- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Tuesday, 28 July 2015 08:44
- Hits: 3981
คมนาคม เร่งศึกษาต้นทุนค่าโดยสารรถ บขส. หลังราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงต่ำสุดรอบ 6 ปี
คมนาคม เร่งศึกษาต้นทุนค่าโดยสารรถ บขส. หลังราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงต่ำสุดรอบ 6 ปี เตรียมเสนอ ครม. พรุ่งนี้ ต่ออายุรถเมล์ฟรีอีก 3 เดือน ส.ค.- ต.ค.นี้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้คณะทำงานที่มีนางพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานศึกษาสำรวจปัจจัยต้นทุนในเรื่องค่าโดยสารรถ บขส. หลังราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งที่สำคัญปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 23.69 บาท/ลิตร ต่ำสุดในรอบ 6 ปี โดยให้คณะทำงานฯศึกษาต้นทุนค่าโดยสารดังกล่าวภายในเวลาประมาณ 15 วันเพื่อจะชี้แจงแนวทางในการดูแลต่อไป
ส่วนกรณีที่มีผู้ประกอบการรถร่วมบริการ บขส. ไม่สามารถแบกรับต้นทุนเพิ่มได้ และอาจจะต้องปิดกิจการไปนั้น ได้มอบหมายให้นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปพิจารณาแล้ว ซึ่งกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะดูแลกิจการไม่ต้องให้ผู้ประกอบการขาดทุนในขณะเดียวกันจะต้องดูแลผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการด้วย
"ปีนี้จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยต้องนำปัจจัยตั้งแต่ราคาน้ำมันมีการปรับลดลง ซึ่งช่วงนั้นผู้ประกอบการรถร่วมฯ บขส.ได้มายื่นขอปรับขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งกระทรวงไม่ได้พิจารณาเนื่องจากเป็นช่วงราคาน้ำมันลง ในขณะที่ผู้ประกอบการยังลดค่าโดยสารลงไปตามราคาน้ำมันไม่ได้เพราะมีเหตุผลบางประการ เนื่องจากปัจจัยตัวเลขไม่ตรงกัน ตอนนี้ราคาน้ำมันลดลงอีก ดังนั้นจึงต้องเร่งศึกษาให้ได้ข้อสรุปและตัดสินใจ"พล.อ.อ.ประจินกล่าว
รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอต่ออายุมาตรการลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางของประชาชน (มาตรการรถไฟ รถเมล์ฟรี) ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ก.ค. 58 โดยจะเสนอเพื่อขอต่ออายุมาตรการออกอีก 3 เดือน ออกไปอีก 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-31 ต.ค. 58
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า การพิจารณาปรับค่าโดยสารต้องพิจารณาจากต้นทุนเฉลี่ยราคาน้ำมันตลอดทั้งเดือน เพราะราคาน้ำมันมีทั้งปรับขึ้นและลงสลับกันไป โดยไม่ได้มองที่ราคาน้ำมันที่ลดลงแล้วค่าโดยสารจะต้องลดลงตามทันที อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงเส้นทางเดินรถขสมก.และโครงสร้างอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับเส้นทางใหม่ โดยหลักการจะจัดสรรเส้นทางเดินรถไม่ให้ยาวมากเกินไป
เส้นทางใดที่วิ่งระยะทางยาว 20-30 กิโลเมตรในปัจจุบันซึ่งจะมีปัญหาเรื่องรถขาดระยะ จะแบ่งหรือทอนระยะให้สั้นลง เช่น ตัดเป็น 2 หรือ 3 ช่วง เป้าหมายเพื่อให้มีรถในสายนั้นๆ วิ่งให้บริการต่อเนื่องไม่ขาดระยะ ซึ่งกรณีการตัดระยะเป็นช่วงๆ อาจจะทำให้ผู้โดยสารที่เคยใช้บริการตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทางมีค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ ว่ามีเส้นทางใดบ้างและจะดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการได้อย่างไร
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย