- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 25 June 2014 22:46
- Hits: 4011
ก.คมนาคม เตรียมเสนอคสช.ยกร่างพ.ร.บ.ขนส่งฉบับใหม่ คาดใช้บังคับทัน AEC
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเร่งยกร่าง พ.ร.บ.บริหารการขนส่งฉบับใหม่ ให้เป็นกฎหมายกลางที่ทันสมัย และบูรณาการบังคับใช้ครอบคลุมการขนส่งทุกรูปแบบ โดยเตรียมสรุปเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พิจารณาอนุมัติ หวังดำเนินการให้แล้วเสร็จบังคับใช้ได้ทันเปิดรับ AEC
"กฎหมายด้านการขนส่งส่วนใหญ่ใช้มานานแล้ว ไม่สอดคล้องกับปัจจุบันที่สภาพเปลี่ยนแปลงไป การยกร่างใหม่และยกเลิกกฎหมายเดิมจะมีปัญหา เพราะมีกฎหมายลูกประกอบเกือบพันฉบับ จึงร่างกฎหมายกลางฉบับใหม่ขึ้นเป็นเครื่องมือเสริมกฎหมายเก่า หน่วยงานสามารถใช้กฎหมายใหม่ได้หากกฎหมายเดิมที่มีไม่ครอบคลุม"นายจุฬา กล่าว
โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการอนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.50 แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมายอื่น โดยจะมีคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติเป็นผู้กำกับดูแลและบริหารนโยบาย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนการกำกับดูแลจะมีคณะกรรมการในแต่ละกลุ่ม คือ คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบการขนส่งทางราง,ทางน้ำ ,ทางอากาศ,การขนส่งมวลชน
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกรมรางนั้น ขณะนี้ได้เสนอเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการคู่ขนานไปกับ พ.ร.บ.บริหารการขนส่ง โดยหลักการกรมรางจะทำหน้าที่ลงทุนด้านทางและรางเพื่อให้รัฐเป็นผู้รับภาระหนี้สินแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งจะทำหน้าที่ให้บริการเดินรถเพียงอย่างเดียว โดยมีรถไฟและที่ดินเป็นทรัพย์สิน ส่วนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์นั้นจะมีการแยกออกจาก ร.ฟ.ท.โดยให้กระทรวงการคลังเข้ามาถือหุ้นแทน โดยรถไฟฟ้าจะเป็นทรัพย์สินของแอร์พอร์ตลิ้งค์ส่วนโครงสร้างรางจะเป็นทรัพย์สินของรัฐ จะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการมากกว่าปัจจุบัน
สำหรับ การสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.บริหารการขนส่ง ในวันนี้จะได้ข้อสรุปและนำเสนอ คสช.ต่อไป ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องรอเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นก่อนประกาศใช้ต่อไป และโดยหลักการ พ.ร.บ.บริหารการขนส่งนี้จะไม่ซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่ แต่จะเป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้น เพื่อเป็นกฎหมายกลางที่มีความครอบคลุมและบังคับใช้กับทุกกิจกรรมการขนส่ง และรองรับกับการเปิดเสรีอาเซียน(AEC) ในปี 2558 ซึ่งจะมีรถและผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศมากขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องทุกเรื่องให้เป็นสากล และบังคับใช้
ขณะที่ นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯ มีนโยบายให้บูรณาการระบบบริหารจัดการด้านการขนส่งที่กระจายอยู่ในกฎหมายต่างๆ ให้มีกฎหมายกลางที่จะบริหารจัดการ จัดกลุ่มภารกิจด้านนโยบาย การกำกับดูแล และการประกอบการให้ชัดเจน เพื่อสามารถให้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการขนส่งได้ทุกกิจกรรมที่เพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ รวมถึงการวางกรอบในการดำเนินกิจการขนส่งที่มีลักษณะเป็นพันธะในการให้บริการสาธารณะและการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในโครงสร้างพื้นฐานและการประกอบการกิจการขนส่งที่ปรับโครงสร้างได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัย การบริการ และการสร้างบรรยากาศในการแข่งขันของผู้ประกอบการที่โปร่งใสและเป็นธรรม
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย