- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 03 October 2015 09:30
- Hits: 4980
คค.เผยอิตาลี-ฝรั่งเศส-เยอรมัน สนใจลงทุนศูนย์ซ่อมฯเครื่องบิน
แนวหน้า : นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเอกอัครราชทูตอิตาลี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส และเอกอัครราชทูตเยอรมันเข้าพบว่า ทางทูตอิตาลีได้เข้ามาหารือเรื่องการยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพ-โรม ที่ขณะนี้ทางบริษัท การบินไทยฯ อยู่ในระหว่างขั้นตอนการประเมินผลและยืดเวลาออกไปถึงเดือน ก.พ. 2559 ในการพิจารณาการทำการบินในเส้นทางดังกล่าว รวมถึงในส่วนของการประชาสัมพันธ์และการตลาด เนื่องจากในปีหน้าเป็นปีเฉลิมฉลองของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารในเส้นทางดังกล่าวมีจำนวนไม่มาก แต่ก็ได้มีการหารือร่วมกันว่าอาจจะสามารถร่วมมือระหว่างสายการบินไทยกับสายการบินของอิตาลีได้โดยใช้ลักษณะ Connecting Flight ส่วนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทางอิตาลีได้แสดงความสนใจในการลงทุนเกี่ยวกับทางด้านการรถไฟ
ในส่วนของทางทูตฝรั่งเศสได้เข้าพบเพื่ออำลา และยืนยันความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยวาเลนเซียในเรื่องของเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งทางไทยก็ยังเดินหน้าหน้าความร่วมมือต่อเนื่องจากเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และฝึกทักษะของบุคลากรของไทย รวมถึงยังให้ความสนใจที่จะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่มีความร่วมมือระหว่างสายการบิน Air France และสายการบินไทย ที่ถือเป็นไปตามแนวนโยบายของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของไทย และยังได้แสดงความสนใจเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีระบบรางทั้งโครงการรถไฟระบบรางปัจจุบัน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเนื่องจากทางอิตาลีก็มีเทคโนโลยีระบบรางอยู่แล้ว โดยหวังว่าจะมีโอกาสในเข้าร่วมประมูลในโครงการเหล่านี้
สำหรับ ทูตเยอรมันได้มีการหารือในเรื่องของเทคโนโลยีทางรางที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมโครงการต่างๆและเกี่ยวกับสายการบินที่อย่างจะให้มีความร่วมมือระหว่างสายการบินไทยกับสายการบิน Lufthansa ในการทำการบินร่วมกันในเส้นทางโคโลญ-กรุงเทพ และเส้นทางโคโลญ-ภูเก็ต ซึ่งจะต้องของให้ทางบริษัท การบินไทยฯ และสายการบิน Lufthansa ได้หารือร่วมกันต่อไป โดยทั้ง 2 สายการบินนี้ถือว่าอยู่ในกลุ่ม Star alliance อยู่แล้ว รวมถึงยังแสดงความสนใจในส่วนของศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน
"ทั้งเยอรมัน และฝรั่งเศสยังให้ความสนใจในประเทศแถบภูมิภาคนี้ ในการประหยัดค่าใช้จ่ายและการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยานที่ทำการบินระหว่างเอเชียกับยุโรปก็ได้ให้ความสนใจในการที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานฯ ซึ่งทางไทยก็พร้อมให้การสนับสนุนและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทซ่อมแซมอากาศยานร่วมกันและเชื่อว่าจะสามารถดึงอากาศยานจากสายการบินต่างๆเข้ามาได้ ซึ่งได้บอกกับทั้ง 3 ประเทศไปว่าให้มองไทยเป็นศูนย์กลางในอนุภูมิภาค(GMS) และเป็นจุดศูยน์กลางของอาเซียน"
นอกจากนี้ ได้มีการขอให้ทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมัน ให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องอย่างมีนัยยะสำคัญ(SSC) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ซึ่งทั้ง 3 ประเทศก็เข้าใจว่าทางรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมาก โดยมีความมั่นใจว่าความปลอดภัยทางด้านสายการบินและท่าอากาศยาน ในส่วนของการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการออกใบอนุญาตที่ขณะนี้ได้มีการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)แล้ว และจะมีการแยกกรมการบินพลเรือนออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(ก.พ.ท.) ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนการผ่าน แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา SSC แน่นอน