- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 13 June 2015 19:40
- Hits: 2412
'อุ๋ย'ฟันธงสายสีส้มใช้แนวเดิมโวเดินหน้าทันทีจี้รฟม.แจงประชาชน
ไทยโพสต์ : ทำเนียบฯ * ‘ม.ร.ว.ปรีดิยาธร’เผย ที่ประชุม คจร.สรุปการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีส้ม ยึดแนวเส้นทางเดิม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระบุประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ พร้อมสั่ง รฟม.เร่งทำความเข้าใจ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เวลาเจรจาอีก 2 เดือน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการจัดการระบบการจราจรทางบก (คจร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คจร.มีมติเห็นชอบไม่เปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี เนื่องจากเส้นทางนี้ได้ทำการศึกษามานานแล้ว และผ่านการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งผ่านการทำประชาพิจารณ์หลายครั้งแล้ว
"การเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนแนวเส้นทางก็กระทบกับมวลชน แต่แนวเส้นทางเดิมผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ศูนย์วัฒนธรรม นั้นเป็นแนวเส้นทางที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารได้รับผลประโยชน์มาใช้บริการ เพราะผ่านย่านสำคัญ เช่น มหาวิทยาลัยหอการค้า และยังผ่านเส้นทางผู้โดยสารที่ยากจนกว่า แต่เส้นทางใหม่จะผ่านเส้นทางของเศรษฐี เปลี่ยนไม่ เปลี่ยนก็มีผลกระทบคนทั้งนั้น และที่สำคัญการตัดสินใจวันนี้จะทำให้การรถไฟขนส่งมวล ชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถเดินหน้าโครงการต่อได้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
สำหรับ มวลชนที่ยังคัด ค้านโครงการนั้น เป็นหน้าที่ รฟม.จะต้องไปทำความเข้าใจ ส่วนการเดินรถโครงการรถไฟ ฟ้าสายสีเขียว ทั้งด้านฝั่งใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และฝั่งเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม จะไปเจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งขอเวลาเจรจา 2 เดือน ซึ่งหากได้ข้อสรุปการเจรจาทาง รมว.คมนาคมจะรายงานเข้ามา และยืนยันว่าปัจจุบันการเดินหน้าระบบรางในเมืองยังเดินหน้าตาม กรอบที่รัฐบาลวางไว้
"ยอมรับว่า การรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชน (รฟม.) อาจจะเจรจาล่าช้ากับผู้ที่ได้รับผล กระทบในแนวเส้นทางที่มีการก่อสร้าง ซึ่งผู้ว่าฯ รฟม.จะเร่งดำเนินการทำความเข้าใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำ หรับแนวเส้นทางเดิมจากศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมดแล้ว หากที่ประชุมเลือกแนวเส้นทางนี้ก็สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดินหน้าได้ทันที โดยแนวเส้นทางนี้จะเชื่อมต่อกับช่วงที่ 2 จากศูนย์วัฒนธรรมจะผ่านพื้นที่ประชาสงเคราะห์ดินแดง-ประตูน้ำ-ตลิ่งชัน แต่หากเลือกแนวเส้นทางพระราม 9-มีนบุรี ต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน-1 ปี จึงจะแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีกลุ่มมวลชนที่อยู่อาศัยในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรี ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมน ตรี รวมถึงขอเข้าพบ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ให้ทบทวนการกลับมติบอร์ด ที่เสนอให้ย้ายแนวเส้นทางรถไฟ ฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีน บุรี จากตัดผ่านชุมชนประชา สงเคราะห์ เขตดินแดง มาใช้ถนนพระราม 9 แทน.
คจร.มีมติลุยรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้เส้นทางเดิมลดจราจรแออัด
แนวหน้า : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเกี่ยวกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มเส้นทางตลิ่งชัน-มีนบุรี ว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) มีมติจะใช้เส้นทางเดิมในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ตามแผนแม่บทเดิม เนื่องจากคณะกรรมการฯมองว่าการใช้เส้นทางตามแนวเส้นทางตัดผ่านชุมชนประชาสงค์เคราะห์จะสามารถลดปัญหาการจราจรที่แออัดได้มากตามแนวเส้นทางถนนพระราม 9 รวมถึงได้มีการประกาศล่วงหน้ามานานกว่า 10 ปี และได้ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) แล้ว
ซึ่งการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างผ่านชุมชนฯ จึงควรใช้ระยะเวลาต่อจากนี้ในการบริหารจัดการพื้นที่และจัดหาที่อยู่ใหม่ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินจำนวน 184 ครัวเรือนอย่างเหมาะสม และมองว่าไม่ว่าจะมีการสร้างเส้นทางผ่านแนวใดก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนเหมือนกัน ซึ่งตามเส้นทางเดิมจะช่วยเหลือคนยากจนและสร้างประโยชน์ต่อชุมชนได้มากกว่า เนื่องจากผ่านห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัยหอการค้า และโรงพยาบาล
ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มีข้อสรุปว่า ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งเจรจากับผู้ที่ได้รับผลกระทบในชุมชนประชาสงเคราะห์โดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้การก่อสร้างล่าช้ามากว่า 2 ปี และแม้ว่าเส้นทางพระราม 9 จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบเพียง 35 ครัวเรือน แต่ต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการด้านจราจรยากกว่าแนวเส้นประชาสงเคราะห์โดยจะมีการหาแนวทางการเยียวยาให้ได้มากที่สุด สำหรับแนวเส้นทางสายสีส้มเดิมนั้นได้ผ่านการพิจารณาก่อนปี 2548 และ ครม.ได้มีมติเห็นชอบในปี 2553 ซึ่งเมื่มีมติจาก คจร. ที่เห็นชอบให้กลับไปใช้แนวเส้นทางเดิม ทาง รฟม.จึงต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน
ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ ได้มีการมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไปเจรจากับกรุงเทพมหานครในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินโดยเร็วเพื่อการก่อสร้างไม่ล่าช้า โดยจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.58 และเส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่จะต้องเร่งการเจรจาเพื่อให้มีความรวดเร็วในการดำเนินการ