- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 29 July 2015 08:30
- Hits: 4893
ไทย-ลาว ถกความร่วมมือเชื่อมเส้นทางรถไฟ-การเดินรถ-สะพานมิตรภาพ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีคมนาคมไทย-ลาว ครั้งที่ 2 ร่วมกับนายบุญจัน สัมมะวง รมว.โยธาธิการและขนส่งของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นการหารือถึงความร่วมมือในการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ ขนาดราง 1.435 เมตร การขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าทางถนน ระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย-ลาว-เวียดนาม และการเชื่อมโยงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมระหว่างไทย-ลาว ซึ่งในส่วนของการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟนั้น เป้าหมายคือในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากคุณหมิง-ลาว-กรุงเทพฯ-มาบตาพุดได้ โดยในส่วนของเส้นทางจากคุณหมิง(จีน) - ชายแดนลาว ระยะทาง 520 กม. จะเริ่มก่อสร้างในปี 2558 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี จากชายแดนลาว-เวียงจันทน์ ระยะทาง 471 กม. ซึ่งลาวจะก่อสร้างในปี 2558 ใช้เวลาประมาณ 4 ปี ซึ่งสอดคล้องกับไทยที่จะก่อสร้าง รถไฟ 1.435 เมตร (กรุงเทพ-แก่งคอย-โคราช-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด) ตั้งแต่เดือนต.ค.58 ระยะเวลา 3.5 ปี
ทั้งนี้ จุดเชื่อมต่อจากหนองคาย-เวียงจันทน์นั้น จะมีการก่อสร้างสะพานใหม่ขนานไปกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ห่างประมาณ 10-30 เมตร ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบทางเทคนิค โดยฝั่งลาวตั้งแต่กึ่งกลางสะพานไปนั้น ฝ่ายลาวได้ขอให้จีนช่วยศึกษาออกแบบให้ พร้อมกันนี้ลาวได้ขอปรับเงินช่วยเหลือจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ในการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ขนาดราง 1 เมตร จากท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ในส่วนของวงเงินที่เหลืออีกประมาณ 990 ล้านบาท ไปใช้ในการพัฒนาเส้นทางรถไฟ 1.435 เมตร ในความร่วมมือรถไฟ ลาว-จีนแทน ส่วนเส้นทาง 1 เมตร จะยังคงให้บริการสิ้นสุดที่สถานีท่านาแล้ง โดยปัจจุบันมีรถไฟวิ่งวันละ 4 เที่ยว
สำหรับ การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางถนนนั้น ได้ตั้งคณะทำงานร่วม 2 ฝ่าย เพื่อทำการศึกษาสำรวจเพื่อเปิดเดินรถ 6 เส้นทางรวมถึงการปรับกฎกติกาในการเดินรถของแต่ละฝ่าย ทั้งจำนวนรถแต่ละฝ่าย ระยะเวลาที่รถจะอยู่ในประเทศได้, เปิดเส้นทาง R12 จากนครพนม-ท่าแขก-เวียดนาม, การให้รถของแต่ละประเทศขนส่งสินค้าเข้ามาส่งออกที่ท่าเรือของไทย เป็นต้น โดยจะใช้เวลาศึกษาร่วมกัน 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.) เพื่อสรุปความร่วมมือในการเดินรถเสนอที่ประชุมร่วมครั้งที่ 3 ช่วงปลายเดือนต.ค.-ต้นเดือนพ.ย.58
นอกจากนี้ ยังรับทราบความก้าวหน้าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) ซึ่งกรมทางหลวงได้ศึกษาออกแบบเสร็จแล้ว วงเงินลงทุน 3,700 ล้านบาท เป็นการลงทุนฝั่งไทย 2,400 ล้านบาทฝั่งลาว 1,300 ล้านบาท จะเร่งจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทางลาวได้ขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก NEDA เร่งด่วนใน 3 โครงการ คือ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงในสปป.ลาว ช่วงเชียงแมน-หลวงพระบาง, การก่อสร้างระบบน้ำประปาใน 8 เมือง และการพัฒนาท่าอากาศยานปากเซ ซึ่งทาง NEDA จะรับไปพิจารณา
นอกจากนี้ จะมีการศึกษาการเชื่อมเส้นทางรถไฟจากอุบลราชธานี(วารินชำราบ)- ช่องเม็ก ด่านชายแดนสปป.ลาว ระยะทางประมาณ 80 กม. โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้จ้างที่ปรึกษาไปศึกษาคาดแล้วเสร็จปี 2559
อินโฟเควสท์
'ประจิน'ถกเวทีคมนาคมไทย-ลาว คาดเริ่มก่อสร้าง 2 เส้นทางปลายปีนี้
แนวหน้า : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นาย บุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า เป็นการประชุมครั้งที่ 2 เกี่ยวกับการเชื่อมต่อ ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานระหว่างไทย-ลาว ในด้านการขนส่งทางถนนและทางราง ซึ่งในส่วนของเส้นทางรถไฟ 2 เส้นทางได้แก่ เส้นทางเวียดนาม-ลาว-ไทย และจีน-ลาว-ไทย โดยเฉพาะในเส้นทางที่เชื่อมจากจีนที่เป็นขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร จากคุนหมิงมาเชื่อมถึงชายแดนลาว ขณะนี้ยังขาดระยะทางอยู่ 520 กิโลเมตร และเส้นทางรางจากชายแดนลาวมาถึงเมืองหลวงเวียงจันทน์ระยะทาง 417 กิโลเมตร
ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 2 เส้นทางจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปีนี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงการรถไฟทางคู่ไทย-จีนของไทยที่จะเริ่มในเดือน ต.ค.นี้ และคาดว่าการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานจากมาบตาพุด – กรุงเทพฯ – คุนหมิงจะแล้วเสร็จในปี 2563 รวมถึงโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมเส้นทางรถไฟ โดยห่างจากพื้นที่สะพานมิตรภาพไทย – ลาวเดิมประมาณ 30 เมตร โดยไทยและลาวจะร่วมกันศึกษาในแต่ละพื้นที่ของประเทศที่รับผิดชอบและจะเริ่มเปิดให้บริการหลังเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟไทย-จีน
อย่างไรก็ตาม ทางลาวได้มีการขอเปลี่ยนแปลงการใช้เงินกู้จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน วง 1,650 ล้านบาท จากเดิมที่จะใช้ในการพิจารณาก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1 เมตร จากท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ เป็นการศึกษาก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร เวียงจันทน์-หนองคาย และการศึกษาสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งจะเหลืองบประมาณ 900 ล้านบาท
สำหรับ การจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับการเดินรถโดยสารประจำทางลาว-เวียดนาม-ไทย จะมีการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งฝ่ายไทยจะนำโดยนายนายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ,อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และฝ่ายลาวมีอธิบดีขนส่งเป็นตัวแทนโดยจะเป็นการเชื่อมโยง 6 เส้นทาง จึงต้องมีการหารือกับผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชนเรื่องเส้นทางและจำนวนรถ และต้องหารือในเรื่องการให้ผู้ประกอบการขนส่งของลาวขนส่งสินค้าผ่านแดนท่าเรือของไทย ซึ่งจะมีการหารือในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้'
‘ไทย-ลาว’รุกเชื่อมรถไฟไปถึงจีน
แนวหน้า : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคมเปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายบุนจันสินทะวง รมว.โยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่า เป็นการประชุมครั้งที่ 2 เกี่ยวกับการเชื่อมต่อด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานระหว่างไทย-ลาวในด้านการขนส่งทางถนนและทางราง
ในส่วนของเส้นทางรถไฟมีการหารือใน 2 เส้นทางได้แก่ เส้นทางที่มาจากเวียดนาม-ลาว-ไทย และเส้นทางจากจีน-ลาวเข้ามายังไทย โดยเฉพาะในเส้นทางที่เชื่อมจากจีนที่เป็นขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร จากคุนหมิงมาเชื่อมถึงชายแดนลาว ขณะนี้ยังขาดระยะทางอยู่ 520 กิโลเมตร และเส้นทางรางจากชายแดนลาวมาถึงเมืองหลวงเวียงจันทน์ระยะทาง 417 กิโลเมตร ทั้งนี้คาดว่าทั้ง 2 เส้นทางจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปีนี้
สำหรับ เส้นทางดังล่าวจะสอดคล้องกับโครงการรถไฟทางคู่ไทย-จีนของไทย และจะเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือรถไฟรางคู่จากมาบตาพุด – กรุงเทพฯ – คุนหมิง จะแล้วเสร็จในปี 2563 รวมถึงโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมเส้นทางรถไฟ โดยห่างจากพื้นที่สะพานมิตรภาพไทย – ลาวเดิมประมาณ 30 เมตร โดยไทยและลาวจะร่วมกันศึกษาในแต่ละพื้นที่ของประเทศที่รับผิดชอบและจะเริ่มเปิดให้บริการหลังเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟไทย-จีน
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่าการรถไฟฯได้จัดทำ “โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟ” ขึ้นเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท. ในการนี้ได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อศึกษาความเหมาะสมด้านธุรกิจและการลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟ” ระยะเวลาดำเนินการ 240 วัน