- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Friday, 28 August 2015 12:22
- Hits: 4696
รมว.คมนาคม เผย พร้อมดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนส่ง 17 โครงการ มูลค่า 1.6 ล้านลบ.ปี 58-59
รมว.คมนาคม เผย พร้อมดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนส่ง 17 โครงการ มูลค่า 1.6 ล้านลบ.ปี 58-59 เตรียมชงรถไฟฟ้าสี ส้ม-ชมพู-เหลือง-ม่วงใต้ เข้า ครม.ภายในปีนี้ - เล็งเปิดประมูลรถไฟทางคู่อย่างน้อย 2 เส้นทางในปีนี้ มั่นใจแผนการลงทุนของกระทรวงจะดันศก.ไทยปีนี้โต 1%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังจากเข้าทำงานในกระทรวงฯ วันนี้เป็นวันแรกว่า ในปีงบประมาณ 2558-2559 จะเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่(เมกะโปรเจคท์) 17 โครงการ มูลค่ารวม 1.66 ล้านล้านบาท
โดยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว ถือเป็น 1 ใน 5 เรื่องเร่งด่วน ที่กระทรวงคมนาคมจะเร่งดำเนินการ โดยส่วนที่เหลือได้แก่ การใช้ประโยชน์ จากโครงสร้างพื้นฐาน, การปรับปรุงการให้บริการสาธารณะ, การสร้างมาตรฐาน ด้านคมนาคม เช่น การแก้ปัญหาความปลอดภัยทางการบิน ตามมาตรฐานขององค์การ การบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ตลอดจนการดำเนินการตามนโยบายและแผนของคณะกรรมการนโยบายและ กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.)
ในปีนี้จะมีการเปิดประมูลมอเตอร์เวย์ เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด ขณะที่จะพยายามเสนอเรื่องการประมูลรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้, สายสีส้ม, สายสีชมพู และสายสีเหลือง เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในปีนี้ นอกจากนี้ จะพยายามเปิดประมูลรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง ให้ได้ในปีนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เชื่อว่าแผนการลงทุนโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ให้เติบโตเพิ่มอีก 1%
"จากงบประมาณซ่อมถนน 4 หมื่นล้านบาท และงบประมาณปี 2558 รวมถึง งบปี 2559 ที่จะเริ่มใช้ในไตรมาส 4(ปี 58) จะผลักดันให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้นอีก 1%" นายอาคม กล่าว
นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนจะเร่งเชิญตัวแทนของ ICAO เข้ามาตรวจสอบ มาตรฐานการบินของไทยในไตรมาส 1 หรือ 2 ของปี 2559 เร็วขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ใน ไตรมาส 3/2559
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
‘อาคม’ชู 5 ยุทธศาสตร์พัฒนาคมนาคม ดัน 17 เมกะโปรเจกท์ปั๊มศก.
แนวหน้า : 'อาคม'ประกาศขับเคลื่อน 17 โครงการขนาดใหญ่วงเงินลงทุน 1.6 ล้านล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมชู 5 ยุทธศาสตร์ เร่งรัดการทำงานทุกด้าน ขณะที่ 'ออมสิน' เน้นทำงานเป็นทีมมั่นใจโครงการผ่านฉลุยเพราะได้สภาพัฒน์ช่วยหนุน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าการทำงานของกระทรวงคมนาคมหลังจากนี้จะเน้น 5 ยุทธศาสตร์ เร่งรัดการทำงานปี 2558-2559 โดยส่วนแรกจะเร่งผลักดันการลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่(เมกะโปรเจกท์) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจประกอบด้วย 17 โครงการ จำนวนดังกล่าว 5 โครงการผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้วที่เหลือจะเร่งรัดให้มีการอนุมัติจาก ครม.ทั้งหมด โดยทั้ง 17 โครงการจะมีมูลค่าการลงทุน 1.6 ล้านล้านบาท
โดยเชื่อว่าการลงทุนเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไทยปี 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1% สำหรับโครงการที่อนุมัติจาก ครม.แล้วและมั่นใจว่าจะเริ่มประกวดราคาปี 2558 ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้า 3-4 เส้นทางคือ สายสีส้ม สีชมพู สีเหลืองและสีม่วงด้านใต้ รวมถึงรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง
ส่วนที่ 2 จะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์คมนาคมขนส่งก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น ระบบขนส่งที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว เส้นทางคมนาคมเพื่อสุขภาพเช่น โครงการเลนจักรยาน พัฒนาทางถนน เพื่อเชื่อมต่อชุมชนกับส่วนกลาง
ส่วนที่ 3 ปรับปรุงระบบสาธารณะต่างๆ ทั้งบริการรถสาธารณะ บริการสายการบินและที่สำคัญการพัฒนาระบบตั๋วร่วมที่กระทรวงคมนาคมาตั้งเป้าหมายเริ่มให้บริการเชื่อมหลายระบบขนส่งภายในปี 2559
