- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Sunday, 04 October 2015 22:22
- Hits: 6076
3 ชาติขอเอี่ยวทำรถไฟฟ้า ‘อิตาลี-ฝรั่งเศส-เยอรมนี’ยังสนใจลงทุนศูนย์ซ่อมเครื่องบิน
แนวหน้า : รมว.คมนาคม เผยทูต'อิตาลี-ฝรั่งเศส- เยอรมนี'เล็งจับมือนักลงทุนไทยลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินในไทย พร้อมสนับสนุนในการแก้ข้อบกพร่องทางการบิน
เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2558 เอกอัครราชทูตอิตาลี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส และเอกอัครราชทูตเยอรมนี เข้าพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม โดยทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทางเอกชนของอิตาลี ได้แสดงความสนใจในการลงทุนเกี่ยวกับทางด้าการรถไฟความเร็วสูงด้วยใน ขณะที่ ทูตฝรั่งเศสได้เข้าพบเพื่ออำลา พร้อมยืนยันความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ของไทย และมหาวิทยาลัยวาเลนเซีย ในเรื่องของเทคโนโลยีระบบรางด้วย เช่นเดียวกับเยอรมนีที่สนใจเรื่องการลงทุนระบบรางด้วย
นอกจากนี้ ยังสนใจที่จะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ที่มีความร่วมมือระหว่างสายการบิน Air France และสายการบินไทย ที่ถือเป็นไปตามแนวนโยบายของการสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินของรัฐบาลไทยที่จะมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน
“เยอรมนี และฝรั่งเศส ให้ความสนใจลงทุนในประเทศแถบภูมิภาคนี้ ในการประหยัดค่าใช้จ่ายและการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยานที่ทำการบินระหว่าง เอเชียกับยุโรปก็ได้ให้ความสนใจในการที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐาน ซึ่งทางไทยก็พร้อมให้การสนับสนุนและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการจัดตั้ง บริษัทซ่อมแซมอากาศยานร่วมกันและเชื่อว่าจะสามารถดึงอากาศยานจากสายการบิน ต่างๆ เข้ามาได้ ซึ่งได้บอกกับทั้ง 3 ประเทศไปว่าให้มองไทยเป็นศูนย์กลางในอนุภูมิภาค(GMS) และเป็นจุดศูยน์กลางของอาเซียน”
ทางทูตอิตาลีได้เข้ามาหารือเรื่องการยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-โรม ที่ขณะนี้ทางบริษัท การบินไทย อยู่ในระหว่างขั้นตอนการประเมินผลและยืดเวลาออกไปถึงเดือน ก.พ. 2559 ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารในเส้นทางดังกล่าว มีจำนวนไม่มากแต่ก็ได้มีการ หารือร่วมกันว่าอาจจะสามารถร่วมมือระหว่างสายการบินไทยกับสายการบินของอิตาลีได้โดยใช้ลักษณะ Connecting Flight
รมว.คมนาคม กล่าวว่า นอกจากนี้ได้มีการขอให้ทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี ให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ(SSC) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ ก็เข้าใจว่าทางรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมาก โดยมีความมั่นใจว่าความปลอดภัยทางด้านสายการบินและท่าอากาศยาน ในส่วนของการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการออกใบอนุญาตที่ขณะนี้ได้ มีการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)แล้ว และจะมีการแยกกรมการบินพลเรือนออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(ก.พ.ท.) ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนการผ่าน แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา SSC แน่นอน
ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งขาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินอากาศพ.ศ. 2497 พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 เพื่อแก้ข้อบกพร่องทางการบินว่า ตนกำลังแก้ปัญหาในหลายเรื่องทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องกฎระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) รวมทั้ง เรื่ององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ทั้งหมดนี้ใครทำไว้ไม่รู้ แต่ตนเองกำลังแก้ไข ซึ่งการปรับนั้นเป็นการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลก็ทำงานกันมาตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้แก้ไข