- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Tuesday, 04 August 2015 22:27
- Hits: 8409
รถไฟไฮสปีดเทรน เนื้อหอมเอกชนรุมตอมยื่นข้อเสนอสนใจลงทุน
บ้านเมือง : กระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญกับการเดินทางของประชาชนเป็นอย่างมาก ขณะนี้ที่กระทรวงคมนาคมก็ได้มีการเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน และโครงการรถไฟทางคู่ วันนี้จะขอนำเสนอความคืบหน้าบางส่วนของโครงการรถไฟไฮสปีดเทรน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 194 กิโลเมตร วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงิน 81,136.20 ล้านบาท ว่าขณะนี้ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (CP) และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ THBEV ได้เดินทางเข้าพบเพื่อรายงานให้ทราบว่าขณะนี้เอกชนได้จัดเตรียมข้อมูลและรายละเอียดโครงการไว้พร้อมแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเคยระบุไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเปิดประกวดราคาเอกชนก็พร้อมเข้ายื่นข้อเสนอทันที ซึ่งยอมรับว่าล่าสุดมีเส้นทางที่พร้อมประกวดราคาเพียงเส้นทางเดียว คือ กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ดำเนินการศึกษา ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษานั้น ยังอยู่ระหว่างการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ขณะที่กระทรวงคมนาคมต้องการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ได้พร้อมกันทั้ง 2 เส้นทาง
ล่าสุดได้มอบหมายให้นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ประสานกับสำนักงานนโยบายและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขอเร่งรัดการจัดทำ EIA เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน เป็นกรณีพิเศษ โดยให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน จากปกติต้องใช้เวลาศึกษาประมาณ 1-2 ปี ขณะเดียวกันได้ให้ปลัดกระทรวงคมนาคมประสานกับสำนักเลขาธิการ ครม. เพื่อหารือว่าจะนำเสนอโครงการนี้เข้า ครม. เพื่อขออนุมัติรอไว้ก่อนได้หรือไม่ และค่อยดำเนินการก่อสร้างหลังจากได้รับอนุมัติ EIA แล้ว อย่างไรก็ตาม จากการประเมินกรอบเวลาเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประกวดราคาทั้ง 2 เส้นทางได้ในเดือนมิถุนายน 2559 เพราะหลังจาก ครม.เห็นชอบแล้ว ยังมีขั้นตอนการจัดทำร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) และการดำเนินการตามรูปแบบรัฐกับเอกชนลงทุนร่วมกัน (Public-Private Partnership หรือ PPP)
ทั้งนี้ CP ได้หาผู้ร่วมทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างมาร่วมลงทุนด้วย คือ 1.บริษัท CITIC Construction Co., Ltd. จากฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร ทั้งเรื่องการออกแบบ เป็นที่ปรึกษา รับเหมาก่อสร้าง และมีสถาบันการเงินของตัวเอง 2.บริษัท HNA Group จากประเทศจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างท่าเรือ และรถไฟ
ด้าน THBEV ได้มาเข้าพบ พล.อ.อ.ประจิน เพื่อเสนอตัวลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่ง พล.อ.อ.ประจิน ได้ระบุให้ THBEV ตั้งคณะทำงานขึ้นมาประสานงานกับคณะทำงานของกระทรวงคมนาคม ที่มี รฟท.กับ สนข.รับผิดชอบ เพื่อจัดทำรายละเอียดการลงทุนให้ชัดเจน ซึ่งหลังจาก THBEV จัดทำข้อมูลเสร็จแล้วจึงได้มารายงานให้ พล.อ.อ.ประจิน รับทราบดังกล่าว เพื่อยืนยันความพร้อมการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ล่าสุด รฟท. มีแผนจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 218 ไร่ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของ รฟท. โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น 3 แปลง ประกอบด้วย แปลงที่ 1 จำนวน 35 ไร่ แปลงที่ 2 จำนวน 78 ไร่ แปลงที่ 3 จำนวน 105 ไร่ พร้อมนำแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development :TOD) มาใช้เป็นแนวทางศึกษาโครงการ โดย รฟท. ได้จัดจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านธุรกิจและการลงทุนโครงการดังกล่าว ระยะเวลาศึกษา 240 วัน และจะมีการจัดสัมมนาเพื่อทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ โดยคาดว่าจะจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2558
สำหรับ พื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อจำนวน 218 ไร่ มีศักยภาพสูงสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เนื่องจากเมื่อการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อแล้วเสร็จ จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางและคมนาคมขนส่งของพื้นที่กรุงเทพมหานครและเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศด้วยระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว รวมทั้งรถไฟทางไกลและรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก และใต้ นอกจากนี้ยังเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคมทางอากาศด้วย Airport Rail Link เชื่อมท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ และยังสามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายถนนหลัก ประกอบด้วย ถนนพหลโยธิน วิภาวดีรังสิต จุดขึ้น-ลงทางด่วนขั้นที่ 2 อีกด้วย ซึ่งที่นี่จะเป็นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ครั้งแรกของ รฟท.ที่จะเพิ่มมูลค่าของที่ดินให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้จัดประชุมระดับรัฐมนตรีคมนาคมไทย-ลาว อย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 2 โดยมีการหารือประเด็นสำคัญคือความร่วมมือด้านการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