ส่วนที่ 4 การยกระดับมาตรฐานและแยกหน้าที่ระหว่างการให้บริการระบบขนส่งกับการกำกับดูแล หรือเรกูเลเตอร์จะครอบคลุมงาน 2 ส่วนคือ บทบาทกรมเจ้าท่าที่กำกับดูแลการเดินเรือโดยสารและออกใบอนุญาตประจำเรือที่สำคัญงานปรับปรุงมาตรฐานการบิน เพื่อปลดล็อกปัญหาความปลอดภัยด้านการบินจากกรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ)ปักธงแดงกรมการบินพลเรือนของไทย การทำงานหลังจากนี้จะเร่งรัดการทำงาน โดยภายใน 1 เดือนหรือเดือนตุลาคมนี้จะเร่งรัดให้เริ่มตรวจสอบความปลอดภัยของสายการบินเพื่อออกใบอนุญาตใหม่ตามที่ไอซีเอโอกำหนด ซึ่งจะทำพร้อมกับด้านอื่นๆ ทั้งปรับปรุงบุคลากร แก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (เอสเอสซี) การปรับปรุงโครงสร้างกรมการบินพลเรือนที่กระทรวงต้องการให้ดำเนินการเชิญไอซีเอโอ เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานไทยอีกครั้งภายในไตรมาส 1 หรือ 2 ของปี 2559 เร็วขึ้นจากที่กำหนดไว้ปลายปี 2559
ส่วนที่ 5 การดำเนินการเพื่อฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจตามกรอบการทำงานของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซุปเปอร์บอร์ด) กำหนดแนวทางไว้ โดยมีรัฐวิสาหกิจที่ต้องเร่งฟื้นฟูกิจการทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
ส่วนการแบ่งงานให้รมช.คมนาคมนั้น เบื้องต้นในฐานะรัฐมนตรีคมนาคมจะกำกับดูแลงานด้านขนส่งทางอากาศครอบคลุมหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ระบบราง และกรมทางหลวง โดยจะแบ่งงานเมกะโปรเจกท์บางโครงการให้นายออมสิน ดูแล เช่น รถไฟไทย-จีน ขณะที่ตนจะกำกับดูแลกรมทางหลวงชนบทกรมการขนส่งทางน้ำ กรมการขนส่งทางบก และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องทั้ง ขสมก. บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
ขณะที่นายออมสิน ยืนยันว่าจะทำงานลักษณะเป็นทีมและเชื่อว่าแต่ละโครงการจะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัฐมนตรีคมนาคมยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ด้วย เช่นการผลักดันโครงการต่างๆ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาพัฒน์ก็จะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
นายอาคม ได้ให้ความเห็นถึงเศรษฐกิจภาพรวมปีนี้ว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญกู้วิกฤติเศรษฐกิจไทย โดยครึ่งปีหลังจะมีโครงการสำคัญใช้จ่ายเม็ดเงินลงทุนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทอีก 40,000 ล้านบาท รวมถึงการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำก็จะมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจควบคู่กับการท่องเที่ยวที่ยังมีความเชื่อมั่นว่าเติบโตได้ดี
สำหรับ ประเด็นที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะมีการตั้งรักษาการแทนตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ เพื่อให้ตนสามารถทำงานในตำแหน่งรมว.คมนาคมและเดินหน้าโครงการต่างๆได้เต็มที่นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี
อาคม ลุยเข็น 17 บิ๊กโปรเจ็กต์หวังหนุนเศรษฐกิจโต 1% โว Q2/59 ปลดธงแดง ICAO
ไทยโพสต์ : คมนาคม * ‘อาคม’ ฟิตลุยเข็น 17 เมกะโปรเจ็กต์ 1.6 ล้านล้าน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจปี 59 โตเพิ่ม 1% มั่นใจภายในไตรมาส 2/59 ปลดธงแดง ICAO พร้อมมุ่งปรับปรุงบริการระบบโดยสารสาธารณะ ทั้งรถเมล์ รถไฟฟรีให้มีคุณภาพ
นายอาคม เติมพิทยาไพ สิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลัง มอบนโยบายการทำงานให้กับ หน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงคมนาคมว่าจะเน้น 5 ยุทธศาสตร์ เพื่อเร่งรัดการทำงาน ปี 2558-2559 โดยเฉพาะโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมกะโปรเจ็กต์ 17 โครงการ มูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท
"หากมีการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ได้ตามแผน เมื่อรวมกับงบกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ที่เริ่มหมุนเวียนอีก 4 หมื่นล้าน ในไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1 ซึ่งยังไม่นับรวมเงินกู้จากรัฐวิสาหกิจที่จะมีมาอีกมาก ส่วนแนวโน้มจีดีพีในครึ่งปีหลัง เชื่อว่าจะโตดีกว่าครึ่งปีแรกที่เติบโต 2.9% แน่นอน เพราะการท่องเที่ยวยังมีสถิติดีอยู่ และมีการลงทุนจากภาครัฐช่วยขับเคลื่อนได้อีก" นายอาคมกล่าว
สำหรับ โครงการที่อนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเร่ง รัดให้มีการประมูลและเริ่มก่อ สร้างได้ภายในปี 58-59 ประกอบ ด้วย โครงการรถไฟฟ้า อาทิ สายสีม่วง บางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ สีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง สีชมพู แคราย-แจ้งวัฒนะ-มีนบุรี และสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา และกรุงเทพฯ-หัวหิน ตลอดจนโครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด รวมถึงรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่
