการให้ใบแดงหรือไม่ ซึ่งทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบทั้งพนักงาน ผู้บริหารระดับสูง กรรมการ กรรมการผู้จัดการ"นายเอกนิติกล่าว
แผนฟื้น'บินไทย'..อาการยังโคม่า สะเทือนเก้าอี้'ดีดี'..ร้อนฉ่า
ดูเหมือนเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือดีดี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ของ "นายจรัมพร โชติกเสถียร" จะสั่นสะเทือนขึ้นทุกวัน เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการตามนโยบายของรัฐบาลยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มิหนำซ้ำดูเหมือนจะยังไม่ช่วยให้การขาดทุนของบริษัทลดลง ทำเอาหลายคนอดกังวลและรู้สึกเป็นห่วงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้
- เดินหน้าแผนฟื้นฟูไล่ปิดเส้นทางบิน
ตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นด้วยการลดการขาดทุน โดยในช่วงต้นปีได้ปิดเส้นทางบินหลายเส้นทาง เช่น ไปโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เส้นทางไปมอสโก ประเทศรัสเซีย เส้นทางไปมาดริด ประเทศสเปน เป็นต้น ซึ่งตามแผนจะต้องลดเส้นทางบินให้ได้ประมาณ 5% โดยในช่วงไตรมาสแรก เส้นทางที่ขาดทุนแน่ๆ มี 10 เส้นทาง จากนั้นก็จะพิจารณาอีก 10 เส้นทางที่ขาดทุน ส่วนเส้นทางที่เหลือก็เป็นการลดเที่ยวบิน เช่น กัลกัตตา ประเทศอินเดีย นำเครื่องบินขนาดเล็กไปให้บริการ เช่น เอาเครื่องบินของสายการบินไทยสมายล์ไปลงไฮเดอราบัด ฉางชา และหลวงพระบาง เป็นต้น
ทั้งนี้ การปิดเส้นทางบินหรือลดเที่ยวบิน ทางการบินไทยได้พิจารณาจาก 5 หลักเกณฑ์ คือ 1.การดำเนินงานในอดีต 2.ขนาดตลาดของที่นั่น 3.ศักยภาพ 4.ต้นทุนกับความพร้อมของการบินไทยในการขายที่นั่น 5.มีการขายให้กับเส้นทางอื่นด้วยหรือไม่ แต่หากจะพิจารณาเส้นทางบินที่ขาดทุนจริงๆ ของการบินไทนนั้น รวมแล้วจะมีถึง 50 เส้นทาง แต่ที่มีการยกเลิกหรือปรับลดจะเป็นเส้นทางที่ขาดทุนมากสุด บางเส้นทางขาดทุนต่อเนื่องมาประมาณ 5-10 ปี ก็ต้องปิด เพราะไม่คุ้มที่จะเปิดต่อไป
นอกจากตามแผนฟื้นฟูยังมีการปรับลดเครื่องบินเก่า โดยที่ผ่านมาได้ขายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 19 ลำ จากทั้งหมด 38 ลำ ที่เหลือก็อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการ ส่วนแผนหารายได้จะเป็นการพิจารณาเรื่องการบริหารราคา โดยใช้ระบบเข้ามาช่วยบริหารจัดการเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การบริหารกลุ่มลูกค้า หาฐานลูกค้าใหม่มากขึ้น
- เน้นลดต้นทุนตั้งเป้าปี"59 พลิกกำไร
สิ่งที่สำคัญของแผนฟื้นฟูในครั้งนี้คือ การปรับลดต้นทุนลง ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องประสิทธิภาพและวิธีการทำงาน โดยเป็นการปรับวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายลง โดยมีการกำหนดค่าใช้จ่ายต้องลดให้ได้ 20% ภายในระยะเวลา 18 เดือน ขณะเดียวกันยังต้องมีการปรับลดองค์กรและคน เนื่องจากภายในองค์กรมีผู้บริหารจำนวนมาก โครงสร้างจึงต้องปรับให้ใกล้เคียงมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยการบินไทยจะใช้วิธีเทียบเคียงกับสายการบินคู่แข่งว่าเป็นอย่างไร ยังมีเรื่องการปรับลดคน เป้าหมายคือ 20% ของค่าใช้จ่าย โดยไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นจำนวนคนเท่าไหร่ ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยได้จัดโครงการร่วมใจจากองค์กร (เอ็มเอสพี) รอบแรกลดแล้ว 1,401 คน ก็ใช้งบประมาณ 5,300 ล้านบาท ในปี 2559 ตามแผนฟื้นฟูจะต้องใช้งบอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อเปิดโครงการดังกล่าวอีก โดยตั้งเป้าหมายในเดือนมกราคม 2559 การบินไทยจะต้องมีกำไร และหลังจากนั้นทุกเดือนในปี 2559 ก็จะมีกำไรด้วยเช่นเดียวกัน
- ไตรมาส 2 ยังโชว์ขาดทุน 1.2 หมื่นล.
หลังจากเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ผลประกอบการไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน 2558) ก็ทำเอาหลายคนออกอาการช็อก เพราะนอกจากผลการดำเนินงานจะไม่ปรับตัวดีขึ้นอย่างที่คิด แต่ยังประสบปัญหาขาดทุนถึง 1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีรายได้รวม 41,807 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,557 ล้านบาท หรือประมาณ 4% รวมแล้วขาดทุนสุทธิ 12,759 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 5,097 ล้านบาท แต่หากรวมผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2558 จะขาดทุนสุทธิ 8,218 ล้านบาท
ทำให้นายจรัมพรออกมายอมรับว่าแผนการดำเนินงานลดค่าใช้จ่ายครึ่งปีแรก 10% ลดแทบไม่ได้เลย หรือเกือบ 0% ส่วนครึ่งปีหลังก็ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10% ของรายได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือลดให้ได้ประมาณ 5 พันล้านบาท ก็ถือว่าดีแล้ว ขณะเดียวกันเห็นว่าที่หลุดเป้าหมายจำนวนมากมาจากราคาตั๋วที่ลดลง ส่วนเป้าหมายรายได้ตลอดทั้งปีที่ตั้งไว้ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท คงไม่น่าได้
ขณะที่นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล อนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้แสดงความคิดเห็นภายหลังประชุมร่วมกับคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยว่า การบินไทยยังน่าเป็นห่วงเพราะยังมีวิกฤต เช่น ไตรมาส 3 ยังมีหลายตัวไม่ได้ตามเป้าหมาย การปฏิบัติยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แผนยังไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ โดยเฉพาะแผนการลดค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ 10% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 2 พันล้านบาทเท่านั้น หากเป็นแบบนี้ต่อไปก็ไปไม่รอด พร้อมกันนี้ได้แนะนำบอร์ดการบินไทยไปว่าจะต้องสื่อสารกับผู้บริหารและทีมงานเพื่อให้เร่งดำเนินการให้ดีขึ้น
- มติลดเงินเดือนระดับรองดีดีลงมา
ล่าสุด นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายการบินไทย (อีเอ็มเอ็ม) มีมติเสนอขอความร่วมมือให้ปรับลดเงินเดือนผู้บริหารตั้งแต่ระดับ 8 ถึงระดับ 13 หรือตั้งแต่ผู้จัดการแผนกจนถึงรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ลง 1-10% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้บริษัท หลังการดำเนินงานตามแผนลดรายจ่ายของการบินไทยช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยการปรับลดครั้งนี้จะมีพนักงานที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบกว่า 2,000 คน การขอปรับลดเงินเดือนผู้บริหารระดับ 8-13 ดังกล่าว