- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Tuesday, 15 September 2015 08:53
- Hits: 4159
นายกฯ รับรถไฟไทยจีนความเร็วปานกลางติดขัด หลังออกแบบก่อสร้างของทั้ง 2 ประเทศไม่ตรงกัน ยันจะเดินหน้าให้ทันในปีนี้
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดปฎิบัติการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน ผู้มีรายได้ และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ ย้ำว่า เป็นการนำเม็ดเงินมาให้โครงการกองทุนหมู่บ้านที่มีศักยภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ควรตั้งแง่ว่า เมื่อให้เงินไปแล้วอย่าคิดว่าจะเกิดการทุจริต แต่ต้องนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางไทยจีน อยู่ระหว่างการพูดคุยตกลงในรายละเอียด เพราะขณะนี้ติดปัญหาการออกแบบก่อสร้างของทั้ง 2 ประเทศไม่ตรงกัน ทำให้ขณะนี้งบประมาณที่ใช้ก่อสร้างสูงขึ้น จึงต้องมีการตกลงในรายละเอียด แต่ยืนยันว่าทุกอย่างมีความคืบหน้า ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าให้ทันในปีนี้ เพราะเป็นปีประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ ดังนั้น ไม่ควรมากล่าวหาว่ารัฐบาลดำเนินการล่าช้า เพราะหากทำด้วยความรวดเร็ว เสียหาย ไม่เรียบร้อย ก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
ขณะที่ คสช.เตรียมเชิญนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเนชั่น และนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มาปรับทัศนคติ ยืนยันว่า หากพูดในทางที่เสียหายก็ต้องถูกเชิญตัว ดังนั้นจึงไม่ควรพูดในทางที่เสียหาย เพราะประเทศกำลังเดินหน้าอยู่ และไม่ควรเล่นการเมือง ในช่วงนี้ ส่วนกรณีที่นายวัฒนา เมืองสุข โดนเจ้าหน้าที่ทหารชกต่อย ก็ให้ไปแจ้งความหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่อยากให้ไปตรวจสอบดูด้วยว่าที่ผ่านมานายวัฒนา เป็นศัตรูใครไว้บ้าง เพราะปากเสีย โดยไม่ควรมากล่าวหาว่าทหารทำไม่อยากให้เชื่อนายวัฒนาเพียงฝ่ายเดียว และอยากให้สื่อพิจารณาว่า นายวัฒนาเชื่อถือได้หรือไม่ หากขยายความต่อบ้านเมืองอาจจะมีปัญหาได้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
คมนาคม เผยจีนรับปากเร่งส่งผลศึกษารถไฟ พ.ย.58 พร้อมประเมินค่าก่อสร้าง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังการลงนามรับรองบันทึกการประชุมร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 7 กับ นายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับผลการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร และช่วงที่ 3 แก่งคอย – นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร
ฝ่ายจีนได้ส่งเอกสารผลการศึกษาฯ เบื้องต้นให้แก่ฝ่ายไทยแล้ว เมื่อวันที่ 31 ส.ค.58 สรุปผลการศึกษาฯ โดยรายงานผลการศึกษาฯ ยังไม่สมบูรณ์ ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีนจัดทำผลการศึกษาเพิ่มเติมหลายส่วน เช่น ประมาณการราคามูลค่าการก่อสร้างโครงการ ประมาณการรายได้จากการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งจะต้องมีความสัมพันธ์กับรายงานผลการศึกษาฯ ในช่วงที่ 2 แก่งคอย – มาบตาพุด และช่วงที่ 4 นครราชสีมา – หนองคาย เป็นต้น ซึ่งฝ่ายจีนจะดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 1 เดือน
ดังนั้น ฝ่ายจีนจะส่งรายงานผลการศึกษาฯ ช่วงที่ 2 และช่วงที่ 4 ให้ฝ่ายไทยภายในเดือน พ.ย.58 ซึ่งเร็วกว่าแผนงานเดิมที่กำหนดแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.58
ขณะที่กระทรวงคมนาคม โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย จะจ้างที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบข้อมูลของผลการศึกษาฯ ทั้งหมด
สำหรับ แผนการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – แก่งคอย และช่วงที่ 3 แก่งคอย – นครราชสีมา จากเดิมที่กำหนดไว้ว่า จะเริ่มการก่อสร้างในวันที่ 23 ต.ค.58 นั้น จะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนงานการก่อสร้างออกไป เพื่อรอผลการศึกษาฯ ที่สมบูรณ์