นอกจากนี้ จะเร่งใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งด้านท่องเที่ยวที่จะมีการผลักดันการสร้างท่าเรือสำราญและมารีน่า พร้อมกับเลื่อนการจัดงานมหกรรมเรือยอชต์จากเดือน ธ.ค.58 ไปเป็น ก.พ.59 รวมถึง ให้เกิดผลดีต่อสุขภาพประชาชน เช่น โครงการเลนจักรยาน ต่อเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงการค้าการลงทุน และการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีรองนายกฯ สมคิด ไปเปิดโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก พร้อมกับส่งมอบถนน 48 กก. เมียวดีก๊อกกะเร๊ก และวางศิลาฤกษ์การสร้างสะพานแม่น้ำเมยแห่งที่ 2
นายอาคม กล่าวว่า ในด้านการแก้ไขข้อบกพร่องที่มี นัยสำคัญต่อการบิน (SSC) หรือ ติดธงแดงขององค์การการบิน พลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่ง ตั้งเป้าจะเชิญ ICAO เข้ามาตรวจสอบ และปลดล็อกประเทศไทยพ้นจากธงแดงได้ภาย ในไตรมาสแรก หรือไม่เกินไตรมาส 2 ปี 59 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่กำหนดในสิ้นปี 59
นอกจากนี้ จะมีการมุ่งปรับปรุงบริการระบบโดยสารสาธารณะ ทั้งรถเมล์ รถไฟฟรีให้มีคุณภาพ รวมถึงการทำตั๋วร่วมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรเดียวใช้จ่ายค่าโดยสารรถเมล์ ทางด่วน รถไฟฟ้า เรือได้หมด ซึ่งจะเริ่มใช้ได้ปี 59 พร้อมกับมีการเร่งรัดแผนฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการบินไทยให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว.
ชี้'ระบบขนส่งทางราง'เปลี่ยนปท. รัฐหนุนพิษณุโลกเป็นฮับคมนาคม
แนวหน้า : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (26 ส.ค.) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 ภายใต้แนวคิด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ที่โรงแรมท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก โดยมี สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สถานวิจัยด้านความเป็นเลิศ ด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นเจ้าภาพหลัก มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 200 คน
โดย ดร.พิเชฐ กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับระบบทั้งส่วนที่เป็นระบบราง รถไฟรางคู่ การปรับปรุงเส้นทางต่างๆ ไปจนถึงอนาคตระบบรางที่ทันสมัย และมีความเร็วที่สูงขึ้น ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จับมือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่ง และสภาอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมบุคลากรที่จะมารองรับระบบราง ทั้งวิศวกร ช่างเทคนิค ผู้ที่จะประกอบการเดินรถ และประกอบการซ่อมบำรุงรถไฟในอนาคต
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า ผลกระทบกับเส้นทางที่ระบบรางเดินผ่าน คือ ความเจริญที่จะเกิดขึ้น แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการก่อสร้างที่ต้องคู่ขนานไปในการกระจายความเจริญ ลดความแออัดในชุมชนเมือง เพื่อให้คนคืนกลับถิ่น ซึ่งแน่นอนว่า บริบทแวดล้อมต้องดี เช่น มีโรงพยาบาล สถานศึกษาที่ดี อยู่ในแนวสองข้างทางที่ระบบรางผ่าน กระจายทั่วประเทศ ถึงวันนั้นเราก็จะได้เห็นความเจริญที่เป็นรูปธรรม การจะให้คนคืนถิ่นก็จะง่าย
"พิษณุโลกจะกลายเป็นฮับแห่งการคมนาคมขนส่ง เชียงใหม่จะกลายเป็น ฮับการท่องเที่ยว หรือจะเป็นฮับของอะไรก็แล้วแต่ สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วประเทศที่มีระบบรางจะพาดผ่าน" ดร.พิเชฐ กล่าว
ดร.พิเชฐ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่องการสร้างอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวางรากฐานหรือสร้างระบบรางนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลพิจารณาแล้ว และพยายามทำให้เอกชนของไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และชาติอื่นๆ ที่จะตามมา
"จำได้ว่า เมื่อ 3 - 4 ปีที่แล้ว ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนเลยในประเทศไทย ที่มีหลักสูตรเรื่องระบบราง วันนี้อย่างน้อยมี 10 มหาวิทยาลัย ที่เข้ามามีส่วนร่วมซึ่งสัญญาณเหล่านี้ เป็นสัญญาณที่ดี เราควรพยายามประคับประคองให้มีความเข็มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำการเชื่อมโยง มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ และเราหวังว่าเราจะได้ระบบรางที่เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ในที่สุด" รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว