WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คมนาคมปรับแผน-เดินหน้าลงทุนปกติ

ดับฝันรัฐกู้นอกงบลุย 'บิ๊กโปรเจกท์' คมนาคมปรับแผน-เดินหน้าลงทุนปกติ : อนัญชนา สาระคู ... รายงาน

       ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่าพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ... หรือ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ส่งผลให้กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นอันต้องร่วงลงไป

      โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ระยะ 7 ปี ถูกมองว่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปกติ และภาคธุรกิจเองก็มีความหวังว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้เพิ่มขึ้น จึงเกิดคำถามว่าเมื่อการออกกฎหมายในรูปแบบดังกล่าว เพื่อจัดหาแหล่งเงินกู้นอกงบประมาณมาใช้ในโครงการเป็นไปไม่ได้แล้ว รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ผลักดันวิธีการนี้ จะทำอย่างไรกับนโยบายลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ โดยได้มีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วว่าหาก 'พรรคเพื่อไทย'ได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้ง

       ก็จะเดินหน้าต่อในโครงการต่างๆ ยกเว้นรถไฟฟ้าความเร็วสูง และจะปรับแผนการจัดหาเงินกู้ให้เข้ามาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะแทน

ปรับแผนจัดหาแหล่งเงินกู้

      นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายนัก หลังจากการไปชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญและได้ฟังแนวคำถาม รวมทั้งความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ ก็พอจะคาดผลได้ล่วงหน้า จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อเตรียมแผนสำรองในการดำเนินโครงการ

     แนวทาง คือ ต้องปรับมาใช้แหล่งเงินทุนภายใต้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ซึ่งเบื้องต้นจะต้องตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงออกไปก่อน และคาดว่าโครงการที่เหลือจะใช้วงเงินในการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โดยกระบวนการต่างๆ จะเริ่มต้นเมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาอนุมัติโครงการ และจะให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการหาแหล่งเงินทุน หลังจากนั้นจะตั้งงบประมาณจ่ายคืนเงินกู้ต่อไป

     "ผลกระทบที่สำคัญคงจะเป็นเรื่องกรอบเวลาในการดำเนินโครงการ ความมั่นใจ ความต่อเนื่องของโครงการ ซึ่งรัฐบาลใหม่ก็คงจะต้องมีการปรับแผนให้เหมาะสมและชัดเจนต่อไป" นายชัชชาติ กล่าว

     ขณะที่กระทรวงการคลังกำลังเตรียมจัดทำร่างงบประมาณปี 2558 ซึ่งคาดว่าจะบรรจุเงินลงทุนของโครงการ 2 ล้านล้านบาท เข้าไปไว้ในงบประจำปีด้วย ในเรื่องนี้ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ กล่าวว่า เมื่อมีการปรับแผนนำเงินลงทุนจากโครงสร้างพื้นฐานมาบรรจุไว้ในงบประจำปี ก็จะทำให้งบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาท จากงบขาดดุลปัจจุบันปี 2557 ที่ 250,000 ล้านบาท

     "แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ด้วยว่าจะใส่งบลงทุนเพิ่มอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขที่กู้เงินได้ไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณ แต่ก็จะกระทบกับแผนการจัดทำงบสมดุลภายในปี 2560" นายสมศักดิ์ กล่าวและว่า อีกทั้งจะใช้ระยะเวลาลงทุนมากกว่าเดิมคือจากเดิมกำหนดระยะเวลา 7 ปี เป็นประมาณ 10 ปี

เกลี่ยงบเดินหน้าลงทุนปกติ

    ทั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เมื่อการจัดหาเงินกู้นอกงบประมาณเพื่อมาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกท์ ที่เงินส่วนใหญ่ของ 2 ล้านล้านบาท จะเป็นการลงทุนในรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 สาย ไม่สามารถทำได้ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงก็เป็นอันต้องพับแผนเข้ากรุไปโดยปริยาย

   โดยแผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางนั้น จะประกอบไปด้วย 1.กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 2.กรุงเทพฯ-หนองคาย 3.กรุงเทพฯ-ระยอง และ 4.กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ วงเงินลงทุนรวมกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งในบางเส้นทางยังไม่สามารถดำเนินการได้ตลอดทั้งสาย เช่น กรุงเทพฯ-หนองคาย จะสร้างถึง จ.นครราชสีมา และเส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ จะสร้างระยะที่ 1 ถึงหัวหิน เท่านั้น

   ส่วนการลงทุนระบบคมนาคมอื่นๆ นั้น ส่วนใหญ่ยังคงเดินตามแผนปกติ แต่อาจล่าช้ากว่าในโครงการ 2 ล้านล้านบาทอย่างน้อย 2-3 ปีขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่

   นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า แม้ว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจะไม่มีผลบังคับใช้ แต่แผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ จะยังคงเดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างให้ครบทั้ง 10 สายจะไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 7 ปี อาจจะต้องล่าช้าออกไปไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี และอาจต้องเรียงลำดับเส้นทางที่ก่อสร้างก่อนและหลังขึ้นมาใหม่ เพราะงบประมาณที่มีจำกัด และไม่สามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายพร้อมกันได้

      “พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจัดทำขึ้นมาให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินมาใช้เงินได้มากกว่า พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ที่กำหนดวงเงินกู้ไว้ไม่เกินปีละ 20% ของงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ สามารถเดินหน้าได้แล้วเสร็จทั้งหมดตามแผนงานที่กำหนด แต่เมื่อไม่มี พ.ร.บ.ดังกล่าว การหาเงินมาดำเนินโครงการก็จะทำได้น้อยลง วงเงินที่จะนำมาลงทุนจึงไม่เพียงพอที่จะทำได้ทั้งหมด และอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 15 ปี จึงจะก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ครบทุกสาย”