นายอาคม กล่าวว่า รูปแบบความร่วมมือและรูปแบบการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยังคงเห็นชอบในรูปแบบความร่วมมือในการดำเนินโครงการแบบ EPC (Engineering Procurement and Construction) ส่วนแหล่งเงินทุนและอัตราดอกเบี้ย ฝ่ายจีนได้ยืนยันที่จะให้แหล่งเงินกู้ เงื่อนไข และอัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุดกับประเทศไทย ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง จะจัดทำข้อมูลเรื่องระบบและขั้นตอนการกู้เงินจากต่างประเทศของไทยให้ฝ่ายจีนได้รับทราบ
ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมบุคลากร ฝ่ายไทยได้จัดส่งบุคลากรรุ่นแรก เข้ารับการฝึกอบรมที่สาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว จำนวน 30 คน และรุ่นที่ 2 จะจัดส่งเข้ารับการฝึกอบรมในเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งเร็วกว่าแผนงานเดิมที่กำหนดไว้
ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะต้องสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย– จีน ระบบเทคโนโลยีของรถไฟจากจีน โดยการจัดสัมมนาทางวิชาการ เพื่อให้สื่อมวลชนและสาธารณะชนได้รับทราบ
ทั้งนี้ การจัดประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย– จีน ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 27 – 28 ต.ค.58 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
อินโฟเควสท์
ไทยพร้อมลุยรถไฟฟ้า ยืนยันให้จีนปล่อยกู้คิดดอกไม่เกิน 2%
แนวหน้า : นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยระหว่างการประชุมร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน
ครั้งที่ 7 ร่วมกับ Mr. Wang Xiaotao หัวหน้าคณะฝ่ายจีนว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กิโลเมตร ความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเป็นการหารือหลังจีนส่งผลรายงานการศึกษาความเหมาะสมการออกแบบการสำรวจเส้นทางที่แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.2558 ซึ่งจีนได้ขอส่งเป็นการศึกษาออกแบบเบื้องต้นก่อน
ทั้งนี้ ในส่วนของตอนที่ 1 เส้นทาง กรุงเทพฯ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ส่วนตอนที่ 2 เส้นทางแก่งคอย-มาบตาพุด และตอนที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย จะมีการสรุปรายละเอียดร่วมกันเพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และในที่ประชุมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างการออกแบบการก่อสร้างแนวเส้นทาง และรูปแบบทางการเงินจึงจำเป็นจะต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนซึ่งคาดว่าจีนจะสำรวจแล้วเสร็จในต้นเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นไทยยังคงยืนยันหลักการเดิม ขอให้จีนจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ระยะเวลา 25-30 ปี ปลอดหนี้ 6-7 ปี
โดยในส่วนของมูลค่าการลงทุนในช่วงที่ 1 และ 3 ทางไทยยืนยันว่าต้องการให้มีการตั้งที่ปรึกษาทางการเงินของฝ่ายไทยมาร่วมพิจารณาเพื่อให้สามารถวิเคราะห์มูลค่าโครงการได้อย่างเหมาะสมและได้ราคาค่าก่อสร้างที่เป็นจริง ซึ่งที่ผ่านมาไทยและจีนยังมีความเห็นแตกต่างกัน
สำหรับ โครงการนี้ เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างไทยและจีน โดยรูปแบบและเทคโนโลยีทางจีนจะเป็นผู้ออกแบบ
แต่ในขั้นตอนการก่อสร้างขอเป็นคนไทยดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะต้องแยกรายการให้ชัดเจน ซึ่งเท่าที่ดูยังไม่มีความชัดเจนเท่าไหร่ หลังจากวิธีการก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะเข้าสู่กระบวนการหาผู้รับเหมา และอีไอเอ โดยหากเส้นทางเปลี่ยนแปลงจากเดิมจะต้องส่งถึงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ส่วนพื้นที่ต้องการใช้เพิ่มเติมจะมีการเวนคืนโดยจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วยโดยในวันที่ 12 ก.ย.นี้ ไทย และผู้แทนจีนจะลงนามรับรอบผลการประชุมครั้งนี้ด้วย