- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Friday, 26 June 2015 11:12
- Hits: 3185
รมว.คมนาคม เผย EASA ไม่แบนสายการบินของไทยยังบินเข้ายุโรปได้ตามปกติ พร้อมส่งจนท.ช่วย
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (EASA) ประกาศผลกรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ติดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยนั้น สรุปว่า จะไม่มีการแบนเพิ่มเติมสายการบินของไทยจากปัจจุบัน หรือ No new ban have been impose in this update ซึ่งจะเข้าในกรณีที่ 1 จาก 2 กรณีที่กระทรวงคมนาคมและกรมการบินพลเรือน (บพ.)ได้เตรียมไว้ คือ ทาง EASA จะไม่มีมาตรการใดๆ เพิ่มเติม คือจะไม่มีการห้ามทำการบินเข้าประเทศกลุ่มอียูของสายการบินไทยเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่เป็นอยู่
"ความหมายของประกาศ EASA ว่า ไม่แบน คือไม่มีมาตรการเพิ่มเติมกับสายการบินของไทย คือ การบินปกติยังทำได้ตามเดิม ส่วนการที่สายการบินจะเพิ่มเที่ยวบินหรือเส้นทางบินใหม่ อยู่ที่การเจรจาแต่ละประเทศ"
โดย บพ.จะต้องเร่งแก้ปัญหาแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concern: SSC) เพื่อปลด SSC ให้ได้ตามแผนงานโดยเร็วที่สุด โดยเมื่อทราบผล EASA แล้ว ทางบพ. จะสรุปแผนงานการปรับปรุงคู่มือเพิ่มดำเนินการตรวจสอบสายการบิน (Re- certification)เสร็จและเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อกำกับดูแลได้ และเร่งรัดการตรวจสอบสายการบิน โดยจะมีการประสานงานทั้ง ICAO และ EASA
“สรุปถือเป็นข่าวปานกลาง ไม่เลวร้าย ไม่ดีจนเกินไป ส่วนกรณีที่ 2 คือ EASA จะส่งทีมเข้ามาขอทำการตรวจสอบ บพ.ด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินนั้น จะต้องดูท่าทีต่อไป แต่วันนี้ EASA ประกาศเป็นแนวทางที่ 1 ส่วนที่เป็นห่วง ว่าจะมีการเพิ่มรายชื่อแบนสายการบินไทยห้ามบินเข้าประเทศอียู ก็ไม่มีออกมา ดังนั้นการที่ EASA จะส่งทีมงานเข้ามาหลังจากนี้จะเป็นในรูปของการเข้ามาช่วยเหลือ บพ.มากกว่า"รมว.คมนาคมกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิ.ย. ทางสายการบินไทย ได้ไปชี้แจง EASA ซึ่งทาง EASA รับทราบแต่ไม่มีท่าทีใดๆ จากนั้นวันที่ 3-5 มิ.ย. คณะของบพ.ไปไปพบ EASA ซักถามประมาณ 3 ชม. โดยยืนยันว่าเข้าใจและไม่เพิ่มปัญหาให้ บพ. พร้อมทั้งยินดีส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยแก้ปัญหา โดยจะติดตามผล ICAO โดยจะไม่เพิ่มมาตรการใดๆ นอกเหนือจากแนวทางของ ICAO
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า หลังจากเมื่อมีประกาศ ICAO ว่า บพ.ติด SSC ทางผู้บริหารคมนาคมและบพ.ได้ออกเดินสายไปยังประเทศต่างๆ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ยุโรป และอเมริกา ซึ่งเข้าใจปัญหา ที่เกิดขึ้น และมั่นใจมาตรการด้านการบินของไทย ซึ่งที่ผ่านมาสายการบินของไทย ถูกสุ่มตรวจสอบ การปฏิบัติการบำรุงรักษาอากาศยานในลานจอด (Ramp Inspection) ถี่มากขึ้น ซึ่งไม่เจอปัญหาที่กระทบกับความปลอดภัยแต่อย่างใด ขณะนี้เหลือเพียงการตรวจสอบสายการบิน 28 แห่งตามคู่มือใหม่ที่เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO ให้เสร็จเร็วที่สุด
