- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Friday, 06 November 2015 09:39
- Hits: 2581
อาคม' แจงยิบ อนาคตรถไฟ 'ไทย-จีน-ญี่ปุ่น
การพัฒนาระบบรางของไทยยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนอยู่ไม่น้อย ทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) โดยเฉพาะความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-จีน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้หารือร่วมกับจีน เป็นครั้งที่ 8 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนแล้ว รวมถึงความร่วมมือพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่ยังเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้น เพื่อความกระจ่างถึงความคืบหน้าโครงการต่างๆ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม อธิบายถึงความคืบหน้าว่า การประชุมร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ในครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 28-29 ตุลาคม ได้ข้อสรุปดังนี้
1.ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการกำหนดพิธีเริ่มต้นโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-กรุงเทพฯ และแก่งคอย-มาบตาพุด จะวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ควบคุมการเดินรถที่สถานีรถไฟเชียงรากน้อย ระหว่างวันที่ 15-20 ธันวาคม ซึ่งวันที่แน่นอนจะพิจารณาอีกครั้ง ในเวลาเดียวกันจีนจะส่งมอบการออกแบบตัวอาคารให้ไทยพิจารณาเดือนพฤศจิกายน
2.ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่างเอกสารกรอบความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (เอ็นดีอาร์ซี) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวางแผนเศรษฐกิจของจีนในเรื่องของโครงการรถไฟ โดยกรอบความร่วมมือส่วนใหญ่จะเป็นการทบทวนความร่วมมือตั้งแต่การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ผลการประชุมร่วมกัน 7 ครั้งที่ผ่านมา โดยรวบรวมความคืบหน้าทั้งหมดไปเขียนไว้ในกรอบความร่วมมือรถไฟระหว่างไทยและจีน จะใช้เป็นพื้นฐานการทำงานในอนาคต
กระทรวงคมนาคมจะนำกรอบความร่วมมือนี้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 พฤศจิกายน แล้วจะลงนามกันได้
ส่วนจะลงนามได้วันไหนจะพิจารณาอีกครั้ง เพราะทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการลงนามในกรอบความร่วมมือจะลงนามพร้อมกับสัญญาการซื้อขายข้าวและซื้อขายยางพารา ระหว่างหน่วยงานของจีนและหน่วยงานของไทย ซึ่งผมได้หารือกับ รมว.พาณิชย์แล้วว่าใน 2 สัปดาห์นี้ต้องหารือกันว่าจะลงนามที่ปักกิ่ง หรือที่กรุงเทพฯ จะเป็นการลงนามทั้ง 3 ฉบับพร้อมกันเลย
3.ทางฝ่ายจีนจะตกลงที่จะส่งข้อมูลเพิ่มเติม คือ ข้อมูลที่ทางกระทรวงคมนาคมร้องขอว่าอยากจะให้จีนทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่ออธิบายเรื่องของการรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และรายงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจีนได้ส่งให้กระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม
แต่ข้อมูลหลายประการยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการประมาณการจำนวนผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า รวมทั้งรายรับรายจ่าย ตลอดอายุโครงการ 30 ปี จะเกี่ยวโยงกับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร อัตราค่าขนส่งของที่จีนได้ศึกษาไว้ ซึ่งไทยยังมีข้อคำถามอยู่
ดังนั้น จีนจะส่งข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมกับคำอธิบายต่างๆ ให้ฝ่ายไทยทราบต่อไป
ขณะเดียวกันทางจีนยังตกลงว่าจะส่งมอบผลการออกแบบรายละเอียดเส้นทางระยะที่ 1 คือ ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ซึ่งตอนนี้ก็มีความคืบหน้าไปเกือบ 100% ทางจีนบอกว่าจะส่งมอบให้ภายในพฤศจิกายน