    ทั้งนี้ เห็นว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางใหม่ของ รฟม.ได้ล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนดตั้งแต่รัฐบาลประกาศยุบสภาแล้ว เพราะต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณาอนุมัติโครงการก่อน ส่วนการก่อสร้างในเส้นทางเดิมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจะไม่ได้รับผลกระทบ ยังสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่กำหนด

    ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า เมื่อ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทตกไป ทำให้ ร.ฟ.ท.ไม่สามารถเดินหน้าโครงการพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายทางคู่ทั่วประเทศ 28 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทได้ตามแผนงานที่กำหนด ซึ่งจะทำให้ระบบรางของไทยไม่สามารถแข่งขันกับชาติอื่นในอาเซียนได้ ทั้งด้านการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ

    อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากรัฐบาลเห็นว่าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ยังมีความสำคัญก็ต้องทำต่อ ก็อาจเสนอใช้เงินส่วนอื่นเข้ามาดำเนินการ

     สำหรับแผนงานพัฒนาข่ายทางคู่ที่มีแผนจะดำเนินการ คือการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่สายปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่สายถนนจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท และรถไฟทางคู่สายขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะล่าช้าออกไปอย่างแน่นอน

     นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า แผนการลงทุนในโครงการบูรณทางหลวงสายหลักระหว่างภาครวม 56 โครงการ และโครงการก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงทั่วประเทศ วงเงินรวม 242,380 ล้านบาท จะต้องชะลอออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเห็นว่าโครงการของ ทล. มีความจำเป็นต้องการเร่งรัด ก็สามารถที่จะจัดสรรงบประมาณปี 2558 เพื่อนำมาใช้ดำเนินการได้  หรืออาจจะพิจารณากู้เงินจากแหล่งอื่น เช่น จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือธนาคารโลก

    ส่วนนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ทช.จะต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่มีความจำเป็น จากเดิมที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ไปบรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2558 แทน เช่น โครงการก่อสร้างสะพาน และอุโมงค์ข้ามทางรถไฟ โครงข่ายทางหลวงชนบทเชื่อมต่อด้านการท่องเที่ยว โครงข่ายถนนทางหลวงชนบทเชื่อมต่อการค้า การลงทุน และการขนส่ง เป็นต้น

    “โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากที่สุด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการป้องกันปัญหาและลดอุบัติเหตุจากการจราจร คือ โครงการก่อสร้างสะพานและอุโมงค์ข้ามทางรถไฟ ซึ่งทุกโครงการจะจัดลำดับความสำคัญตามแผนว่าโครงการใดควรดำเนินการก่อนหลัง จากนั้นจะบรรจุในงบประมาณปี 2558 คาดว่าจะทำให้งบประมาณในปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 71,000 ล้านบาท จากปี 2557 ที่ได้รับงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 38,000 ล้านบาท” นายชาติชาย กล่าว

แค่เสียโอกาส-ไม่กระทบศก.

    สำหรับข้อกังวลที่ว่าเมื่อ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้จะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่นั้น ในประเด็นนี้

    นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเห็นว่า โดยมองว่าเป็นเรื่องการเสียโอกาสมากกว่า แต่ยังไม่ส่งผลเสียหายรุนแรงต่อเศรษฐกิจ

   ทั้งนี้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระบบรางเป็นเรื่องที่ทุกคนคาดหวังในแง่ระบบโลจิสติกส์ ทำให้ภาคธุรกิจสามารถวางแผนลงทุนในอนาคตได้ชัดเจน เม็ดเงินลงทุนระยะ 7 ปี 2 ล้านล้านบาท เฉลี่ยต่อปี 3 แสนล้านบาท จะส่งผลต่อเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปกติได้ 1-1.5% ก่อให้เกิดการจ้างงาน ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อ เพิ่มกำลังซื้อของประชาชนได้ แต่เมื่อหายไป จึงเป็นเรื่องของการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในขณะที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

     การลงทุนแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ คือการลงทุนรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาการค้าชายแดน ที่แม้จะไม่มี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แต่ก็สามารถแยกโครงการลงทุน ภายใต้แผนการลงทุนของหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร อีกทั้งจะเริ่มเร็ว หรือช้าอย่างไร

    สำหรับ มุมมองของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ให้น้ำหนักผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจากปัญหาการเมืองมากกว่า ซึ่งในเร็วๆ นี้เตรียมที่จะปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3-4% ลดลงเหลือ 2-3% และมีโอกาสที่จะหลุดต่ำกว่า 2% หากปัญหาการเมืองยังเนิ่นนานออกไป

   ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังเติบโตได้ในระดับ 3% แม้จะไม่มีการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เพราะยังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว

    "เงินที่นำมาใช้ลงทุนแทนร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับดังกล่าว จะต้องรอหารือกับรัฐบาลใหม่ ว่าจะนำมาจากแหล่งใดแต่โครงการที่ผ่านการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่จะใช้แหล่งเงินจากเงินกู้ จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบ ยกเว้นโครงการใหม่ที่จะต้องมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะต้องใช้เงินจากงบประมาณ"นายอาคม กล่าว

(ดับฝันรัฐกู้นอกงบลุย 'บิ๊กโปรเจกท์' คมนาคมปรับแผน-เดินหน้าลงทุนปกติ : อนัญชนา สาระคู ... รายงาน)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!