- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 13 May 2015 23:40
- Hits: 3727
'ประยุทธ์'เตรียมไปญี่ปุ่นก.ค.นี้ เซ็นสัญญาเขตศก.พิเศษทวาย
แนวหน้า : ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง นายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหลังเข้าเยี่ยมคารวะว่า เป็นการพูดคุยติดตามงานและได้ข้อสรุปว่าประเทศญี่ปุ่นจะร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยเป็นการลงทุนร่วมกันของ 3 ประเทศ คือไทย ญี่ปุ่น และเมียนมา ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในเดือนก.ค.นี้ นอกจากนี้ทางประเทศญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจในการร่วมสร้างรถไฟฟ้า 2 สายคือ สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เน้นเรื่องของการโดยสารโดยเป็นรถไฟไฮสปีด และ สายกาญจนบุรี-แหลมฉบัง เน้นในเรื่องการขนส่งสิ้นค้าและการโดยสาร ซึ่งหลังจากนี้จะมีการวางแผนเพื่อความชัดเจนต่อไป ทั้งนี้ตนอยากให้พูดถึงเรื่องรูปแบบจำลองการลงทุนก่อน เพราะเป็นการลงทุนที่สูง และโอกาสทำกำไรไม่ได้ง่าย โดยต้องวางแบบจำลองการลงทุนที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นชอบร่วมกัน โดยหลังจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อลงนามในสัญญาในหลักการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวถึงเรื่องโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย) 3 เส้นทาง ว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาในเรื่องของการจัดหาแหล่งลงทุนในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย โดยขณะนี้ยังคงไม่ได้ข้อสรุปว่าจะนำแหล่งลงทุนจากภาครัฐหรือภาคเอกชนมาลงทุน โดยจะมีการหารือข้อสรุปกันอีกในครั้งต่อไป
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่จะมีการโยกย้ายนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าจะย้าย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่มปลัดกระทรวงพลังงาน รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนกระทรวงอื่นๆนั้น ให้ทางรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆเป็นผู้เสนอเอง
หม่อมอุ๋ยเผยเตรียมลงนาม 3 ฝ่ายไทย-พม่า-ญี่ปุ่นพัฒนาโครงการทวายก.ค.นี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวภายหลังจากนายฮิโระ โตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเข้าพบว่า ทางการญี่ปุ่นยืนยันที่จะเข้าร่วมในโครงการทวาย ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือของทั้ง 3 ประเทศ ระหว่างไทย ญี่ปุ่น และเมียนมาร์ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปลงนามเซ็นสัญญาความร่วมมือในการพัฒนาโครงการทวายที่ญี่ปุ่นในเดือนก.ค.นี้ โดยทางการญี่ปุ่นพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ไทยและเมียนมาร์ได้ตกลงก่อนหน้า ในเรื่องของถนนที่เชื่อมระหว่างไทยกับเมียนมาร์ และแผนเงินกู้ระยะยาวที่ไทยให้ความช่วยเหลือกับเมียนมาร์
นอกจากนี้ ทางการญี่ปุ่นได้ยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สายแรก แหลมฉบัง-กรุงเทพ-กาญจนบุรี-พุน้ำร้อน ซึ่งเป็นแผนระยะยาวเพื่อขนส่งสินค้าและใช้โดยสาร ส่วนสายที่ 2 กรุงเทพ-เชียงใหม่ เน้นในเรื่องของการโดยสารโดยเป็นรถไฟไฮสปีด ซึ่งโครงการทั้ง 2 สายนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม จะเดินทางไปลงนามในหลักการของสัญญารถไฟฟ้าต่อไป
ทั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ต้องการให้ญี่ปุ่นไปคิดรูปแบบจำลองการลงทุนก่อนนำมาหารือในครั้งหาต่อไป
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยืนยันด้วยว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาในเรื่องของการจัดหาแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างมอร์เตอร์เวย์ 3 สาย เพียงแต่ในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะนำแหล่งลงทุนจากภาครัฐหรือเอกชนมาลงทุน เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเสนอว่าให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ในขณะที่กระทรวงการคลังมองว่ารัฐควรเป็นผู้ลงทุนเอง โดยจะต้องหาข้อสรุปต่อไป
ที่ปรึกษานายกฯญี่ปุ่นเข้าพบประยุทธ์หารือความร่วมมือรถไฟความเร็วสูง-โครงการทวาย-แก้ปัญหาการบิน
ร.อ.นพ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและสานต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่นที่สำคัญ ได้แก่ เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ โดยทางนายฮิโระโตะ อิซุมิ แจ้งว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และพร้อมจะนำประสบการณ์ การบริหารงาน และเทคโนโลยีญี่ปุ่นมาใช้ในการพัฒนา ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้เร่งดำเนินการ เนื่องจากได้มีการสำรวจและมีข้อมูลแล้ว ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงก็ได้รับทราบจากญี่ปุ่นว่า มีความคืบหน้าไปมากแล้ว
ส่วนการพัฒนาโครงการทวาย นายกรัฐมนตรียินดีที่ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการทวายด้วย และขอบคุณนายกรัฐมนตรีอาเบะและ JICA ที่ได้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว ซึ่งที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแจ้งว่า ฝ่ายญี่ปุ่นหวังว่าจะได้มีการลงนามในความตกลง 3 ฝ่าย ภายในเดือนกรกฎาคม และพร้อมจะร่วมลงทุนในแบบนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPA) ผ่าน JICA และ JBIC ทั้งนี้ทาง JICA ได้เตรียมผู้เชี่ยวชาญไว้เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่บรรยากาศการลงทุนของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาผู้เตรียมการให้ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรญี่ปุ่นเดินทางมาเยี่ยมชมสินค้าในไทย อาทิ อาหารไทย ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและตรงกับความต้องการของทั้งสองฝ่าย ส่วนสินค้าเกษตรและเนื้อสัตว์ ทั้สองฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งดำเนินการ และให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้านยางพารา ญี่ปุ่นเสนอให้มีความร่วมมือการวิจัยผ่านสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia - ERIA)
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังกล่าวว่า ก่อนการเดินทางมาไทยได้มีการหารือกับอธิบดีกรมการบินพลเรือนญี่ปุ่น โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือแนะนำไทยอย่างเต็มที่
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณที่ทางรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้ความสำคัญและตอบรับ ทำให้มีการดำเนินการในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมอบหมายให้หน่วยงานทั้งสองฝ่ายสานต่อเพื่อตกลงรูปแบบและรายละเอียดความร่วมมือให้ได้โดยเร็ว และให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ก่อนที่จะได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีอาเบะ ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม โดยใช้ช่องทางผ่านเอกอัครราชทูตและระหว่างกระทรวงของทั้งสองประเทศเพื่อความสะดวกในการประสานงาน
อนึ่ง นายฮิโระโตะ อิซุมิ เป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รับผิดชอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและวางแผนระบบสาธารณูปโภค การฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น และการส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ ตามแผนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
อินโฟเควสท์