ทั้งนี้ เป็นการหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายไทย โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งจากการหารือพบว่าโครงการความร่วมมือลาว-จีน เพื่อก่อสร้างรถไฟรางมาตรฐาน ความกว้าง 1.435 เมตร (Standard Gauge) คุนหมิง-ชายแดนลาว ระยะทาง 500 กิโลเมตร และชายแดนลาว-เวียงจันทน์ ระยะทาง 417 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จภายใน 5 ปีจากนี้ โดยสอดคล้องกับโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ที่จะเริ่มการก่อสร้างปลายปี 2558 ดังนั้นในปี 2563 จะสามารถเชื่อมการเดินทางจาก คุนหมิงมายังมาบตาพุดได้แน่นอน
สำหรับ แผนการก่อสร้างทางรถไฟจากสถานีท่านาแร้ง (สปป.ลาว) ไปยังเวียงจันทน์ ขนาดราง 1 เมตร (Meter Gauge) ซึ่งสำนักงานความ ร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (เนด้า) ให้ความช่วยเหลือนั้น ล่าสุด สปป.ลาวได้ยุติโครงการดังกล่าวแล้ว พร้อมโอนเงินที่เหลือจากโครงการนี้ประมาณ 990 ล้านบาท จากทั้งหมด 1,660 ล้านบาท มาไว้ในโครงการก่อสร้างรถไฟลาว-จีน รางมาตรฐานแทน เนื่องจากเห็นว่าสภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป จึงควรดำเนินการก่อสร้างรถไฟรางมาตรฐานจะเกิดประสิทธิผลสูงสุด ขณะปัจจุบันยังมีการให้บริการเดินรถไฟจาก จ.หนองคาย ไปยังสถานีท่านาแร้ง (สปป.ลาว) ที่ 4 เที่ยวต่อวัน
ซีพี ชงแผนไฮสปีดเทรนส.ค.นี้ คลังตีปีกงบเบิกจ่ายซ่อมถนน-น้ำฉลุย
ไทยโพสต์ *'ประจิน' แจงซีพี พร้อมพัฒนาไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง เล็งเสนอแผนลงทุนเดือน ส.ค.นี้ พร้อม สั่ง 'สร้อยทิพย์' เร่งหารือกระทรวงทรัพย์เดินหน้าพิจารณาผ่านอีไอเอ ด้านคลังตีปีกเบิกจ่ายงบซ่อมถนนทั่วประเทศ-บริหารจัด การน้ำ 8 หมื่นล้านบาทเดินหน้าฉลุย เตรียมเปิดทางเอกชนประมูลวงเงินกู้อายุ 1-2 ปี หมื่นล้านบาท หวังอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านท้องถิ่น หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งปี
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตัว แทนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ได้เข้าพบพร้อมยืนยันได้เตรียมข้อมูลแผนลงทุนโครง การรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด เทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยาระยอง ระยะทาง 194 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และเตรียมเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณารายละเอียดภายในเดือน ส.ค.58 นี้
ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯหัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 98,000 ล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ส่งข้อมูลให้อีไอเอพิจารณาแล้ว ซึ่งมีเอกชนไทยหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนเช่น เดียวกัน อาทิ บริษัท ไทยเบฟ เวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟ
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า จะเสนอ ครม.ขออนุมัติโครง การก่อสร้างไฮสปีดเทรนทั้งสองเส้นทาง ในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้ก็ได้เร่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ได้สั่งการให้นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม เพื่อพิจารณากระบวนการพิจารณา ศึกษารายงานวิเคราะห์ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังได้หารือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอขออนุมัติโครงการจาก ครม. ก่อน และเมื่อโครงการผ่านอีไอเอ จึงจะดำเนินการประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะดำเนินการได้ประมาณเดือน มิ.ย.59
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเบิกจ่ายลงทุนโครงการซ่อมสร้างถนนทั่วประเทศ 4 หมื่นล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศอีก 4 หมื่นล้านบาท รวมกันเป็นเงิน 8 หมื่นล้านบาท เริ่มมีการเบิกจ่ายเงินลงทุนเพิ่ม มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้านสำนัก งานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะมีการกู้เงินเพื่อใช้ในโครง การนี้เพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านบาท ภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยจะเป็นการเปิดให้ธนาคารพาณิชย์ประมูลเงินกู้คาดว่าจะอายุ 1-2 ปี โดยใครเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดก็เป็นผู้ชนะ
สำหรับ โครงการดังกล่าวทั้งหมด 8 หมื่นล้านบาท ใช้เงินจากกองทุน กสทช. 1.43 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะต้องใช้ เงินกู้ทั้งหมด 6.5 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะต้องดำเนินการกู้ภายในปีนี้ เพราะโครงการลงทุนทั้งหมดเป็นโครงการขนาดเล็กใช้เวลาดำเนินการเพียง 1 ปี ก็ก่อสร้างได้เสร็จ เพราะรัฐบาลต้องการให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระ ดับท้องถิ่นให้ฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น.