4.เมื่อส่งมอบผลการออกแบบให้ไทยแล้วทางฝ่ายไทย ซึ่งตามกรอบความร่วมมือเราระบุว่าเป็นสิทธิของฝ่ายไทยที่จะปรับปรุงรายงานการศึกษาให้มีความเหมาะสมก่อนเสนอ ครม.เห็นชอบโครงการระยะที่ 1 ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนต่อไป
5.ฝ่ายไทยขอสงวนสิทธิตรวจสอบรายละเอียด รวมทั้งการประมาณการราคาค่าก่อสร้างต่างๆ ตามที่บริษัทที่ปรึกษาของไทยโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้ว่าจ้าง หลังจากได้ข้อสรุปเรื่องราคาแล้ว กรณีการก่อสร้างนั้นตามที่ได้ตกลงร่วมกัน คือ การก่อสร้างที่สลับซับซ้อน ยุ่งยาก โดยเฉพาะช่วงที่ 3 จะต้องทำสะพานและเจาะอุโมงค์ จะเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายจีน แต่การก่อสร้างทางฝ่ายจีนเห็นชอบด้วยว่าการคัดเลือกผู้รับเหมานั้นทางฝ่ายไทยจะต้องเข้าไปมีส่วนในการคัดเลือก โดยใช้ผู้รับเหมาไทยให้มากที่สุด ซึ่งจีนบอกว่าไม่มีปัญหา แต่ต้องได้มาตรฐานตามที่จีนกำหนด
ผมได้เรียนไปว่ามาตรฐานและคุณภาพของผู้รับเหมาบริษัทไทยมีประจักษ์พยานอยู่แล้วในเรื่องของการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ การก่อสร้างสถานีรถไฟบางซื่อ และการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ต่างๆ ซึ่งเป็นหลักประกันคุณภาพได้อยู่แล้ว
6.รูปแบบการลงทุนกับการเงิน ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งเดินทางไปเยือนจีนเมื่อเดือนตุลาคม ทั้ง 2 ท่านได้หารือเทอมทางการเงิน โดยยืนยันว่าไทยควรจะได้รับเงื่อนไขพิเศษเรื่องดอกเบี้ยไม่น้อยไปกว่าที่จีนให้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งจีนรับปาก
แต่การประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 8 ที่ผมเป็นประธานและหัวหน้าคณะไปนั้น ทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (ไชน่า เอ็กซิมแบงก์) ยังยืนอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม แต่บอกว่ายังมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นพิเศษสำหรับไทย ก็จะหารือเรื่องเงื่อนไขการกู้เงินกับทางจีนโดยเฉพาะเอ็กซิมแบงก์ของจีนต่อไป
เมื่อทราบราคาประมาณการต้นทุนโครงการแล้ว ถึงจะทราบว่าจะใช้เงินกู้จากจีนในสัดส่วนเท่าไหน
หลังจากนี้ความเข้มของงานก็มากขึ้น หากขั้นตอนที่ 5 ดำเนินการได้แล้ว ตั้งเป้าหมายเบื้องต้นไว้ว่าประมาณเดือนพฤษภาคม 2559 จะเริ่มต้นก่อสร้างทางรถไฟ หรือโครงสร้างพื้นฐานได้ เป็นการกำหนดไว้เบื้องต้น
7.ทางฝ่ายไทยจะกำหนดแผนการทำงานตลอดช่วงของการดำเนินโครงการนี้
ในส่วนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น นายอาคมชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน กระทรวงคมนาคมและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น โดยที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นมาเยือนไทย ก็ได้หารือกับผมและนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องความคืบหน้าระหว่าง 2 รัฐบาล ซึ่งก่อนที่ปรึกษานายกฯญี่ปุ่นจะมาเยือนไทยนั้น เมื่อเดือนตุลาคมได้ประชุมร่วมกันกับคณะอนุกรรมการของกระทรวงที่ดินญี่ปุ่น และกระทรวงคมนาคม เรื่องแผนการทำงานโครงการรถไฟ
ซึ่งในบันทึกแสดงเจตนารมณ์ระหว่าง 2 กระทรวง มี 3 เส้นทาง คือ 1.กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ 2.กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-สระแก้ว และ 3.แม่สอด-มุกดาหาร ซึ่งเป็นเส้นตะวันตก-ตะวันออก (อีสต์-เวสต์ คอร์ริดอร์) หลังหารือนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยก็ประเมินว่า เส้นทางที่เป็นไปได้สูงสุดและเริ่มต้นก่อสร้างได้เลย คือ
1.เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-สระแก้ว แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน
1.1.ขั้นตอนของการปรับปรุงรางรถไฟ ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร (กม.) ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้ปรับปรุงบางส่วนแล้ว ดังนั้นจึงเหลือ 1 ใน 4 เท่านั้นที่จะปรับปรุง คณะสำรวจของทางญี่ปุ่นได้เดินทางมาไทยเมื่อตุลาคม และพฤศจิกายนจะหารือเพิ่มเติมในเรื่องของผลการสำรวจ คาดว่าคงเริ่มโครงการได้ในปี 2559
1.2.การตั้งบริษัทเดินรถร่วมกันในเส้นทางนี้ จะเริ่มจากบริการขนส่งทางรถไฟก่อน 1.3.รถไฟสายยังมีอยู่ประมาณ 30-40 กม.ที่จะต้องก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อให้ไปถึงด่านพุน้ำร้อน เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และท่าเรือน้ำลึกทวาย จะก่อสร้างควบคู่ไปกับการพัฒนาทางรถไฟทั้งเส้นเป็นระบบทางคู่ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้วยจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี
2.เส้นทางรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างศึกษาและสำรวจ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และพิษณุโลก-เชียงใหม่ ประมาณเดือนมิถุนายน 2559 จะเสนอรายงานขั้นกลางเข้า ครม.เห็นชอบ และดำเนินการรายงานการศึกษาขั้นสุดท้ายประมาณเดือนธันวาคม 2559
3.เส้นทางอีสต์-เวสต์ คอร์ริดอร์ เป็นทางถนน ระหว่างแม่สอด-มุกดาหาร จะใช้เส้นทางแม่สอด-กำแพงเพชร-พิษณุโลก-ขอนแก่น-มุกดาหาร ระยะทาง 700 กม. สามารถใช้งานได้อยู่แล้ว โดยกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างของบประมาณปี 2560 ปรับปรุงเส้นทางระหว่างบ้านนาไคร้-คำชะอี และคำชะอี-มุกดาหาร ซึ่งเป็นช่วงสั้นๆ เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางให้สั้นลงอีก
แต่ที่พัฒนาเพิ่มเติม คือ เส้นทางรถไฟ หารือร่วมกับญี่ปุ่นแล้ว โดยขอปรับเส้นทางใหม่จากเดิม แม่สอด-พิษณุโลก-ขอนแก่น-มุกดาหาร ปรับเป็นแม่สอด-นครสวรรค์-บ้านไผ่ เพื่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่จากบ้านไผ่ไปยังมุกดาหารและนครพนมแทน เพราะหากใช้เส้นทางนี้การเจาะอุโมงค์จะน้อยกว่าเส้นทางผ่านพิษณุโลก หล่มสัก และเพชรบูรณ์ โดยญี่ปุ่นมอบหมายให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) จ้างที่ปรึกษามาร่วมสำรวจกับไทยในเส้นทางนี้
4.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ญี่ปุ่นได้ส่งมอบขบวนรถใหม่มาจำนวนมากแล้ว จะครบทั้งหมด 21 ขบวนในเดือนธันวาคม 2558 จะเปิดทดสอบระบบ โดยเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 จะเปิดให้ทดลองนั่ง และเดือนกรกฎาคม 2559 จะปรับปรุงระบบหลังจากการทดลองเพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น เดือนสิงหาคม 2559 จะเปิดบริการอย่างเป็นทางการ
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ-รังสิต สัญญา 3 การติดตั้งระบบและจัดซื้อขบวนรถได้ข้อสรุปแล้ว โดยทาง ร.ฟ.ท.เตรียมนำเสนอกระทรวงคมนาคม จากนั้นจะนำเสนอ ครม.ได้ในพฤศจิกายนนี้
ที่ญี่ปุ่นแสดงความสนใจมาก คือ รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งได้แจ้งญี่ปุ่นไปว่าไทยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรวมถึงเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหินด้วย และได้นำเสนอ ครม.ครั้งล่าสุดว่าขอนำรถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทางไปบรรจุในแผนยุทธศาสตร์การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือพีพีพีด้วย
"จากนี้กระทรวงคมนาคมจะแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพีพีพี โดยไม่ต้องนำเข้า ครม.ก่อน เพราะตามกฎหมายปี 2556 ให้อำนาจกระทรวงการคลังดำเนินการ เมื่อกำหนดเป็นแผนแล้วค่อยนำเข้า ครม. จะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 9 เดือน จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 ปี" นายอาคมระบุ
นี่คือ ภาพรวมการพัฒนาระบบรางของไทยที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ แต่จะสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ต้องติดตาม !!
มติชนออนไลน์ :วันที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558