จะเป็นการขอความร่วมมือโดยสมัครใจ หากพนักงานไม่ยินยอมจะไม่สามารถบังคับให้ลดเงินเดือนได้ เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมายรองรับ ยกเว้นจะเป็นคำสั่งจากศาล โดยรายละเอียดอัตราเงินเดือนที่ปรับลดลง ประกอบด้วย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขอลดลง 10% ผู้อำนวยการใหญ่ลดลง 5% ผู้อำนวยการลด 3% ผู้จัดการกองลด 2% และผู้จัดการแผนกลด 1%
พร้อมกันนี้ นายดำรงแสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปรับลดเงินเดือนครั้งนี้ เพราะเชื่อว่าการลดเงินเดือนเจ้าหน้าที่เป็นการลดรายจ่ายเพียงเล็กน้อยและไม่สามารถช่วยแก้วิกฤตการบินไทยได้ โดยเป็นการทำเชิงสัญลักษณ์ให้นายกรัฐมนตรีเห็นมากกว่า ดังนั้นจึงต้องการให้ผู้บริหารนโยบายการบินไทย ตั้งแต่ประธานคณะกรรมการ กรรมการทุกคน โดยเฉพาะนายจรัมพร รวมถึงที่ปรึกษาต่างๆ ที่จ้างมาแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหานี้ เพราะเมื่อไม่สามารถบริหารงานได้ตามแผน ทำไมถึงผลักภาระมาให้พนักงานผู้น้อยรับผิดชอบ และยังไม่มีการพูดถึงการปรับลดเงินเดือนฝ่ายนโยบายอีกต่างหาก
- โวยดีดีจ้างที่ปรึกษาส่วนตัว
นายดำรงค์ยังระบุว่า ที่ผ่านมาพนักงานและกลุ่มสหภาพฯพยายามเสนอความเห็นเพื่อแก้วิกฤตการบินไทยหลายเรื่อง แต่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริหาร บอร์ดจะรับฟังกันแค่บอร์ดหรือที่ปรึกษาที่จ้างมาเท่านั้น ซึ่งมีหลายคำถามที่ผู้บริหารตอบพนักงานไม่ได้ เช่น การยกเลิกเที่ยวบินบางเส้นทางที่ขาดทุน หรือการว่าจ้างดีดีการบินไทยเข้ามาทำงาน แต่กลับต้องจ้างที่ปรึกษาส่วนตัวมาช่วยงานอีกเดือนละ 1.5 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับต้องเสียเงินจ้างดีดีถึง 2 คน หากเป็นแบบนี้ทำไมไม่จ้างที่ปรึกษามาทำงานแทนดีดีเลย
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกพูดมาในประเด็นนี้ว่า การที่การบินไทยได้ว่าจ้างผู้บริหารเข้ามาทำงานนั้น หมายความว่า เพราะเชื่อมั่นในเรื่องของผลงาน แต่หากผู้บริหารเข้ามาแล้วยังมาว่าจ้างที่ปรึกษาส่วนตัวอีก ก็คงจะต้องมาดูว่ามีเหตุผลอะไร และเรื่องนี้บอร์ดอนุมัติไปได้อย่างไร
"ในหลักการผมเห็นว่า หากเราจะว่าจ้างผู้บริหารเข้ามาบริหารงานสักคนหนึ่ง นั่นหมายความว่าเราจะต้องมั่นใจในฝีมือของเขาี่จะเข้ามาทำงาน หากเข้ามาแล้วต้องมาจ้างที่ปรึกษาอีก อันนี้คงไม่ใช่แล้ว ต้องไปดูว่าบอร์ดอนุมัติไปได้อย่างไร แล้วต้องไปดูคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ว่าคิดเห็นอย่างไร"
สิ้นคำพูดของนายอาคม ก็ทำเอาหลายคนคิดไปต่างๆ นานา แต่ที่นึกถึงมากสุดคงหนีไม่พ้นเก้าอี้ดีดีการบินไทย ไม่รู้ว่าตอนนี้จะร้อนระอุขนาดไหน!!!
มติชนออนไลน์ : วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558