- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 06 June 2015 22:20
- Hits: 3634
ยกรถไฟฟ้าสีเหลือง-ชมพูให้เอกชน
บอร์ด"รฟม."เคาะเปิดสัมปทานหาที่ดีสุด ดำเนินการเอง100%รับภาระแทนรัฐบาล
บอร์ด รฟม.มีมติปรับรูปแบบก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวสายสีเหลือง-ชมพู เปิดสัมปทานให้เอกชนรายเดียวทำทั้งโครงการ ทั้งก่อสร้างระบบราง จัดหาขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง ชงคมนาคมเสนอขออนุมัติจาก ครม. เผยช่วยรับภาระความเสี่ยงแทนรัฐบาลทั้งหมด
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดครั้งล่าสุดเห็นชอบปรับแผนการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. ในรูปแบบพีพีพี เนต คอสต์ (PPP Net Cost) โดยให้สัมปทานเอกชนเข้ามารับภาระการลงทุน 100% ทั้งการก่อสร้างระบบราง จัดหาขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่ง รฟม.จะดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุน พ.ศ.2556 โดยจะสรุปรายละเอียดเสนอกระทรวงคมนาคมในสัปดาห์นี้ เพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป "ที่ประชุมได้เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียพบว่าแนวทางนี้มีความเหมาะสมกับระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล (รางเดี่ยว) เกิดผลดีในการบริหารจัดการในระยะยาว เนื่องจากเอกชนจะต้องเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงในการลงทุนแทนรัฐบาลและ รฟม." พล.อ.ยอดยุทธกล่าว
พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนประกวดราคาจะกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติและเทคนิคเป็นกรอบกว้างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เช่น ระบุความต้องการขนผู้โดยสารประมาณ 35,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง รวมถึงรูปแบบการให้บริการ การซ่อมบำรุง เพื่อคัดเลือกเอกชนที่มีข้อเสนอดีที่สุด เสนอมูลค่าการลงทุนต่ำที่สุด และมีข้อเสนอให้รัฐเข้าไปสนับสนุนน้อยที่สุด กำหนดอายุสัมปทานเบื้องต้นประมาณ 30 ปี
"รูปแบบจะเหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอสที่เอกชนลงทุนทั้งหมด ทั้งการก่อสร้างและรับสัมปทานเดินรถ เป็นการรับความเสี่ยงทั้งหมด วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.4-5.5 หมื่นล้านบาท แต่รัฐจะรับภาระค่าเวนคืน และข้อเสนอที่เอกชนขอให้รัฐให้เงินอุดหนุนได้ แต่รัฐจะกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม" พล.อ.ยอดยุทธกล่าว
พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ในส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาการจราจรในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยเฉพาะจะมีการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินและแยกเกษตรศาสตร์บนถนนพหลโยธินนั้น ขณะนี้มีการประสานกับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตำรวจจราจร เพื่อจัดทำแผนการจัดการจราจรในช่วงที่มีการก่อสร้าง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการจราจรน้อยที่สุดแล้ว ซึ่งตามแผนงานกำหนดรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินในเดือนกันยายน และรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรฯในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างปิดพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 2 ปี
วันที่ 05 มิถุนายน พ.ศ. 2558
รฟม.รื้อแบบรถไฟ'สีส้ม-ชมพู'เอกชนทำ 100%ลดเสี่ยงภาครัฐ
ไทยโพสต์ * บอร์ด รฟม.เห็นชอบปรับแบบลงทุนรถไฟฟ้าสาย สีชมพู-สีส้ม ให้เอกชนลงทุน 100% อ้างลดความเสี่ยงภาครัฐ มีระยะเวลาก่อสร้างเร็ว
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิ การประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบปรับแผนการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแครายมีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยให้สัมปทานเอกชนที่จะเข้ามารับภาระการลงทุน 100% ทั้งการก่อสร้างระบบราง จัดหาขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ รฟม.ดำเนินการตามขั้นตอน ของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และสรุปรายละเอียด เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมในสัปดาห์นี้ จากนั้นเสนอคณะรัฐ มนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
"ยืนยันว่า ที่ประชุมได้หารือกันอย่างกว้างขวางและเปรียบเทียบทั้งข้อดี-ข้อเสีย พบว่า แนวทางนี้มีความเหมาะสมกับระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล (รางเดี่ยว) เพราะทำให้รัฐบาลรับภาระความเสี่ยงน้อยที่สุด และแบกรับภาระการลงทุนน้อย ทำให้ระยะเวลาในการก่อสร้างเร็วขึ้น 6-12 เดือน และเกิดผลดีในการบริหารจัดการในระยะยาว เนื่องจากเอกชนจะต้องเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงในการลงทุนแทนรัฐบาลและ รฟม." พล.อ.ยอดยุทธ กล่าว
สำหรับ ขั้นตอนประกวดราคา จะกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติและเทคนิคเป็นกรอบ กว้างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เช่น ระบุความต้องการขนผู้โดยสารประมาณ 35,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทางการให้บริการ การซ่อมบำรุง เพื่อคัดเลือกเอกชนที่มีข้อเสนอดีที่สุด เสนอมูลค่าการลงทุนต่ำที่สุด และมีข้อเสนอให้รัฐเข้าไปสนับ สนุนน้อยที่สุด และกำหนดอายุสัมปทานเบื้องต้นประมาณ 30 ปี
"รูปแบบจะเหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอสที่เอกชนลงทุนทั้งหมด ทั้งการก่อสร้างและรับสัมปทานเดินรถ เป็นการรับความเสี่ยงทั้งหมด วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.4-5.5 หมื่นล้านบาท แต่รัฐจะรับภาระค่าเวนคืน และข้อเสนอที่เอกชนขอให้รัฐให้เงินอุดหนุนได้ แต่รัฐจะกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ส่วนเทคโนโลยีระบบโมโนเรลมีใช้หลายประเทศ เช่น ฉงชิ่ง ของจีน, ฮิตาชิ ของญี่ปุ่น, บอมบาร์ดิเอร์ ฝรั่งเศส, สโคมิ ของมาเลเซีย" ประธานบอร์ด รฟม.กล่าว