- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 05 September 2015 08:41
- Hits: 10777
รมช.คมนาคม เปิดโครงการถนนดีทั่วไทยสายระยอง-จันทบุรีตามนโยบายกระตุ้นศก.ระยะสั้น
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) เปิดเผยว่า ทช.เริ่มดำเนินการ หนึ่งในโครงการถนนดีทั่วไทย คือ ทางหลวงชนบทสาย รย.4036 (ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต) อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ช่วงที่ 1 โรงเรียนวัดตะเคียนงาม กม.ที่ 12+000–12+900 ระยะทาง 900 เมตร และช่วงที่ 2 วัดคลองปูน กม.ที่ 16+800-17+700 ระยะทาง 900 เมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1.52 ล้านบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2558 นี้ โดยถนนสายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออก ถนนเพื่อการท่องเที่ยวที่สวยที่สุดในภาคตะวันออก ซึ่งถนนเฉลิมบูรพาชลทิตนั้น มีระยะทางรวม 118 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนสายหลัก 100 กิโลเมตร ถนนสายรอง 18 กิโลเมตร ก่อสร้างจุดพักรถและจุดชมวิว 11 แห่ง งบประมาณในการดำเนินโครงการ 1,403 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (2549-2559)โดยดำเนินการในจังหวัดระยองและจันทบุรี
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดถนนโครงการถนนดีทั่วไทย ทางหลวงชนบทสาย รย.4036 (ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต) ช่วงกม.ที่ 12+000–12+900 และช่วงที่ 2 วัดคลองปูน กม.ที่ 16+800-17+700 อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
สำหรับความคืบหน้าภาพรวมของโครงการถนนดีทั่วไทย ปัจจุบันได้ลงนามในสัญญาแล้ว 1,722 โครงการ รอลงนามในสัญญา 39 โครงการ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ย.58) ทั้งนี้ โครงการถนนดีทั่วไทยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2559
ทช.ได้เริ่มดำเนินโครงการถนนดีทั่วไทย ซึ่งเป็นโครงการภายใต้นโยบายรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายระบบขนส่งทางบกรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงชนบทเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ท่องเที่ยว เขตเศรษฐกิจพิเศษและเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงและใช้บริการด้านคมนาคมขนส่งของประชาชนในชนบททั่วประเทศ ซึ่งโครงการถนนดีทั่วไทยเป็นโครงการขนาดเล็กที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานระยะสั้น เพื่อให้เกิดการกระจายตัวในการจ้างงาน ประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก ได้แก่ แผนงานปรับปรุงถนนเชื่อมโยงพื้นที่เกษตรและแหล่งท่องเที่ยว, แผนงานพัฒนาสิ่งอำนวยความปลอดภัยด้านการขนส่งทางถนน, แผนงานปรับปรุงถนนเชื่อมโยงด่านศุลกากรและเขตทางพิเศษ จำนวน 1,761 โครงการ
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการดำเนินโครงการ ทช.ได้ให้ความสำคัญในการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ซึ่ง ทช. ได้ดำเนินการจัดทำคู่มือการดำเนินงานการมีส่วนร่วมภาคประชาชน โดยคู่มือการดำเนินงานการมีส่วนร่วมภาคประชาชนจะเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในกิจกรรมการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของ ทช. ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับขั้นตอนการให้ประชาชนร่วมตรวจสอบขั้นตอนการก่อสร้าง ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อให้งานก่อสร้างทุกโครงการของ ทช. เป็นไปตามรูปแบบรายการ ได้มาตรฐาน มีความโปร่งใส ความถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมาย มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของประชาชน รวมทั้งได้จัดทำคู่มือการดำเนินงาน การมีส่วนร่วมภาคประชาชน สำหรับช่างควบคุมให้กับเจ้าหน้าที่ ทช.ได้ใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานและการปฏิบัติงาน เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อไป
อินโฟเควสท์