อินโฟเควสท์
รองอธิบดี บพ.เผย ICAO ขึ้นธงแดงไทยวันนี้หลังไม่เห็นชอบแผนแก้ปัญหา SSC
นายเสรี จิตต์โสภา รองอธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์" ว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ประกาศชื่อประเทศไทยมีสัญลักษณ์ธงแดงในวันนี้ 18 มิ.ย.58 ผ่านเว็บไซด์เป็นการแสดงว่าแผนแก้ไขข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ (SSC) ของไทยยังไม่ผ่านการรับรอง และ ICAO มีความเห็นว่าแผนของไทยยังเป็นไปไม่ได้ แต่การขึ้นสัญลักษณ์ดังกล่าวไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาใด ๆ ในการแก้ไข โดยอาจจะพิจารณาการแก้ไขเป็นขั้นตอนแต่ละระยะๆ หลังจาก ICAO พบข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ (SSC) เมื่อ ก.พ. 58 และขอให้ไทยส่งแผนแก้ไขให้พิจารณา
อย่างไรก็ตาม ทางไทยก็ไม่ได้นิ่งเฉย แต่จะยังเดินหน้าแก้ไขตามแผนที่วางไว้ และจะเสนอความคืบหน้าต่อ ICAO เป็นระยะเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบว่าได้ดำเนินการผ่านเรียบร้อยหรือไม่ โดยบ่ายวันนี้จะมีการหารือภายในกระทรวงคมนาคมเพื่อหาทางออกเรื่องนี้กันอีกคร้ง
"วันนี้ ประกาศผลการพิจารณาแผนการแก้ไขปัญหา SSC ของเรา แต่เขายกธงแดง เราก็รู้ว่าเขายังไม่โอเค เราก็มาดูว่าส่วนไหนบ้างที่ต้องแก้ไข เราก็ต้องเร่งทำ ระหว่างทางเขาก็จะมาตรวจ" นายเสรี กล่าว
ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่เจรจาที่นำโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ซึ่งได้เดินทางไปพบกับประธาน ICAO ที่สำนักงานใหญ่ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น และได้รายงานกลับมาในเบื้องต้นว่าทาง ICAO พอใจแผนของไทย โดยคณะดังกล่าวจะเดินทางกลับมาในวันพรุ่งนี้เช้า หลังจากนั้นคงจะทราบรายละเอียดทั้งหมดจากคณะดังกล่าว
นายเสรี กล่าวว่า งานแรกที่จะดำเนินการตามแผนคือการตรวจสอบกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ที่มีเส้นทางบินระหว่างประเทศ จำนวน 16 สายการบิน และการขนส่งสินค้า(Cargo)ของทุกสายการบินที่มีอยู่ 7 สายการบิน แต่ทางบพ.ได้ระงับไปเหลือ 2 สายการบิน คือ การบินไทย และ เคไมล์ ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จจะแจ้งไปยัง ICAO
ส่วนข้อกังวลจะมีผลต่อการทำการบินไปยังต่างประเทศนั้น นายเสรี คาดว่าเส้นทางบินในเอเชียจะไม่มีผลกระทบเพราะตั้งแต่ที่ ICAO ได้แจงปัญหา SSC ทางบพ.ได้ส่งผู้เขียวชาญจาก EASA (European Aviation Safety Agency) ของยุโรปเข้ามาช่วยเหลือและคำแนะนำ และได้มีการหารือกันบ้างแล้ว และทางกระทรวงคมนาคมได้มีการพูดคุยกับกรมการบินพลเรือนในประเทศเอเชีย สำคัญได้แก่ จีน(CAAC) ญี่ปุ่น(JCAB) เกาหลี ที่สายการบินของไทยมีเที่ยวบินไปยังประเทศเหล่านี้ ส่วนเส้นทางบินไปยุโรป ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมีเพียงสายการบินไทยที่บินตรงเข้ายุโรปเพียงรายเดียว
อินโฟเควสท์